ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วันนี้ วันครู ชวนมาทำความรู้จัก “เจ้าคุณครู” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแรกในนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงนับเป็น “สหชาติ” แม้มิได้เกิดวันเดียว เดือนเดียว และปีเดียวกัน

พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช พระมหาเถระที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “สมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่” ผู้เป็น “เจ้าคุณครู” ของชาติ ด้วยคุณงามความดี ศีลาจารวัตร ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เชาวน์ปัญญาในเชิงกวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญต่อการริเริ่มวางรากฐานระบบการศึกษาในภาคใต้ จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องและนับถือเป็น “พระสหชาติ” แม้มิได้เกิดวันเดียวเดือนเดียวกับวันพระราชสมภพ

ชาติกำเนิด

พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช มีนามเดิมว่า “ม่วง” นามสกุล “สิริรัตน์” โยมผู้ชายชื่อแก้ว โยมผู้หญิงชื่อทองคำ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๘ คน เป็นหญิง ๒ คน ชาย ๖ คน เกิดที่บ้านหมาก หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๓๙๖

การศึกษา

เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนอักขระเบื้องต้นในสำนักอาจารย์สีดำ วัดหลุมพอ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่ออายุได้ ๙ ขวบ ย้ายไปศึกษาในสำนักอาจารย์เพ็ชร วัดแจ้ง อำเภอเดียวกัน ศึกษาเล่าเรียนอักษรขอมและอักษรไทยจนอ่านออก เขียนคล่อง แล้วเรียนมูลกัจจายในสำนักนี้จนอายุได้ ๑๕ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดแจ้งนั่นเอง

ครั้นบรรพชาแล้วได้ศึกษาอยู่ที่สำนักเรียนเดิม ๔ ปี เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี จึงย้ายมาอยู่ที่วัดมเหยงคณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับพระครูการาม (จู เปรียญ ๔ ประโยค) จนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ อายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระครูการาม (จู) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้มคธนามว่า “รตนธโช” หลังจากอุปสมบทแล้วอยู่จำพรรษาที่วัดมเหยงค์หนึ่งพรรษา ได้ย้ายตามพระครูการาม (จู) ซึ่งได้รับนิมนต์จากเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (พร้อม ณ นคร) ไปอยู่ที่วัดท่าโพธิ์ ครั้นถึงปีวอก พ.ศ.๒๔๒๗ พระครูการาม (จู) มรณภาพ จึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์สืบแทน ด้วยพรรษา ๑๑ ปี อายุ ๓๑ ปี

วัดท่าโพธิ์เป็นวัดสำคัญประจำเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยสมัยกรุงธนบุรี เมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นประเทศราช มีระบบการบริหารในรูปแบบจตุสดมภ์อย่างเมืองหลวง มีวังหลวงอยู่ภายในกำแพงเมือง มีวังหน้าด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมืองบริเวณวัดท่าโพธิ์ ดังนั้นจึงมีสถานะเป็นวัดประจำวังหน้าของเมืองนครศรีธรรมราช และแม้จะถูกย้ายมาสร้างบนพื้นที่ใหม่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการบริหารครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูล ณ นคร สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการพระศาสนาในหัวเมืองปักษ์ใต้ ขณะที่ประทับอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระอธิการม่วง เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ได้เข้าเฝ้าหลายครั้งในฐานะผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเห็นในพระจริยานุวัตรอันชวนเลื่อมใสศรัทธาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ จึงทูลขอตามเสด็จไปศึกษาต่อที่กรุงเทพ ฯ ทรงรับทำนุบำรุงและทรงพระกรุณาโปรดให้อยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยารามและได้บวชแปลงเป็นภิกษุธรรมยุติกนิกายในปีนั้น โดยพระพรหมมุนี (แฟง กิตติสารมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ครั้นเมื่อผ่านพิธีทัฬหิกรรมเป็นพระธรรมยุติแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ จนใน พ.ศ. ๒๔๓๓ เข้าสอบไล่แปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เปรียญ ๔ ประโยค หลังจากนั้นอีกปีหนึ่ง จึงทูลลาออกมาอยู่ ณ วัดท่าโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชในตำแหน่งเจ้าอาวาสตามเดิม ซึ่งขณะนั้นพระอุปัชฌาย์เกิด วัดแจ้ง อำเภอปากพนัง ทำหน้าที่รักษาการอยู่ชั่วคราว

เหตุที่ทรงนับเป็น “พระสหชาติ”

ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ขณะประทับแรมอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระมหาม่วงได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง ทรงไต่ถามถึงการคณะสงฆ์ในจังหวัดนี้ ท่านก็ได้ถวายพระพรชี้แจงเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย ทั้งทรงเห็นว่าเป็นผู้ทรงธรรมวินัยอันน่าเลื่อมใสหลายประการ จึงได้ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า “พระศิริธรรมมุนี” ดังพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงษ์ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๔๑ ความตอนหนึ่งว่า “…ตั้งพระมหาม่วง เปรียญ ๔ ประโยค ซึ่งแปลงเป็นธรรมยุติกา เป็นพระศิริธรรมมุนี ราชาคณะ… พระศิริธรรมมุนีเป็นผู้รู้ยิ่งกว่าผู้อื่นเป็นที่ปรึกษาหารือของพระรัตนมุนี เจ้าคณะมณฑลและพระสงฆ์ กรมการราษฎรทั้งสิ้น ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ มีนักเรียนมาก ร้องเพลงสรภัญญะ ซึ่งเธอแต่งขึ้นเอง มีอัทธยาศัยเรียบร้อยดีมาก…” และด้วยเหตุที่พระศิริธรรมมุนี เกิดในศักราชและปีนักษัตรเดียวกันกับปีพระราชสมภพคือพุทธศักราช ๒๓๙๖ ปีฉลู แม้จะไม่พ้องด้วยวันและเดือน แต่ถูกพระราชหฤทัยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ทรงยกย่องและนับว่าเป็น “พระสหชาติ”

สมณศักดิ์

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดการคณะสงฆ์ การศึกษา และการพระศาสนา จนเกิดผลสมพระราชประสงค์ ทำให้เป็นที่ไว้วางพระหฤทัยแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นอย่างมาก

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช

วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ในราชทินนามตามสัญญาบัตรว่า “พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี” สถิต ณ วัดท่าโพธิ์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๒๖ บาท

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระธรรมโกศาจารย์ตามความในสัญญาบัตรว่า “ให้กระเทพกวี เป็นพระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี” มีนิตยภัตรเดือนละ ๒๘ บาท

วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระรัตนธัชมุนีตามความในสัญญาบัตรว่า “ให้พระธรรมโกศาจารย์ เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สังฆนายก ตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินัยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี”

สมัยรัชกาลที่ ๖ ทางราชการได้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร พระรัตนธัชมุนีได้พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลไปครั้งหนึ่ง เมื่อได้รับสมณะศักดิ์ครั้งนี้แล้ว ประจวบกับทางราชการจัดตั้งเจ้าคณะมณฑลขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้น ทางราชการได้ยุบมณฑลสุราษฎร์ธานี กับจังหวัดสตูลในมณฑลภูเก็ต รวมเป็นมณฑลเดียวกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๒ เนื่องด้วยความชราภาพมากแล้ว ไม่สามารถจะรับราชการให้เต็มที่เหมือนอย่างแต่ก่อนได้ จึงถวายพระพรทูลลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลในปีนั้น

พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช เป็นผู้ที่ทำประโยชน์แก่คนหมู่มาก ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม นำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ท่านมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ เวลา ๔ นาฬิกา ๒๐ นาที นับอายุได้ ๘๒ ปี และบวชเป็นพรรษาที่ ๔๕ ด้วยคุณความดีที่ท่านกระทำไว้ จึงได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศและงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๘ ก็ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ซึ่งใช้สนามหน้าเมืองเป็นฌาปนสถาน นับว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดทุกประการในชีวิตของท่าน

พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการการศึกษาในมณฑลนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งเป็นที่พระศิริธรรมมุนี มีหน้าที่ออกไปสำรวจทำบัญชีวัด พระสงฆ์ สามเณร ศิษย์วัด และโรงเรียนเดิม แนะนำพระสงฆ์ และฆราวาสให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ในตำบลที่จัดตั้งขึ้นได้ และจัดพระภิกษุสามเณรให้เข้ามาเรียนในกรุงเทพ ฯ เพื่อกลับออกไปเป็นครู

โรงเรียนสมัยนั้นจัดเป็นสามประเภท คือ

๑.) โรงเรียนเมือง มีเฉพาะแต่เมืองและตำบล

๒.) โรงเรียนแขวง มีแต่เฉพาะแขวงและตำบล

๓.) โรงเรียนเชลยศักดิ์หรือโรงเรียนเอกชน ตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชน ไม่ได้กำหนดตามท้องที่ ถือว่าเป็นโรงเรียนใหญ่ มีประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก ถ้าเหลือกำลังผู้จัดการจะบำรุง ก็จะได้พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยอุดหนุนตามสมควร

