ที่มา : https://nakhonsistation.com/…
ผู้เขียน : ธีรยุทธ บัวทอง
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

อ่านต่อได้ที่ https://nakhonsistation.com/ใครแต่ง-ตำนานพระธาตุเม/