ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

อีกครั้งกับ ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช

เรื่องพงศาวดารและบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของนครศรีธรรมราช โดยเริ่มที่พงศาวดารที่พระคุณเจ้า พระครูเหมเจติยาภิบาล ซึ่งผมมักจะใช้คำว่า พระคุณเจ้า ผู้ปิดทองหลังความรู้ เป็นจุดเริ่มในการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในพงศาวดาร เพราะเท่าที่ผมสังเกตเรื่องราวประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราชที่หลายท่านนำมาเขียน นำมาบรรยาย นำมาอ้างอิง กันหลาย ๆ ท่าน ผมเชื่อว่าเบื้องต้น มาจากเรื่องราวที่พระคุณเจ้าได้ใช้ความเพียรความวิริยะในการแปล ซึ่งมาจากโครงการ ปริวรรตเอกสารปฐมภูมิประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช และเพียรเสาะหาเอกสารเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ มาเป็นเวลานาน ดั่งคำที่พระคุณเจ้าบอกกระผมว่า “ ท่านเป็นคนนครศรีธรรมราชท่านอยากนำเรื่องประวัติศาสตร์เมืองบ้านเกิดท่านให้คนนครได้อ่านกัน และได้ช่วยกันหาหลักฐานมาเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับภารกิจนี้กันทุกคน สิ่งที่อาตมาทำไม่เคยหวง อยากให้เผยแพร่ ทุกคนเอาไปอ่านและศึกษาต่อยอดกันได้ เพียงแต่ควรอ้างอิงเลขที่เอกสารและแหล่งเก็บเอกสารต้นฉบับ” มีจุดประสงค์เพื่อคืนมรดกความทรงจำที่ถูกเก็บรักษาไว้ใน หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรีสู่สาธารณะ ทั้งนี้เพื่อจุดประกายความสนใจและสร้างบรรยากาศของการค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ โดยความคิดเห็นส่วนตัวที่ได้อ่านและศึกษา งานของพระคุณเจ้า ผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นในการให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายที่สุด และเราต้องเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกที่เม็ดอันนี้ ซึ่งหากเราได้วางหลักและแนวทางที่ดี โดยเริ่มที่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการค้นหาประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ไม่ไปยึดถือหลักวิชาการจนขาดความหลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูล เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีความภาคภูมิใจกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ จะเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ลงตัว แต่หากมองว่าเรื่องของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวเฉพาะกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ เราก็ต้องกลับไปเริ่มใหม่ในการจัดทำเพราะสุดท้ายจะไปจบตรงที่ประชาชนไม่ยอมรับ เปรียบเสมือนการยกข้าวลงจากเตาในขณะที่มันยังไม่สุก มองเห็นเป็นข้าว แต่กินไม่ได้สุดท้ายเราก็ต้องทิ้งไปอีกครา

ด้วยความเคารพ
ภูมิ จิระเดชวงศ์

พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน ๒๕ รายการ ที่พระคุณเจ้า พระครูเหมเจติยาภิบาล ได้รวบรวมและแปลไว้ให้ศึกษา

๑. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑ (เดิม เลขที่ ๖๐)
สมุดไทยขาว อักษรเส้นหมึก
ขนาด กว้าง ๑๒.๕๐ ซม. ยาว ๓๘.๐๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๒๔ หน้าพับ
สภาพเล่ม หน้าปกมีรอยปรุและขอบเล่มมีรอยกร่อน
ที่มา หอสมุดซื้อจากนายวิลเลี่ยม เจ. เกดนี่ เมื่อวันที่ ๙ ต.ค. ๒๔๙๖
ผู้จารหนังสือ พระครุกาเดิมวัดเสมาเมือง ตามบันทึกที่พระศิริธรรมบริรักษ์คัดจากสมุดข่อยของนายช้วย ผู้ใหญ่บ้านทุ่งเจือง จันดี เมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ร.ศ. ๑๒๐
จุดประสงค์เพื่อสำหรับศาลากลางนครศรี ฯ
เนื้อความย่อ พุทธศักราช ๑๕๓๕ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างพระเจดีย์สรวมองค์พระธาตุ นครศรีธรรมราชหาดทรายแก้วศิริวัตติมหานคร สร้างวัดท่าช้างพระอารามหลวงและวัดบริวารอีก ๙ วัด

