ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วัดถ้ำพระพุทธ ( ถ้ำพระ ) ต. หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง ความเชื่อมโยงกับพระนางเลือดขาวในทางประวัติศาสตร์ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

วัดถ้ำพระพุทธ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๕/๑ บ้านถ้ำพระ หมู่ ๖ ต. หนองบัว อ. รัษฎา จ. ตรัง เป็นวัดที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาบรรทัด ที่กั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดตรัง บนภูเขา มีเงื้อมผาที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระบรรทมตามสำนวนโบราณ พร้อมด้วยพระบริวาร อันมีศิลปะสวยสดงดงาม ทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องมโนราห์ และ พระอันดับเรียงรายกันไป ตามคติความนิยมการสร้างพุทธสถานโบราณบนภูเขา ซึ่งจากการสำรวจถ้ำพระพุทธ ทางเจ้าหน้าที่ได้พบหลักฐานทางโบราณวัตถุ และภูมิศาสตร์ ได้พบถึงความเก่าแก่ของถ้ำพระพุทธนั้น ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างพระพุทธปฎิมา เคยเป็นที่อาศัยของมนุษย์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน ในช่วงอายุ ๖,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปี อีกทั้งภูมิศาสตร์ของถ้ำพระพุทธแต่เดิม เป็นภูเขาที่อยู่ติดกับเส้นทางน้ำใกล้กับทะเล จึงทำให้มีมนุษย์เข้ามาอาศัยเป็นชุมชนเก่าแก่มาก่อน

จนกระทั่งเมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระนางเลือดขาว และ พระยากุมาร สองมหาอุบาสก – อุบาสิกา แห่งคาบสมุทรตอนกลาง ได้เดินทางจากพัทลุงเพื่อจะไปอาณาจักรสิงหล ( ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ) โดยผ่านเส้นทางถ้ำพระพุทธ ลงไปยังเมืองทะรัง ( เมืองตรังในปัจจุบัน ) แล้วขึ้นเรือสำเภาเดินทางไปยังอาณาจักรสิงหล ซึ่งรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา และ มีปราชญ์ผู้ชำนาญในพุทธศาสตร์มากมาย โดยการเดินทางของพระนางเลือดขาวแห่งเมืองพัทลุงไปอาณาจักรสิงหลนั้น มีบันทึกอยู่ในเพลานางเลือดขาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า

“ ครั้นปีจอโทศก พ.ศ.๑๔๙๓ ( จ.ศ. ๓๑๒ ) พระยากุมารกับนางเลือดขาวก็เที่ยวไป ๗ วัน ถึงตรัง แขวงเมืองนครศรีธรรมราชพระยากุมารก็ทำพระพุทธรูปเปนพระบรรทม ณ ที่ตรังนั้นองค์หนึ่ง แลเมื่อกลับจากลังการสิงหฬนั้น นางเลือดขาวจึงสร้างอาราม พระศรีสรรเพ็ชญ์พุทธสิหิงค์ ณ ที่พักที่ตรังอิกอารามหนึ่ง”

