ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ปฎิมากรรมปริศนาในวิหารพระทรงม้า วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

วิหารพระทรงม้า หรือ พระวิหารภิเนกษกรมณ์ เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อครอบบันใดทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุ ซึ่งภายในวิหาร มีรูปปฎิมากรรมทวารบาลตามความเชื่อเรื่องเทพยดา ซึ่งตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิแล้ว วิหารพระทรงม้านั้นเปรียบกับสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และฟ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งแทนด้วยเทวรูปปฎิมากรรมที่มีอยู่ภายในวิหารพระทรงม้า มีทั้งรูปปฎิมากรรมของ พญานาค พญาครุฑ พญายักษ์ แทนท้าวจตุโลก บาลในชั้นจาตุมหาราชิกา ส่วนปฎิมากรรมสัตว์หิมพานห์ อันได้แก่ สิงห์ เสือ และ หมีดำ นั้นแทนถึงป่าหิมพานห์ ส่วนปฎิมากรรมรูปเทพเจ้านั่งอารักษ์เป็นทวารบาล ตลอดจนบานประตูไม้แกะสลัก แทนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่สถิตย์ของทวยเทพเจ้าทั้งปวง

แต่ภายในวิหารพระทรงม้านั้น มีปฎิมากรรม “ ปริศนา ” เป็นเทวรูปอยู่ตรงข้ามกันกับรูปพระพุทธบาท เป็นเทวรูปปริศนาที่ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ โดยหลาย ๆ หน่วยงาน ได้สันนิษฐานเทวรูปปริศนาองค์นี้ว่าเป็นเทวรูป “ พระหลักเมือง ” ประจำเมืองนครศรีธรรมราชในยุคโบราณ ซึ่งข้อมูลทางการเอง ก็ได้ระบุว่า เทวรูปปริศนาพระองค์นี้ เป็น เทวรูปของพระหลักเมืองเช่นกัน

เทวรูปปริศนาพระองค์นี้ เป็นเทวบุรุษมีสี่กร พระกรบนทรงจักรและตรี พระกรล่างทั้งสองท้าวบั้นพระองค์ พระเศียรทรงสวมมงกุฎละม้ายชฎาในศิลปะขอม ที่พระศอสวมกรองศอ ที่ต้นพระกร และ ข้อพระกร สวมกำไล ตั้งแต่บั้นพระองค์จนถึงพระชานุ ได้ทรงพระภูษา มีชายห้อยเบื้องหลัง ที่ข้อพระบาทสวมกำไลข้อเท้า เป็นเทวรูปมีลักษณะแปลกกว่าเทวรูปหรือรูปปฎิมากรรมทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าเทวรูปปริศนาองค์นี้ ไม่ใช่พระหลักเมืองอย่างแน่นอน เพราะรูปปฎิมากรรมของพระเสื้อเมือง และ พระทรงเมืองนั้น มีศาลที่ประทับอยู่ที่ใกล้กับศาลากลาง หรือ วังเจ้าเมืองแต่เดิม ซึ่งแน่นอนว่าอารักษ์บ้าน เมืองจะไม่มีการสร้างขึ้นไว้ในพระอารามสำคัญโดยเด็ดขาด

และเมื่อได้นำเอาเทวรูปที่มีลักษณะคล้ายกันกับเทวรูปปริศนามาเทียบเคียงกัน พบว่าเทวรูปปริศนาองค์นี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเทวรูปพระวิษณุในยุคเก่าหลายองค์ เท่าที่ได้พิจารณารูปทรงแล้ว เทวรูปปริศนาองค์นี้ ใกล้เคียงกับเทวรูปพระวิษณุ ดังต่อไปนี้
พระวิษณุ วัดพระเพรง จ.นครศรีธรรมราช
พระวิษณุ หอพระนารายณ์ จ.นครศรีธรรมราช
พระวิษณุ จ.นครศรีธรรมราช
พระวิษณุ ศิลปะเขมร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระวิษณุ ศิลปะสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เมื่อพิจารณาลักษณะเทวรูปในข้างต้น เปรียบเทียบกับเทวรูปปริศนาในวิหารพระทรงม้าแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่า เทวรูปปูนปั้นที่ปรากฎในวิหารพระทรงม้า จะเป็นเทวรูป “ พระวิษณุ ” หรือ “ พระนารายณ์ ” ที่มีการสร้างโดยได้เลียนแบบเอาศิลปะขอม ศิลปะสุโขทัย รวมถึงได้นำเอาศิลปะของเทวรูปพื้นเมืองมารังสรรค์เป็นเทวรูปพระวิษณุองค์ใหม่ ประดิษฐานภายในวิหารพระทรงม้า วัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งอายุของการสร้างนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ ในยุคที่เจ้าศรีมหาราช โอรสของพระพนมวัง มาบูรณาการฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชพอดี

และอะไรคือเหตุผลในการสร้างรูปเคารพพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ไว้ที่ผนังด้านหนึ่งของบันใดทางขึ้นลานประทักษิณพระบรมธาตุ เท่าที่ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐาน ก็มีเหตุผล ๓ ประการ ดังนี้

๑. พระนารายณ์ถือเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์ ปกป้องรักษา และ ขจัดอธรรม ซึ่งในยุคต้นอยุธยา เป็นยุคที่เริ่มมีการผสมผสาน พิธีกรรมระหว่างศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์ จึงเป็นไปได้ว่า อาจมีการสร้างเทวรูปพระวิษณุเพื่อให้เป็นเทพเจ้าผู้รักษาองค์พระบรมธาตุ

๒. เทวรูปพระวิษณุ ในวิหารพระทรงม้า อาจมีการสร้างขึ้น เพื่อเป็นรูปเคารพ แทนเหล่าเทวดาที่รักษาองค์พระบรมธาตุ ซึ่งลักษณะของการพิทักษ์รักษา ของเหล่าเทวดารักษาพระบรมธาตุนั้น ไปสอดคล้องกับหน้าที่ของพระวิษณุ ( พระนารายณ์ ) พอดี จึงมีการสร้างเทวรูปพระวิษณุขึ้น เพื่อแทนเหล่าเทวดารักษาพระธาตุเมืองนครทั้งหมด

๓. มีการสร้างเทวรูปพระวิษณุ ไว้ที่วิหารพระทรงม้า เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่มีการบูรณะองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อาจมีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์จากลังกา มาช่วยออกแบบในการสร้างพระบรมธาตุ จึงต้องมีการสร้างสิ่งระลึกไว้ ให้แสดงถึงที่มาของการสร้างรูปเคารพ

แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามในสามข้อนี้ หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่นอกเหนือไปจากนี้ เทวรูปปริศนา แห่งวิหารพระทรงม้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ควรจะมีผู้สนใจ ไขประวัติที่มาของการสร้างเสียที ให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นเทวปฎิมากรรมของเทพเจ้าองค์ใด จะเป็นพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ตามที่ผู้เขียนได้หยิบยกตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ขึ้นมา หรือ จะเป็นเทวรูปพระหลักเมือง ดังเช่นที่นักค้นคว้า ผู้เชี่ยวชาญในรุ่นก่อนได้สันนิษฐานไว้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน เพื่อความกระจ่าง และ ได้มุมมองใหม่ เกี่ยวกับคติความเชื่อพุทธศาสนาในพื้นถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช

*บทความนี้ได้เผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