ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#โบราณโมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองและความเชื่อมโยงกับ #เจ้าชายโมคคัลลานะ แห่งอาณาจักรสิงหล โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

“ ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอญ โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังโพธิ์มี เจ็ดเจดีย์เก้าทวาร สี่เลนจตุบาท ”

บทกลอนลายแทงเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาจากบรรพชนชาวโมคลาน และชาวนครทราบกันดี ได้บ่งบอกถึงความเก่าแก่ และความเป็นบ้านเมืองในยุคก่อนหน้าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งบริเวณชุมชนโมคลาน มีการศึกษา – ค้นคว้าสำรวจกันหลายครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญ คือ เมื่อครั้งที่ ศาสตราจารย์ลูฟส์ (H.H.E.Loofs) ได้มาสำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิม โมคลานคงจะเป็นชุมชนโบราณ ที่มีความเก่าแก่ถึงยุคอารยธรรมหินตั้ง ก่อนที่จะเป็นชุมชนพราหมณ์ ชุมชนพุทธศาสนานิกายมหายาน และ เป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาทในปัจจุบัน

การวิวัฒนาการสำคัญของโมคลาน คงจะเป็นช่วง พุทธศตวรรษ ที่ ๑๑ เป็นยุคที่โมคลานเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ โดยปรากฎทั้งเทวาลัยในลัทธิไศวะนิกายที่ยังคงเหลืออยู่ ร่องรอยการปักหินตั้งของศาสนพุทธนิกายมหายาน และร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่จำนวนมาก ในแถบโมคลานและที่ราบท่าศาลา ลุ่มน้ำคลองกลาย จนไปถึง โบราณสถานเขาคา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ล้วนปรากฎซากโบราณสถานเรียงรายต่อเนื่องไปไม่ขาดสาย โดยรากศัพท์ของคำว่า “ โมคลาน ” นั้น ได้มีการสันนิษฐานไว้ดังนี้

ศาสตราจารย์ ส. ประนะวิธาน นักประวัติศาสตร์ศรีลังกา ได้ค้นคว้าหลักฐานจากศิลาจารึก และบันทึกในศรีลังกาโบราณ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองตามพรลิงค์ในยุคโบราณ และ อาณาจักรสิงหล เมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ “ #เจ้าชายโมคคัลลานะ ” พระราชโอรสของ “ พระเจ้าธาตุเสนา ” แห่ง ราชวงศ์โมริยะได้หลบลี้ราชภัยจากการยึดราชบัลลังก์ของ “ เจ้าชายกัสสปะ ” พระอนุชาต่างพระมารดา ซึ่งได้ปราบดาภิเษกตนเป็นพระเจ้ากัสสปะ มายังบริเวณบ้านเมืองโมคลาน ภายใต้การคุมกันของมหาราชแห่งตามพรลิงค์ ต่อมา พระเจ้ากัสสปะ ได้ออกนโยบายเมืองท่าปลอดภาษี และ ใช้ทองคำทำเหรียญทองใช้ในการค้าขายแลกเปลี่ยน เพื่อนำรายได้ไปสร้างนครหลวงบนปราสาทลอยฟ้า ที่ สิกิริยา หรือ ปราการสิงหคีรี ทำให้ตามพรลิงค์ขาดดุลรายได้มหาศาล มหาราชแห่งตามพรลิงค์ จึงทรงสนับสนุนเจ้าชายโมคคัลลานะในการทวงสิทธิ์ในราชบัลลังก์คืน โดยระดมพลยกทัพเรือจากทั้งตามพรลิงค์ และ ปัลลวะ ไปปิดล้อมพระเจ้ากัสสปะ ที่สิกิริยา พระเจ้ากัสสปะทรงพ่ายแพ้ในสงคราม จึงกระทำอัตวินิบาตกรรม ทำให้เจ้าชายโมคคัลลานะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ เป็นพระเจ้าโมคัลลานะ และปกครองอาณาจักรสิงหลตราบจนสวรรคต จึงพอจะเป็นที่มาของ ชื่อบ้าน นามเมือง “ โมคลาน ” ที่มาจากเจ้าชายพระองค์หนึ่งจากศรีลังกา ที่หลบลี้ราชภัยมาซ่องสุมผู้คนเพื่อกอบกู้ราชบัลลังก์จากพระอนุชาผู้โหดเหี้ยม โดยได้สร้างบ้านเมืองเอาไว้ เสมือนการตอบแทนพระคุณที่ได้ให้ที่พักอาศัย

ส่วนแนวหินปักเป็นเขตศาสนสถานนั้น ศาสตราจารย์ ลูฟท์ ( H.H.E Loofs ) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ให้ความว่า มีความคล้ายคลึงกับโบราณสถานที่ เขตอะลอร์ รัฐมะละกา และ เขตกัวลาปิลาห์ รัฐเกรีแซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย คงจะพออนุมานได้ว่า โบราณสถานโมคลาน และ โบราณสถานทั้งสองในมาลาเซีย คงจะมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน และ ลวดลายเสาหินที่ขุดพบ อาจารย์ปรีชา นุ่นสุข ท่านได้มีความเห็น ว่าคล้ายคลึงกับลวดลายเทวสถานปรศุราเมศวร ที่เมือง ภูวเนศวร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเทวสถานในไศวะนิกาย จึงอาจพอเป็นไปได้ ว่าเทวาลัยพราหมณ์ที่โบราณสถานโมคคัลลาน อาจร่วมยุคสมัย หรือ ได้รับอิทธิพลศิลปะมาจากอินเดียโดยผ่านทางการติดต่อค้าขาย ลงหลักปักฐานของพราหมณ์ในอดีต

โบราณสถาน – โบราณวัตถุที่พบในวัดโมคลาน และ บริเวณใกล้เคียง สามารถชี้ชัด บ่งบอกได้ถึงความเก่าแก่ ที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ เก่าแก่ก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย มากไปด้วยโบราณวัตถุ ที่คาบเกี่ยวยุคสมัยสุวรรณภูมิ – ทวาราวดี สู่ยุคศรีวิชัย ก่อนจะร้างไปหลายร้อยปีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตอนปลาย ปิดฉากเมืองพราหมณ์ที่ยิ่งใหญ่ลง ทิ้งหลักฐานไว้ให้คนรุ่นหลังขบคิด ค้นคว้า ค้นหา “ เมืองแห่งเจ้าชายโมคคัลลานะ ” หัวเมืองใหญ่บนสันทรายเก่าแก่แห่งคาบสมุทรทองคำสืบไป