๒. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๒ (เดิม เลขที่ ๓๖)
สมุดไทยดำเส้นดินสอเปลือกหอย
ขนาด กว้าง ๑๑.๐๐ ซม. ยาว ๓๕.๐๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๘๓ หน้าพับ
สภาพเล่ม มีข้อความลบเลือนในบางหน้า มีรอยปรุเล็กน้อย
ที่มา หอสมุดวชิรญาน ได้มาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙
เนื้อความย่อ เริ่มต้นข้อความ ผ้าขาวอริยพงศ์จอดเรือที่ปากน้ำพระยาได้พบพระเจดีย์และพระอาราม เนื้อความเหมือนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์มีต่างกันเล็กน้อย ท้ายข้อความมีศักราชการครองเมืองตรงกัน , มีเรื่องการตีเมืองทวายต่อท้ายแต่ไม่จบเรื่อง

๓. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๓ (เดิม เลขที่ ๓๖ ค)
สมุดไทยขาว ตัวอักษรไทยย่อ ตัวเส้นหมึก
ขนาด กว้าง ๑๒.๐๐ ซม. ยาว ๓๙.๐๐ ซม. หนา ๑.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๓๘ หน้าพับ
สภาพเล่ม มีรอยปรุทะลุถึงด้านหลังจำนวน ๒ จุด ขอบเล่มมีรอยกร่อน
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพเป็นผู้มอบให้
เนื้อความย่อ เรื่องการจัดสรรที่กัลปนาในเมืองนครและการซ่อมแซมเมืองพัทลุงภายหลังศึกอุชงคนะเข้ามาทำลายเมือง , มีตำนานหลวงปู่ทวดต่อท้ายเล่ม

๔. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๔ (เดิม เลขที่ ๓๖ ฆ)
สมุดไทยขาวตัวเส้นหมึก
ขนาด กว้าง ๑๒.๐๐ ซม. คูณ ๓๖.๕๐ ซม. หนา ๒.๕๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๓๙ หน้า
สภาพเล่ม ปกหน้ามีรอยปรุเล็กน้อย ภายในมีรอยปรุอยู่บางหน้า
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานให้
มีเนื้อความสำคัญสามตอน ตอนต้นเป็นเรื่องไตรภูมิ ตอนกลางเป็นพงศาวดารพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างพระบรมธาตุในปีพุทธศักราช ๑๕๓๕ รวมทั้งการสร้างวัดท่าช้างพระอารามหลวง ตอนปลายเล่มมีภาพเขียนรูปเทวดาและยักษ์ลายเส้นพื้นบ้าน ได้ทำการคัดสำเนามาเฉพาะส่วนที่เป็นพงศาวดาร(ปริวรรตและวิเคราะห์แล้วโดยอาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก)

๕. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๕ (เดิม เลขที่ ๓๖ จ)
สมุดไทยขาวตัวอักษรไทยย่อ เส้นหมึกดำ (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่บางส่วนในชื่อ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช)
ขนาด กว้าง ๑๒.๕๐ ซม. ยาว ๓๗.๓๐ ซม. หนา ๒.๕๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๘๓ หน้าพับ
สภาพเล่ม ชำรุดปกหน้าและปกหลังมีข้อความลบเลือน
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานให้
ต้นข้อความ แลพญาศรีธรรมโศกก็ว่าแก่ท้าวอู่ทอง… ท้ายสุดข้อความ … ขุนหมื่นนาย…
เนื้อความย่อ พระนางเหมชาลาและเจ้าทนณกุมารนำพระธาตุไปลังกาแล้วเรือแตก เดินฝ่าดงพงไพรมาพบหาดทรายแก้ว, ลำดับเรื่องราวการมาสร้างเมืองของพระนรปติราชาจากเมืองหงสาวดี การเข้ามาฟื้นฟูเมืองนครดอนพระของพระพนมวัง , การว่าราชการ ณ เมืองท่าทองและการกำหนดเบี้ยส่วยในแต่ละพื้นที่ (ได้ทำการปริวรรตทั้งเล่มและวิเคราะห์แล้ว แต่เนื่องจากเนื้อหาไม่ต่อเนื่องกันตามลำดับศักราชเพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวตามที่นึกได้ ในการปริวรรตได้เรียงลำดับเนื้อหาใหม่ตามแบบที่กรมศิลปากรปริวรรตไว้แล้ว)

