ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช มหาราชพงษาสุระ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ก่อนล่มสลายไปด้วยภัยแห่งโรคห่า

ตอนที่ ๒๐ มหาราชพงษาสุระ พระอาทิตย์อัศดงที่ศิริธรรมนคร (จากหนังสือ ลำดับราชวงศ์ สุวรรณภูมิ-ศรีวิชัย โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์)

หลังการสวรรคตของมหาราชจันทรภาณุ พระอนุชาของพระองค์ที่มีพระนามว่า “ พงษาสุระ ” ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ท่ามกลางความเสื่อมสลายของบ้านเมือง ศรีวิชัยในตอนสุดท้ายนี้ ได้เปรียบประหนึ่งราชสีห์ที่ชราและบาดเจ็ด อยู่ท่ามกลางสัตว์ร้ายที่หนุ่มเต็มกำลัง ด้วยสภาวะบ้านเมืองที่ถดถอย จึงทำให้หัวเมืองที่ห่างไกล “ ค่อย ๆ ” เอาใจออกห่าง บ้างก็ประกาศตัวเป็นอิสระ บ้างก็ส่งบรรณาการตามนึกชอบ

หลังจากที่ศรีวิชัยสูญเสียสิงหลให้กับราชวงศ์ศิริสังฆโพธิ ที่มีสำนักมหาวิหารคอยหนุนหลังแล้ว พระเจ้าปรากรมพาหุ พร้อมพระเถระในฝ่ายมหาวิหารได้เข้าชำระล้างฝ่ายอภัยคีรีวิหาร บีบบังคับให้ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร “ ยอมแพ้ ” และ “ ยอมสวามิภักดิ์ ” แก่ฝ่ายมหาวิหาร ที่ตอนนี้กลายเป็นขั้วอำนาจเต็มในสิงหล ดินแดนสุดท้ายที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ชัยชนะได้ตกแก่ฝ่ายเถรวาท ทำให้พระภิกษุในนิกายเถรวาทจากลังกาเดินทางมายังดินแดนต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิ ทางตะวันตกได้ผ่านอาณาจักรหงสาวดีเป็นหลัก ส่วนในทางตะวันออก กลุ่มภิกษุเถรวาทจากสิงหลได้ผ่านศิริธรรมนคร ขึ้นไปยังดินแดนต่าง ๆ ในราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการเผยแผ่ของพระภิกษุนิกายเถรวาทนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะพราหมณ์เจ้าถิ่นเองก็สนับสนุน ใช้พระภิกษุเถรวาทไปจัดการล้มล้างอิทธิพลของนักบวชวัชรยานให้หมดสิ้น ดังที่เห็นได้จากร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในอาณาจักรพระนคร ที่มีการทำลายล้างศาสนสถานในนิกายวัชรยานอย่างราบคาบ

บ้านเมืองศรีวิชัยในยุคสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพงษาสุระ เป็นยุคที่ต้องการ การฟื้นฟูอย่างหนักหลังจากที่ศรีวิชัยพ่ายแพ้ยุทธนาวีที่สิงหลถึงสองครั้ง การศาสนา ได้เกิดการผสมผสานระหว่างพระภิกษุในนิกายดั้งเดิม และนิกายที่มาจากต่างถิ่น จนกระทั่งพัฒนาเป็นระบบ “ พระครูสี่กา ” ขึ้นมาเพื่อดูแลพระมหาสถูปยอดทองในแต่ละทิศ หลังจากที่มหาราชพงษาสุระสามารถจัดการความวุ่นวายทางศาสนาลงได้ พระองค์ก็ต้องเผชิญกับภัยความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า เมื่ออาณาจักรเดคีรีทางใต้ ได้กลายเป็นอาณาจักรสิงหัสส่าหรี นำโดยพระเจ้าเกียรตินคร หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “ อิเหนามิสาระปันหยี ” ได้ยกทัพชาวชวาเข้าทำสงครามกับหัวเมืองมลายูทางตอนเหนือ และความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปยังดินแดนบนคาบสมุทรแหลมทอง จนกระทั่งทางราชสำนักศรีวิชัยต้องส่งพระราชสาสน์ไปยังราชสำนักหยวนที่กรุงเป่ยจิ่ง พระจักรพรรดิแห่งมองโกลได้ส่งพระราชโองการให้ประเทศในมลายู และ หัวเมืองศรีวิชัยหยุดวิวาทกัน ซึ่งไม่มีความขัดแย้งภายในอาณาจักรครั้งใด จะต้องไปพึ่งพา “ ผู้มีอำนาจภายนอก ” มายุติความขัดแย้งเลยสักครั้ง

