ที่มา : https://web.facebook.com/pg/BUNCHAR2500/…
ผู้เขียน : บัญชา พงษ์พานิช
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑

รายละเอียด

ขอบันทึกไว้ก่อนที่จะลืมเสีย
ถึงหนังสือบุดดำสุดสำคัญ ๔ เล่มนี้ที่วัดศรีทวี
ซึ่งแม้จะขาดหายไป ๒ เล่ม คือ ๒ กับ ๕
แต่ที่มีคือ ๑ – ๓ – ๔ – ๖ ก็สำคัญมาก ๆ
เพราะ

๑) เป็นพระสมุด พระราชปุจฉา ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ที่ทรงถามคณะสงฆ์หลายเรื่อง และ คณะสงฆ์สำคัญของแผ่นดินสมัยนั้น ร่วมกันตอบวิสัชนาอย่างวิเศษ ลองอ่านพระราชปุจฉา-วิสัชนา เรื่องการขโมยของสงฆ์ที่แนบนี้ซิครับ

๒) ท่านพระครูเหมเจติยาภิบาล (โสพิทร์ แซ่ภู่) แห่งวัดพระนคร เมืองนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน บอกว่า เท่าที่ลองค้นคร่าว ๆ ไม่พบมีพระราชปุจฉา-วิสัชนาเหล่านี้ ในสารบบใด ๆ แสดงว่า เหล่านี้ยังไม่เป็นที่รู้ ? จึงเป็นข้อมูลใหม่ ? ต้องทำการสืบค้นกันต่อไป

๓) เจ้าจอมมารดาพุ่ม ผู้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ระบุว่าสร้างถวายพระครูพิศาลสรภัญ (จาบ) เปรียญเอกวัดเครือวัลล์ ท่านมหาเถระรูปนี้ ต่อมาคือพระศิริธรรมมุนี (จาบ เขมโก ป.ธ.๗) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร นามเดิมของท่านชื่อ “จาบ” เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่ออายุ ๒๐ ปี บวชเป็นพระมหานิกาย ในสำนักท่านอุปัชฌาย์แก้ว วัดจันทร์ มีเจ้าอธิการเอี่ยม วัดวังตะวันออกและพระครูกาชาด(ย่อง) วัดวังตะวันตก เป็นอนุกรรมวาจา ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ จังหวัดสงขลา และปีรุ่งขึ้นเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพน ฯ พอย่างขึ้นเดือน ๗ ร.ศ. ๑๐๙ ได้แปลงเป็นพระธรรมยุตในสำนักของพระพรหมมุนี (แฟง) วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อครั้งยังเป็นพระกิตติสารมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นกรรมวาจาจารย์ ศึกษาจนสอบไล่ได้เป็นเปรียญเอก ท่านเดินทางไปสั่งสอนประชาชนแถบมลายู ๑ พรรษา ต่อมาเป็นพระราชาคณะตำแหน่งพระภัทรมุขมุนี เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ๑๒ ปี และใน พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ในเวลาต่อมาท่านอาพาธด้วยโรคนอนจำวัดไม่หลับ ได้ลาออกกลับไปพักรักษาตัวที่วัด(ท่า?)โพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่ออาการทุเลาก็สั่งสอนประชาชนแถบแหลมมลายูต่ออีก ๕ ปี สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับสั่งให้กลับมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในกรุงเทพ ฯ ไม่ปลอดภัยท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช ภูมิลำเนาเดิมจนกระทั่งมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ อายุได้ ๘๗ ปี พรรษาได้ ๖๗ พรรษา

๔) นี้คือเหตุแห่งการย้ายของบุดดำพระราชปุจฉา ๔ เล่มนี้ มาที่วัดศรีทวี ผ่านวัดเครือวัลย์ มาวัดราชาธิวาส วัดท่าโพธิ์ วัดบวร และสุดท้ายที่วัดศรีทวีนี้ หากจะตามหาอีก ๒ เล่มที่ขาดชุด ก็ควรตามที่วัดเหล่านั้น

๕) ที่สำคัญกว่านั้น ทำไมท่านจาบจึงได้รักษาอย่างยิ่ง เป็นสมุดธรรมคู่กายเช่นนี้ เท่าที่ผมสืบความตามคำบอกเล่าหลายทิศทาง กล่าวกันว่า ท่านเป็นพระผู้รับใช้ถวายงานล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ และเป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงครองราชย์และโปรด ฯ ให้ฟื้นฟูวัดราชาธิวาส อันเป็นวัดที่พระภิกษุมงกุฎ ฯ ทรงสถิต แล้วนิมนต์ท่านจาบจากวัดเครือวัลย์ ฯ มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราชา ฯ คราวหนึ่งทรงมีพระราชปรารภถึงหม่อมห้ามนางในที่ทรงหวงพระองค์กันเกิน ขอให้ท่านได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมกำราบในพระบรมมหาราชวังบ้าง แล้วท่านก็ทำตามพระเจ้าอยู่หัวนิมนต์ จนเป็นเหตุแห่ง “โรคนอนจำวัดไม่หลับ” เพราะมีผู้ขัดเคืองถึงกับเอ่ยเอื้อนว่า หากวัดราชา ฯ มีสมภารรูปนี้ จะมิมาอีก ท่านจึง “ปรารภเหตุอาพาธ” เพื่อออกจากวัด ด้วยพึงรักษาวัดไว้ยิ่งกว่าองค์เอง

เพียง ๕ ประการนี้เท่านั้น บุดดำพระราชปุจฉานี้ก็สำคัญยิ่งนักแล้วขอรับ

ส่วนเรื่อง “โยงใยแห่งเมืองนคร” นั้น ยาวยิ่งและแสนซับซ้อน จะลองค่อย ๆ เขี่ยไค้ออกมาขยายครับ

สำหรับเรื่องแว่นตกนั้น เป็นเรื่องของสงฆ์ ถามท่านเจ้าคุณพุทธิสารเถร และพระครูเหมเจติยาภิบาล กันดูนะขอรับ

๕ ม.ค. ๖๑ เวลา ๑๔.๑๔ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
#นครเมืองธรรม
#วัดศรีทวี
#วัดบันดาลใจ

วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช โสพิทร์ แซ่ภู่ ชัยวัฒน์ สีแก้ว วัดบันดาลใจ Pairot Singbun Siridhammapirat Yodkhun