ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

บายศรี ตามความเข้าใจแล้ว คือเครื่องบูชาประเภทหนึ่ง ที่เปรียบได้กับเขาพระสุเมร เป็นที่สถิตของเทวดาและครูอาจารย์ทั้งปวง สำหรับในขนบโนราก็มีบายศรีอยู่เช่นกัน แต่บายศรีตามธรรมเนียมโนรา เป็นบายศรีที่คงรูปแบบตามโบราณกาล ที่บรรจุอาหารหวานคาวนานาชนิดในถ้วย เพื่อถวายสักการะแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

บายศรีในขนบโนรามีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทแรก เรียกกันว่า “ ถ้วยขวัญ ” คือ ถ้วยขนาดชามแกง ภายในใส่ริ้วบายศรี ๓ ริ้ว ปักเทียนเล่มใหญ่ไว้ตรงกลาง ภายในบรรจุข้าวปากหม้อ ข้าวเหนียวเหลือง ขนมโคขาว ขนมต้มแดง ถั่วตัดงาตัด ( บ้าน ๆ เรียกหนมถั่วหนมงา ) ขนมโคหัวล้าน ไข่ต้ม ปลาทูมีหัวหาง อ้อยควั่น กล้วยน้ำว้าหั่นท่อน หมากยน หมากพลูจีบ หรือ หมากม้วน ๓ คำ และมีแหวนมีหัว ๑ วง สวมไว้ที่เทียน การทำถ้วยขวัญ จะนิยมกันในพื้นที่ จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช แต่เมื่อขึ้นเหนือไปยังแถบสุราษฎร์ ฯ – ชุมพร บายศรีที่ใช้ในการไหว้ครูหมอ ก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปอีก คือ มีถ้วยขวัญใส่ยอดบายศรีนะ แต่ก็มีบายศรีที่เป็นรูปแบบเฉพาะแยกออกมา บายศรีในทางภาคใต้ตอนบน จะทำจากถ้วยเรียงซ้อนกัน ภายในใส่ขนมพอง ขนมลา ขนมโคขาว ขนมต้มแดง ฯลฯ

คล้ายกับของในถ้วยขวัญ เพียงแต่จะใช้ตัวบายศรีที่พับจากใบตองทุกชั้น ส่วนในทาง จ.สงขลา มีบางพื้นที่ ที่ใช้บายศรีในโรงครูโนราเช่นกัน เช่น ในแถบพื้นที่ทางตอนล่าง อ.นาทวี อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย ที่มีการทำบายศรีขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งไว้ที่เสาโรงหน้าพาไล บางพื้นที่ ก็ใช้บุหงาซีเระ หรือ บายศรีพลูประกอบในโรงครูโนราเลยก็มี

สำหรับบายศรีอีกประเภทในโนรา เรียกกันว่า “ บายศรีต้น ” โนราโรงครูตั้งแต่บางสะพานเรื่อยลงมาจนถึงภาคใต้ตอนกลางจะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำโนราโรงครู บายศรีต้นของโนรา ทำจากต้นกล้วยพังลา หรือ กล้วยตานี ปักตัวบายศรีพับจากใบตองเป็นชั้น ๆ แต่ละพื้นที่ปักชั้นบายศรีแตกต่างกัน บางที่ใช้แค่ห้าชั้น บางที่ใช้แค่เจ็ดชั้น บางที่เต็มสูตร ใช้เก้าชั้น หรือ สิบสองชั้นก็มี ในส่วนของยอดบนสุดของบายศรีต้น ก็เป็นถ้วยขวัญอยู่เช่นเดิม

การพับบายศรีของลูกหลานครูหมอโนรา โดยส่วนมากจะเรียนรู้กันจากรุ่นสู่รุ่น จากแม่เฒ่าสู่แม่ จากแม่สู่ลูก จากลูกไปหลาน อาจจะดูแล้วไม่ประณีตเหมือนบายศรียุคใหม่ ดอกไม้ที่ทำบายศรีก็เป็นดอกดาวเรืองบ้าน ดอกกุนหยี ( บ้านผู้เขียนเรียกดอกสามเดือน ) เป็นดอกไม้หลักของบายศรี แต่ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว โนรา ยิ่งเรียบง่ายเท่าไหร่ ยิ่งบ้าน ๆ เท่าใด จะยิ่งขลังขึ้นเท่านั้น ไม่เชื่อท่านก็ลองเทียบระหว่างบายศรีที่คนบ้าน ๆ ทำ กับบายศรีสมัยใหม่ดู ท่านจะเห็นความเป็นวิถีที่มีเรื่องราวอย่างชัดเจน