จากข้อความในส่วนข้างต้น ได้ระบุถึง “ การสร้างพระพุทธไสยาสน์ ” ของวัดถ้ำพระพุทธ เมื่อได้พิจารณาจากพุทธศตวรรษในการสร้างแล้ว พบว่าเป็นยุคเดียวกับการสร้างพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระธาตุเขียนบางแก้ว ซึ่งจากการขุดค้นของกรมศิลปากร ก็พบว่ามีอายุที่ใกล้เคียงกัน แสดงว่า ตำนานที่พระนางเลือดขาว และ พระยากุมารผู้สามีได้นำทรัพย์สินสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนานั้น ก็เป็นเรื่องจริงที่พอจะเป็นไปได้ บ้านเมืองทะรัง ( ตรัง ) ในยุคนั้นเองก็เป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้เพลาประวัตินางเลือดขาว จึงจารึกไว้ว่า ตรังในยุคโบราณเป็นส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราช และในตำนานพื้นถิ่นเมืองตรัง ได้กล่าวถึงการสร้างวัดของพระนางเลือดขาว ในตัวเมืองตรัง ไว้ ๕ แห่ง คือ วัดพระบรรทม ( ถ้ำพระพุทธ ) , วัดพระนอน หรือ ภูเขาทอง ( พระนอนที่สร้างโดยเจ้าฟ้าคอลาย บุตรชายของพระนางเลือดขาวกับพระยากุมาร ) , วัดพระงาม , วัดพระศรีสรรเพชญ ( วัดพระพุทธสิหิงค์ ) และ วัดถ้ำกรุยืด โดยถ้ำพระบรรทม หรือ ถ้ำพระพุทธนั้น มีตำนานว่าพระนางเลือดขาวได้ขนเอาทรัพย์สินจำนวนมาก ตั้งใจว่าจะมาร่วมสร้างพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่เพราะพระมหาธาตุได้สำเร็จลงไปแล้ว จึงได้นำทรัพย์สมบัติ อันประกอบด้วยพระพุทธรูปที่มีค่า และเครื่องประดับ เงินทองต่าง ๆ เข้าไปไว้ในถ้ำจำนวนมาก แล้วสร้างพระพุทธไสยาสน์ปิดปากถ้ำไว้ เพื่อถวายทรัพย์เหล่านั้นเป็นพุทธบูชา

ซึ่งต่อมาภายหลังจากการสร้างพระพุทธบรรทม ประดิษฐานไว้บนภูเขาถ้ำพระพุทธของพระนางเลือดขาวแห่งสทิงปุระ ถ้ำพระพุทธ หรือ ถ้ำพระนอน คงจะรุ่งเรืองอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง และโรยราไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ เพราะในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ที่ได้ทรงพระราชทานกัลปนาและวัดในการปกครองให้แก่ พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี เจ้าคณะป่าแก้ว เจ้าอาวาสวัดสะทังและวัดเขียนบางแก้ว ระบุถึงชื่อวัดที่ขึ้นตรงกับวัดสทังและวัดเขียนบางแก้ว มีเพียงแค่ วัดพระงาม และ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เท่านั้น พอจะสันนิษฐานว่า ถ้ำพระนอน หรือ ถ้ำพระบรรทมในช่วงนั้น คงจะอยู่ในช่วงที่ร้าง ปราศจากพระภิกษุมาจำพรรษา หรือ ถูกทอดทิ้งไปในระยะหนึ่ง

จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ได้มีการอพยพของผู้คนจากเขตเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เข้ามายังบริเวณบ้านถ้ำพระมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลจากการหลบลี้หนีภัยสงคราม จึงทำให้ “ พ่อท่านฉางหวาง ” เจ้าอาวาสองค์แรกในยุคหลัง ได้ฟื้นฟูบูรณาการ สร้างวัดขึ้นมาอีกครั้ง โดยการฟื้นฟูวัดในครั้งนี้ ได้นำความเจริญมาสู่วัดถ้ำพระเป็นอย่างมาก มีการนำเข้าถ้วยกระเบื้อง ตลอดจนวัตถุมีค่าต่าง ๆ มากมาย กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ทางวัดได้มีการเปลี่ยนชื่อ จากวัดถ้ำพระ มาเป็นวัดถ้ำพระพุทธแทน ด้วยความเก่าแก่ขององค์พระพุทธไสยาสน์ หรือ พระพุทธบรรทม ทำให้กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจ และขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ นับจากนั้นเป็นต้นมา จึงได้มีการสำรวจ หาความเก่าแก่ของถ้ำพระบรรทมโดยเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรอยู่เป็นระยะ ๆ จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้มีโครงการบูรณะซ่อมแซม พระพุทธไสยาสน์ ตลอดจนพระพุทธรูปบริวารบนโถงหน้าถ้ำทั้งหมด จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน และ เป็นที่ค้นคว้าทางโบราณคดี แก่ผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์พื้นถิ่น ถึงความเป็นมาของการเผยแพร่พุทธศาสนาในภาคใต้ ให้ทราบถึงแนวทางการเผยแพร่ขยาย และ การรักษาพระพุทธศาสนา