พ.ศ. ๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) พระศิริธรรมมุนีได้จัดการเปลี่ยนฐานะโรงเรียนวัดท่าโพธิ์ มาเป็นโรงเรียนหลวง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน “สุขุมาภิบาลวิทยา” โดยมอบให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นผู้อุปถัมภ์ พระมหาไวเป็นอาจารย์หนึ่ง พระจอมเป็นอาจารย์ที่สอง มีนักเรียน ๕๐ คน ได้เลือกจัดพระเณรจากวัดต่าง ๆ มาให้เล่าเรียนกับพระมหาไวเพื่อจะได้แจกจ่ายไปให้สอนโรงเรียนอื่น ๆ

พระศิริธรรมมุนีได้จัดการคณะสงฆ์ การศึกษาและการศาสนาเกิดผลสมพระราชประสงค์ดังปรากฏในรายงานตรวจจัดการคณะสงฆ์การพระศาสนาและการศึกษาลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๙

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ (ร.ศ.๑๑๙) พระศิริธรรมมุนี ผู้อำนวยการการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช ได้รายงานผลการตรวจจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลปัตตานี จำนวนกว่า ๖๐ หน้า ถึงกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนที่ท่านได้จัดตั้งขึ้นทั้งหมด ๒๑ แห่ง คือ

๑. โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา (เบญจมราชูทิศ) ตั้งขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

๒. โรงเรียนราษฎร์ผดุงวิทยา ตั้งขึ้นที่วัดพระนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยราษฎรเรี่ยไรเงินจัดตั้ง พระครูกาชาดเป็นผู้จัดการ ได้ส่งพระทอง พระเผือก สามเณรบึ้ง มาศึกษาที่วัดท่าโพธิ์เพื่อไปเป็นอาจารย์ที่โรงเรียน

๓. โรงเรียนไพบูลย์บำรุง ตั้งขึ้นที่วัดเสาธง แขวงอำเภอเบี้ยซัด (ปากพนัง) พระอธิการทองความรู้ไม่ถึง จึงส่งพระช่วยและพระจันทร์ไปเป็นอาจารย์ โดยนายผันผู้พิพากษาศาลแขวงซึ่งเป็นนักเรียนสวนกุหลาบเป็นผู้แนะนำให้สอนตามแบบเรือนหลวง โดยมีหลวงพิบูลย์สมบัติกรมการเมืองเป็นผู้อุดหนุนโรงเรียนนี้

โรงเรียนไพบูลย์บำรุง จัดการเรียนการสอนที่วัดเสาธงทอง จนถึง พ.ศ.๒๔๖๕ จึงย้ายไปจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนเทศบาลปากพนัง ๑ ในปัจจุบัน พ.ศ.๒๔๘๑ มีนักเรียนมากขึ้น ต้องไปจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมที่วัดนันทาราม ใน พ.ศ.๒๔๘๒ – ๒๔๘๗ จัดการเรียนการสอนในบริเวณโรงเรียนปากพนังปัจจุบัน พ.ศ.๒๔๙๐ มีอาคารเรียน “ลักษณาวิทยาคาร” เป็นอาคารไม้สองชั้น สรุปว่าโรงเรียนไพบูลย์บำรุงพัฒนามาเป็นโรงเรียนปากพนังในวันนี้ก็เพราะการริเริ่มของพระสิริธรรมมุนี

๔. โรงเรียนวัฑฒนานุกูล ตั้งขึ้นที่วัดหมาย อำเภอท่าศาลา นายเจริญ กรมการเมือง ซึ่งชอบในการศึกษามากเป็นผู้ขอตั้งโรงเรียน และเป็นผู้อุดหนุน โดยจัดนายแก้วพนักงานเก็บเงินค่านาเป็นอาจารย์ นายแก้วรู้ภาษามคธดี แต่ภาษาไทยค่อนข้างอ่อนมาก

๕. โรงเรียนกระเษตราภิสิจน์ ตั้งขึ้นที่วัดร่อนนา อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยขุนกระเษตรพาหนะ กรมการเมืองร่อนพิบูลย์ขวนขวายให้มีโรงเรียนและพยายามโน้มน้าวจิตใจราษฎรให้อุดหนุน อธิการและพระสงฆ์ไม่สู้จะยินดีในการศึกษาก็เริ่มหันมาสนับสนุน