๖. ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๔
สมุดไทยดำเส้นดินสอเปลือกหอย
ขนาด กว้าง ๑๑.๕๐ ซม. ยาว ๓๕.๐๐ ซม. หนา ๒.๔๕ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๕๗ หน้าพับ
สภาพเล่ม สมบูรณ์มีตัวอักษรลบเลือนในบางหน้า
ที่มา พระประมวลธนรัตน์(ผูก) เป็นผู้มอบให้เมื่อ ๓๑ พ.ค. ๒๔๖๐
ต้นข้อความ อาทิต้นเดิมยังมีเมืองหลวงชื่อคันธบุรี แลพระยาผู้เสวยราชย์นั้นชื่อท้าวโกษิราช……ท้ายข้อความ ไว้แก่นางกองนางธาตุผู้เมียศรีมหาราชอันตาย ศรีมหาราชาขอนางสังมาเปนเมีย
เนื้อความย่อ คล้ายกับตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช ฉบับพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีเนื้อความต่างบ้างเล็กน้อยในรายละเอียดแต่ขาดลำดับศักราชการครองเมืองในตอนท้ายเรื่อง)

๗. ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๕
สมุดไทยขาวเส้นหมึกดำ
ขนาด กว้าง ๑๒.๐๐ ซม. ยาว ๓๕.๕๐ ซม. หนา ๑.๗๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๗๗ หน้าพับ
สภาพเล่ม มีรอยผุกร่อนในตอนท้ายเล่ม ภายในเล่มมีรอยปรุ
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานให้
เนื้อความย่อ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศักราช ๒๑๘ จุลศักราช ๗๕ ปีชวด สำมฤทธิศก พญาเจตราชมาจากเมืองกาญบุรียมหานครหนีไข้ยุบลมาพร้อมพญาพงกระสัตรมาตั้งที่โคกชวาปราบ , เมื่อศักราชได้ ๑๘๑๓ นายสามจอมกับศรีมหาราชาทำการวัดภูมิสีสัต , มีแผนที่แสดงตำแหน่งภูมิสีสัต (กัลปนา)

๘. ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๖
สมุดไทยขาวตัวเส้นหมึก
ขนาด กว้าง ๑๒.๕๐ ซม. ยาว ๓๕.๕๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๕๑ หน้าพับ
สภาพเล่ม สมบูรณ์
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานให้ พ.ศ. ๒๔๕๙
เนื้อความย่อ การวัดขนาดส่วนสูงเจดีย์พระบรมธาตุและจำนวนพระพุทธรูป , คำประกาศเรื่องให้เรียกพระนามรัชกาลที่ ๑ ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๒ ว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาในวันอาทิตย์ เดือนห้า ปีระกา เอกศก ,วันจันทร์แรม ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลู เบญจศก ให้พระสังฆราชวัดหน้าพระลานบันทึกพระราชพิธีตรุษสำหรับเมืองนครศรีธรรมราชส่งถวายสมเด็จพระสังฆราชวัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆังโฆษิตาราม

๙. ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๗
สมุดไทยขาว อักษรไทยย่อ เส้นหมึกดำ
ขนาด กว้าง ๑๒.๕๐ ซม. ยาว ๓๗.๕๐ ซม. หนา ๐.๗๐ ซม.จำนวนหน้าที่มีอักษร ๔๗ หน้าพับ
สภาพเล่ม ไม่มีปกหน้า กรอบเล่มผุกร่อน
ที่มา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานให้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙
เนื้อความย่อ เดิมนายคำหัวพยาบาลมาเป็นชำนาญในมหาศํกราช ๑๘๐๐ คิดด้วยหมู่สงฆ์หัวปากหัวพันทำพระระเบียงทั้งสี่ด้าน (เนื้อหาการจัดแบ่งพื้นที่มีรายละเอียดมากกว่าเล่มอื่น)

๑๐. ตำนานเรื่อง พระบวรศรีรัตนมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๘
สมุดไทยดำเส้นหรดาล
ขนาด กว้าง ๑๑.๕๐ ซม. ยาว ๓๕.๐๐ ซม. หนา ๐.๘๐ ซม.จำนวนหน้าที่มีอักษร ๖ หน้าพับ
สภาพเล่ม สมบูรณ์มีรอยปรุเล็กน้อย
ที่มา กองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มอบให้ เมื่อวันที่ ๕ ต.ค. ๒๔๗๙
เนื้อความย่อ เดิมนายคำหัวปากพยาบาลมาเป็นชำนาญในมหาศักราช ๑๘๐๐ ปีมะเส็ง อัฎฐศก ในวันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ชักเชือกมาพระระเบียงและพระห้องทั้งสี่ด้าน , เมื่อศักราช ๑๘๔๐ ปีมะเส็ง นายสามจอมราชหงส์ออกมาทำสารบาญชีที่ภูมิสีสัต , มีนายบูหนันตรวังสาไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุธยาขณะไปติดทัพเชียงใหม่

