ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

๑ มกรา ฯ (ไม่ใช่) ปีใหม่เมืองนคร ไม่ใช่แม้แรมหนึ่งเดือนอ้าย ขึ้นค่ำเดือนห้า ๑ เมษา ฯ และมหาสงกรานต์

ก่อนที่จะข้ามไปถึงคำตอบ ว่าปีใหม่ของชาวนครศรีธรรมราช ตรงกับวันใด มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า “ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง ใช้เวลาราว ๓๖๕ วัน หรือ ๑๒ เดือน เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ” จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป

แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า ๑ เมษายน และ ๑ มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก” ตานี้ย้อนกลับมาในโลก อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่ ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์ เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่ หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ

“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ ๑๖๔ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็นพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข ๒

มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้ คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก

“วิสาขปุรณมีบูชา” จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ

ทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖

หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงคือวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า

“…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”

เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชโดยท่านครูมีชื่อแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อีกหลักฐานชี้ชัดที่แทบไม่ต้องตีความ ปรากฏในจารึกแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อยอดหักที่อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตไว้ มีว่า

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…”

พระพรรษาเศษได้สี่วัน หมาย ถึงหลังปีใหม่ ๔ วัน เมื่อย้อนกลับไป ๔ วัน วันปีใหม่จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้ แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพซึ่งปรากฏเสาต้นไม้เพลิงนี้ มีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

ติดตามอ่านต่อได้ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเร็ว ๆ นี้