๖. โรงเรียนนิตยาภิรมย์ ตั้งขึ้นที่วัดโคกหม้อ (วัดชัยชุมพล) อำเภอทุ่งสง นายเที่ยง กรมการเมืองเป็นผู้อุดหนุนได้คัดเลือกส่งพระในวัดสามรูปไปศึกษากับพระมหาไวที่วัดท่าโพธิ์เพื่อกลับไปเป็นครู โรงเรียนนี้ข้าราชการและประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในการศึกษา

๗. โรงเรียนวิทยาคมนาคะวงษ์ ตั้งขึ้นที่วัดวังม่วง อำเภอฉวาง นายนาก กรมการอำเภอฉวาง รับปลูกอาคารและสร้างเครื่องใช้สำหรับโรงเรียน กำนันผู้ใหญ่บ้านออกทุนอุดหนุน เกณฑ์เอาบัตรหลานผู้ใหญ่บ้านให้เข้าเรียนตามแบบหลวง พระทองเจ้าอธิการเป็นผู้มีความสามารถและฉลาดสอนหนังสือไทยในชั้นต้นและเลขอย่างไทยได้ ได้สั่งสอนให้อ่านหนังสือ ผันอักษร เขียนตามคำบอก และวิธีคิดเลขฝรั่งให้เข้าใจ

๘. โรงเรียนบรรจงอนุกิตย์ ตั้งขึ้นที่วัดสัมพันธ์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขุนบรรจงสารา กรมการอำเภอซึ่งเป็นผู้คล่องแคล่วในหนังสือไทยพอใช้ได้ และพอใจจะให้มีโรงเรียนขึ้น ได้รับสั่งสอนพระอธิการหนูให้เป็นอาจารย์ และได้โน้มน้าวให้มีความยินดีในการศึกษา

๙. โรงเรียนน้อยประดิษฐ์ผดุงผล ตั้งขึ้นที่วัดบ้านนา อำเภอลำพูน (อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี) นายน้อย กรมการอำเภอรับเป็นผู้อุดหนุนเลือกพระเข้ามาศึกษาที่วัดท่าโพธิ์ และเกณฑ์กำนันผู้ใหญ่บ้านมาเล่าเรียนด้วย

๑๐. โรงเรียนอภยาณานิวาศ ตั้งขึ้นที่วัดวัง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง พระยาอุไภยบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง และพระอาณาจักรบริบาล ข้าหลวงผู้ช่วยราชการเมืองเป็นผู้อุดหนุน

๑๑. โรงเรียนรองราชบริรักษ์ ตั้งขึ้นที่วัดมะขาม หลวงรองราชมนตรี กรมการเมืองเป็นผู้อุดหนุน

๑๒. โรงเรียนเทวภักดีภูลเฉลิม ตั้งขึ้นที่วัดห้วยลึก แขวงทักษิณ (อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง) หลวงเทพภักดี กรมการอำเภอเป็นผู้อุดหนุน เลือกพระแดง เจ้าอธิการไปศึกษาที่โรงเรียนมัชฌิมาวาส อำเภอเมืองสงขลา เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์

๑๓. โรงเรียนมหาวชิราวุธ แต่เดิมโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นที่หน้าบ้านพระยาวิเชียร และต่อมาท่านเจ้าคุณขอร้องให้มาตั้งขึ้นในวัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมืองสงขลา พระยาสุขุมนัยวินิตเป็นผู้อุดหนุน พระครูวิสุทธิโมลี เจ้าคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายให้การสนับสนุนเป็นธุระเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ราษฎรมีความสนใจและตื่นตัวในด้านการศึกษามากและครูผู้สอนก็มีความตั้งใจเต็มใจที่จะสอนอย่างเต็มที่

๑๔. โรงเรียนหฤไทวิทยา ตั้งขึ้นที่วัดน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลวงต่างใจกรมการอำเภออุดหนุน พระอ่ำเป็นพระที่ฉลาดพอจะศึกษาเป็นอาจารย์ได้ จึงได้เข้ามาช่วยสอน

๑๕. โรงเรียนเพชรานุกูลสถิต ตั้งขึ้นที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พระยาเพชราภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ปลูกโรงเรียนถวายเป็นของหลวง พระท่าย พระทิม ซึ่งเคยศึกษาหนังสือไทย เลขไทยเป็นครูได้