๑๑. แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๓
สมุดไทยขาว
ขนาด กว้าง ๑๒.๗๐ ซม. คูณ ๓๙.๐๐ ซม. หนา ๔.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๓๖ หน้า
สภาพเล่ม กรอบเล่มมีรอยกร่อนและมีรอยปรุในบางหน้าทะลุถึงหลังเล่ม
ที่มา สมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาน
เนื้อความย่อ วันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นหกค่ำ ปีจอนักษํตร โทศก ศักราช ๙๗๗ สมเด็จพระสังฆราชเมืองนครศรีธรรมราชสั่งการให้พระครูหัวเมืองพัทลุงทำแผนที่กัลปนาวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และที่กัลปนาวัดอื่น ๆ รอบทะเลสาบสงขลา (กำลังปริวรรตและวิเคราะห์โดยนายสุรเชษฎ์ แก้วสกุล)

๑๒. แผนที่วิหารหลวงเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๙๔
สมุดไทยดำ เส้นดินสอเปลือกหอย
ขนาด กว้าง ๑๒.๐๐ ซม. ยาว ๓๕.๕๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๖๐ หน้า
สภาพเล่ม สมบูรณ์
ที่มา กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๒๔๘๒ เป็นผู้มอบให้ ได้ทำการคัดสำเนาแล้ว
เนื้อความ แผนผังแสดงที่กัลปนาตั้งแต่เขตตำบลท่าวังจนถึงตำบลท่าเรือ รวมทั้งเขตพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่

๑๓. แผนผังเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑๖๔
สมุดไทยขาว ตัวอักษรไทยย่อเส้นหมึกดำ
ขนาด กว้าง ๑๒.๕๐ ซม. ยาว ๑๖.๘๐ ซม. หนา ๑.๘๒ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๔๙ หน้า
สภาพเล่ม มีร่องรอยผุกร่อนที่มุมเล่ม
ที่มา สมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาน
เนื้อความย่อ พระโชติบาล ตำบลนา ปรญามตวรครัน…มีแผนผังแสดงตำแหน่งพื้นที่กัลปนาชัดเจนตั้งแต่บริเวณท่ามอญถึงที่พิเชียร ข้อความบรรทัดสุดท้าย คุนเกา ๒ เส้นไปยเอ้าโคกโพเตียร ๒ เล้นไปยเอ้าโพสามพอร ๒ เล้นไปยเอ้านาคลอง….

๑๔. ตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังว่าไว้ เลขที่ ๖๗๐
สมุดไทยขาวมีอักษรขอมผสมอยู่ด้วยในบางหน้า เส้นหมึกดำ (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)
ขนาด กว้าง ๑๑.๐๐ ซม. ยาว ๓๕.๐๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๐๗ หน้า
สภาพเล่ม ปกหน้ามีสภาพผุกร่อนเล็กน้อย
ที่มา สมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาน
เนื้อความย่อ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปรึกษากับข้าราชการประจำเมืองเรื่องการซ่อมแซมจวนเจ้าเมืองและกำแพงเมือง , เรื่องการทำพิธีตรุษเมืองนครศรีธรรมราชตามบันทึกของสมเด็จพระสังฆราชวัดหน้าพระลาน

๑๕. นิราศปักษ์ใต้ เลขที่ ๓ ก
สมุดไทยดำ ตัวอักษรเส้นหรดาล (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)
ขนาด กว้าง ๑๑.๕๐ ซม. ยาว ๓๕.๕๐ ซม. หนา ๓.๕๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร
สภาพเล่ม สมบูรณ์ ตัวอักษรลางเลือนในบางหน้า
ที่มา สมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาน
เนื้อความย่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอมรมนตรี พรรณนาการเดินทางตามเสด็จในคราวเดียวกับนิราศนครศรีธรรมราช