ความขัดแย้งระหว่างศรีวิชัย – สิงหัสส่าหรีครั้งนี้ มีบันทึกในตำนานพื้นเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวว่า “ พญาชวา ” ได้ยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้ทำอุบายจับกุมตัวพระเจ้าพงษาสุระ ให้พระอัครมเหสีมาไถ่ตัวและได้เรียกส่วยไข่เป็ด และทรัพย์สินอื่น ๆ เป็นเครื่องบรรณาการอยู่นานถึง ๑๕ ปี จนบังเกิดมีขุนพลหนุ่มพื้นเมืองนามว่า “ พังพะการ ” ขึ้นมาช่วยกอบกู้บ้านเมืองจากชวา จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราช และอาณาจักรทั้งหมดรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นอีกครั้ง

ผลจากสงครามระหว่างชวา และ ศรีวิชัยได้ส่งผลให้หัวเมืองในทางปลายคาบสมุทรเริ่มอยากเป็นอิสระ หลายเมืองจึงประกาศตนไม่ขึ้นต่อศิริธรรมนครอีกต่อไป แต่ยังมีอยู่บางเมืองที่ขึ้นต่อศิริธรรมนครอยู่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตอนปลาย ถึง พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตอนต้น โลกได้บังเกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ เมื่อผลพวงจากการพิชิตโลกของราชวงศ์หยวนได้นำมาซึ่งการเชื่อมเส้นทางระหว่างผู้คนจากตะวันออกและตะวันตก พระจักรพรรดิจากดินแดนทุ่งหญ้าได้รวบรวมเอานักปราชญ์ และนายช่างผู้เชี่ยวชาญจากอาณาจักรต่าง ๆ ที่พระองค์พิชิตได้มารวมกันในราชสำนัก ให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาการช่วยกันพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับเดินทาง เช่น เข็มทิศ เรือเดินทะเล อาวุธต่อสู้ ดินระเบิด และการค้าขาย จนทำให้พ่อค้าจากต้าหยวนสามารถเดินทะเลได้ยาวนานขึ้น สามารถล่องเรือทางไกลได้นานขึ้น และเดินทางไปยังเมืองท่าต่าง ๆ ได้โดยไม่ผ่านตัวกลางอีกต่อไป ส่งผลให้ตลาดการค้าของศรีวิชัยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขาดการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งส่งผลให้การค้าขายของศรีวิชัยในยุคของมหาราชพงษาสุระลดลง แม้ว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระองค์สุดท้ายจะทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ แต่เพราะราชสำนักของศรีวิชัย ในราชวงศ์ปทุมวงศ์ได้ สาละวนอยู่กับความขัดแย้งในหมู่พระญาติ และ สนใจในทางพระศาสนาจนขาดความใส่ใจในเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลกภายนอก

สงครามที่จักรวรรดิมองโกลได้ก่อไว้ให้กำเนิดโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนทีละมาก ๆ เป็นที่รู้จักกันในนาม “ กาฬโรค ” โรคระบาดที่มีหนูเป็นพาหะ ได้ระบาดในทวีปยุโรปจนกลายเป็นยุคมืด และในช่วงเวลาเดียวกัน ในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง หลายอาณาจักรกลับประสบกับโรคระบาดที่เรียกกันว่า “ ไข้ห่า ” ที่มีอานุภาพรุนแรงทำให้ผู้คนล้มตายส่งผลให้เมืองร้างลงในระยะเวลารวดเร็ว ในบันทึกตำนานพื้นเมืองนครศรีธรรมราช ได้บันทึกถึงจุดจบของอาณาจักรศรีวิชัยว่าถูกโรคระบาดที่เรียกกันว่า “ ไข้ยมบน ” ระบาดในระยะเวลารวดเร็ว ผู้คนในราชสำนักต่างลงเรือเพื่ออพยพหลบหนี แต่ไม่สามารถหนีโรคระบาดพ้นถึงแก่กาลเสียชีวิตหมดสิ้น ส่วนพระเจ้าพงษาสุระนั้น ตำนานพื้นเมืองได้ระบุว่าพระองค์ทรงหลบหนีไปอาศัยยังเทือกเขาทางตะวันตกจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั้น พลเมืองส่วนใหญ่ของพระองค์สูญเสียไปจากโรคภัย ในครั้งนี้ จึงทำให้พระองค์ไม่สามารถฟื้นฟูบ้านเมืองของพระองค์ได้อีกเลย และศรีวิชัยที่ประสบผลจากโรคระบาดในทั่วทุกเมืองท่า ก็ไม่สามารถฟื้นบ้านคืนเมืองได้ เนื่องจากความร้ายแรงของกาฬโรค ที่สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนจนยากจะกลับมายังถิ่นฐานเดิมได้

ในระหว่างที่โรคระบาดยังคงแพร่กระจายในดินแดนคาบสมุทรสยามนี้ คาดว่าความร้ายแรงของโรคคงจะกินเวลาหลายปีกว่าจะสงบ และในระยะเวลานั้นเอง ได้คาดว่าพระเจ้าพงษาสุระคงจะสวรรคตลง ไม่สามารถหารัชทายาทสืบทอดบัลลังก์ และขาดกำลังคนในการฟื้นฟูอาณาจักร จึงทำให้ศรีวิชัยต้องล่มสลายลงไปตลอดกาล

สาเหตุสำคัญของการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัยในยุคตอนปลายนั้น เท่าที่ผู้เขียนสามารถจับประเด็นได้โดยหลัก ๆ แล้ว มีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการ คือ

๑. เพราะขาดความสนใจเหตุการณ์ของโลกภายนอก นี่เป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของอาณาจักรทะเลใต้ ที่ไม่ใส่ใจต่อสถานการณ์ความเป็นไปของโลกภายนอก ส่งผลให้ไม่สามารถวิเคราะห์ความต้องการ และสนองความต้องการสินค้าของโลก

๒. ไม่สามารถควบคุมความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติได้ ถึงแม้ว่าอาณาจักรรอบข้างศรีวิชัยจะล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น แต่ศรีวิชัยกลับไม่สามารถควบคุม หรือ ห้ามปราบได้ จนในที่สุดอาณาจักรเหล่านั้นจึงพากันวิวาทเพื่อแย่งชิงสิทธิ์ของความเป็นเจ้าแห่งน่านน้ำมหาสมุทร เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบกับการค้าขาย

๓. เพราะรูปแบบการปกครองที่ใช้ระบบราชาธิบดี หรือ ระบบพระอินทร์ กล่าวคือ มหาราช ผู้ปกครองสูงสุดของศรีวิชัย มาจากการคัดเลือกของพระราชาหัวเมืองต่าง ๆ ภายในอาณาจักร จึงทำให้ “ ความภักดี ” และการควบคุมด้วยพระราชอำนาจของมหาราชทำได้ไม่เต็มที่เหมือนระบบราชาธิปไตยสมบูรณ์ ถ้ามหาราชพระองค์ใดมีพระราชอำนาจเข้มแข็ง ก็สามารถบังคับใช้พระราชอำนาจได้เต็มที่ แต่ถ้ามหาราชพระองค์ใดทรงอ่อนแอ ทำให้พระราชาที่ไม่พอพระทัยจะแสดงการแบ่งแยกทันที