๑๖. โรงเรียนราชรักษุประการ ตั้งขึ้นที่วัดออก อำเภอยะหริ่ง หมื่นราชรักษ์ ผู้แทนข้าหลวงผู้ช่วยรักษาการเมืองยะหริ่งเป็นผู้อุดหนุน

๑๗. โรงเรียนวิมลญาณพิทักษ์ ตั้งขึ้นที่วัดสักขี อำเภอสายบุรี พระครูญาณวิมล เจ้าคณะเมืองสายบุรีอุดหนุน

๑๘. โรงเรียนสุนทรวิทยาธาร ตั้งขึ้นที่วัดปตานีนรสโมสร อำเภอเมืองปัตตานี พระใบฎีกาซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในการศึกษารับเป็นอาจารย์ หลวงสุนทรธนารักษ์เป็นผู้อุดหนุน

๑๙. โรงเรียนภุมมาภิสมัย ตั้งขึ้นที่วัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา หลวงภูมิเมือง (หมี สุขุม) กรมการเมืองอุดหนุน

๒๐. โรงเรียนอุบลบริหาร ตั้งขึ้นที่วัดใหม่ อำเภอสิชล นายบัว ณ นคร (หลวงอนุสรสิทธิกรรม) กรมการอำเภอเป็นผู้อุดหนุน ส่งพระกรด ไปศึกษาที่วัดท่าโพธิ์ เพื่อกลับมาเป็นครู

๒๑. โรงเรียนทัศนาคารสโมสร ตั้งขึ้นที่วัดเขาน้อย อำเภอสิชล แต่เดิมนายทัด หลานเจ้าพระยานครสร้างโรงเรียนขึ้นไว้หลังหนึ่ง แต่ยังไม่เสร็จ

อย่างไรก็ดี พระศิริธรรมมุนีต้องประสบกับปัญหาในการจัดการศึกษาในมณฑลนครศรีธรรมราชหลายประการ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

๑. ขาดผู้ที่สามารถจะสอนแบบหลวงที่จัดขึ้นใหม่ได้ ต้องคัดเลือกพระเณรมาศึกษาที่วัดท่าโพธิ์เพื่อส่งกลับไปเป็นครู

๒. พระสงฆ์และคฤหัสถ์พอใจที่จะศึกษาภาษามคธมากกว่าภาษาไทย

๓. ราษฎรไม่ค่อยจะมีท่าทีให้การสนับสนุนในการศึกษา จะมีบ้างก็แต่พวกข้าราชการ

๔. ราษฎรมีอาชีพทำไร่ทำนา ค้าขายบ้างเล็กน้อย ไม่ค่อยจะได้ใช้ปัญญาคิดนัก จึงไม่ค่อยจะรู้จัดคุณประโยชน์ของการศึกษา และเห็นว่าแม้จะมีวิชาหนังสือดีก็ยังต้องทำไร่ไถนาอยู่ร่ำไป คนรู้หนังสืออยู่บ้านนอกเอาดีไม่ได้ และเห็นว่าถ้าคนมีวิชาหนังสือดีเสียสิ้นทั้งเมืองแล้ว ก็คงจะไม่มีการงานทำ

๕. ราษฎรในบางท้องที่ เช่น สายบุรี ยะหริ่ง และปัตตานีใช้ภาษามลายู จึงไม่สนใจเรียภาษาไทย

นอกจากริเริ่มจัดการศึกษาฝ่ายสามัญทั่วภาคใต้แล้ว ยังตั้งโรงเรียนวิสามัญให้มีการสอนวิชาช่างถมอันเป็นศิลปหัตถกรรมขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ พ.ศ.๒๔๕๖ นับเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักร โดยสละทรัพย์ส่วนตัวของท่าน ให้เป็นเงินเดือนครูเป็นเวลาหลายปี และเพียรทะนุบำรุงให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูให้ศิลปะแผนกนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายสืบมา และโรงเรียนช่างถมนี้ ภายหลังทางราชการกระทรวงศึกษาธิการได้รับช่วงมาเป็นโรงเรียนหลวงประเภทวิสามัญ

พระรัตนธัชมุนี ได้ทำหน้าที่พัฒนาภูมิปัญญากุลบุตรทั้งทางโลกและทางธรรม จนเมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาสมัยใหม่ ตามระบบที่ราชการไทยพยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลก ฯ

จากบทความ “๑๖๕ ปีชาตกาล พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช พระสหชาติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของ วันพระ สืบสกุลจินดา ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๑