๑๖. นิราศนครศรีธรรมราช
สมุดไทยดำ ตัวอักษรดินสอเปลือกหอย (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)
ขนาด กว้าง ๑๑.๗๐ ซม. ยาว ๓๔.๕๐ ซม. หนา ๓.๐๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๑๑ หน้า
สภาพเล่ม สมบูรณ์ ข้อความมีลบเลือนในบางหน้า
ที่มา หอสมุดวชิรญานซื้อจากนายหยู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
เนื้อความย่อ นายแก้ว กรมพระคลังสวน พรรณนาการเดินทางตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก พ.ศ.๒๔๐๒

๑๗. นิราศแพรกไพร เลขที่ ๑๙๘
สมุดไทยขาว (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)
ขนาด กว้าง ๑๑.๕๐ ซม. ยาว ๓๕.๕๐ ซม. หนา ๓.๕๐ ซม. จำนวนหน้าที่มีอักษร ๑๐๖ หน้า
สภาพเล่ม สมบูรณ์
ที่มา หอสมุดวชิรญาน ซื้อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐
เนื้อความย่อ พระครูคง พรรณนาการเดินทางกลับจากนครศรีธรรมราชถึงกรุงเทพมหานคร หลังจากไปจำพรรษาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วทุ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔

๑๘. นิราศถลาง เลขที่ ๓๔๑
สมุดไทยขาว เส้นดินสอ
ขนาดกว้าง ๑๑.๐๐ ซม. ยาว ๓๓.๕๐ ซม. หนา ๔.๕๐ ซม.
เนื้อความย่อ พระยาตรังแต่งเมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ถลางในต้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒

๑๙. นิราศถลาง เลขที่ ๓๔๒
สมุดไทยดำ เส้นหรดาล
ขนาดกว้าง ๑๑.๐๐ ซม. ยาว ๓๕.๐๐ ซม. หนา ๓.๓๐ ซม. เนื้อหาเหมือนเลขที่ ๓๔๑ แต่ตัวอักษรสวยงามคมชัด

๒๐. พระทรรมโศก
สมุดไทยขาว เส้นดินสอ เนื้อความคล้ายพระนิพพานโสตร (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)
ขนาดกว้าง ๑๒.๐๐ ซม. ยาว ๓๖.๕๐ ซม. หนา ๒.๕๐ ซม.

๒๑. ตำนานพระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑๕๓
กระดาษฝรั่ง
เนื้อหาเป็นกาพย์กลอนสวด (กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว)

๒๒. ตำนานพระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑๕๔
กระดาษฝรั่ง
เนื้อหาเป็นการคัดสำเนาลายมือจากสมุดข่อยตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เลขที่ ๗๔

๒๓. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๐๐๑.๔/๒๘ – ๓๔
กระดาษฝรั่ง
เลขที่ ๒๘ สำเนาคัดลายมือ พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๕ สมบัติหอสมุดแห่งชาติ
เลขที่ ๒๙ สำเนาพิมพ์ดีด พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑ ตอนแรก สมบัติหอสมุดแห่งชาติ
เลขที่ ๓๐ สำเนาพิมพ์ดีด พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑ ตอนจบสมบัติหอสมุดแห่งชาติ
เลขที่ ๓๑ สำเนาพิมพ์ดีด พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑ กรมเลขาธิการมอบให้
เลขที่ ๓๒ สำเนาคัดลายมือ พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๕ ตอนแรก สมบัติหอสมุดแห่งชาติ
เลขที่ ๓๓ ยังไม่พบเล่ม…….
เลขที่ ๓๔ สำเนาคัดลายมือ พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๕ ตอนจบ สมบัติหอสมุดแห่งชาติ

* ไม่พบต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ที่กรมศิลปากรตีพิมพ์

๒๔. พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชและเรื่องวันคาร เลขที่ ๐๐๑.๔/๓๗
กระดาษฝรั่ง
– สำเนาพิมพ์ดีด พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๑, เรื่องวันคาร โดยพระราชปัญญาภรณ์ (เพิ่ม อาภาโค) วัดพระนคร คัดจบเมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๐๕ เวลา ๑๕.๓๕ น. จากสมุดข่อยพระปลัดสุนันท์ วัดพิศาลนฤมิตร

๒๕. พิธี ๑๒ เดือนเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๐๐๑.๔/๓๕
กระดาษฝรั่ง
สำเนาคัดลายมือจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังว่าไว้ เลขที่ ๖๗๐

บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