ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : กองบรรณาธฺิการสารนครศรีธรรมราช’ ๓๗
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ประวัติของบ้านเมืองในอดีต มักจะมีปัญหาเรื่องการจัดตั้ง ประวัติการปกครอง เหตุการณ์สำคัญ ๆ เพราะมิได้จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่นกรุงสุโขทัยราชธานี แม้จะมีศิลาจารึกหลักฐานอยู่บ้าง ก็ต้องอ่าน แปล สันนิษฐานกันรอบคอบ ถึงกระนั้นก็ยังได้ประวัติเพียงกระท่อนกระแท่น แม้อำเภอพิปูนก็เหมือนกัน ยังมีปัญหาที่ต้องหาความชัดเจนหลายประการ

ชื่ออำเภอ คำว่า “พิปูน” มีปัญหาว่าแปลหรือหมายความว่าอย่างไร ทำไมจึงชื่ออย่างนั้น ?

ชื่อบ้านนามเมืองหรือสิ่งของต่าง ๆ แต่เดิมมาเป็นคำแน่นอน ชัดเจน คิดตั้งขึ้นและใช้ร่วมกันตามภูมิประเทศ เหตุการณ์ และบุคคล เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ หมู่บ้านคีรีวง ต่อมาภายหลังเกิดเพี้ยนจากเดิม บางคำก็เพี้ยนเสียง บางคำก็เพี้ยนอักษร เช่น

สามแพร่ง เพี้ยนเป็น สำเพ็ง
ซิงโกลา เพี้ยนเป็น สงขลา
บูกิด เพี้ยนเป็น ภูเก็ต
ลิกอร์ เพี้ยนเป็น ละคร (นคร)

ท่านพระครูเชาวนาภิธาน (กลั่น ชวนปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดยางค้อม เจ้าคณะอำเภอพิปูน (พ.ศ. ๒๕๓๗) กรุณาให้แนวอธิบายว่ามีอยู่ ๒ แนว คือ

แนวแรก มาจากเขตการปกครองในสมัยก่อน แบ่งส่วนการปกครองออกเป็น “เมือง” “ที่” และ “หัวเมือง” พิปูน เมื่อก่อนนั้น เรียกว่า “ที่ปูน” เหมือน “ที่ฉวาง-ท่าชี” ต่อมาคำว่า “ที่” เพี้ยนเป็น “พิ” จึงเรียกกันว่า “พิปูน”

แนวที่สอง สมัยก่อนไม่มีวัสดุก่อสร้างสมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน โดยเฉพาะปูนซิเมนต์ บรรพบุรุษในท้องถิ่นนั้น เวลาจะสร้างวัดวาอาราม ต้องขนหินจากเขาพระ ตำบลกะทูน มาเผาทำปูน ณ บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน จึงเรียกกันว่า “ทุ่งปูน”

เอกสารบรรยายสรุปของส่วนราชการหลายส่วน เช่น สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ ให้ความรู้เชิงสันนิษฐานว่าเป็นสองแนวเหมือนกัน คือ

แนวแรก มาจากคำว่า “บุล” หรือ “บูล” ซึ่งเป็นภาษาบาลี เติม “วิ” หรือ “พิ” เข้าข้างหน้า เป็นพิบูล วิบูล แปลว่า “กว้างใหญ่” ราชทินนามที่พระราชทานแก่พระครูสัญญาบัตรรูปหนึ่งสอดคล้องกับคำหรือข้อสันนิษฐานนี้ คือ “พระครูพิบูลนวเขต” พระราชทานตอนเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนาใหม่ ตำบลพิปูน ปัจจุบันเจ้าอาวาสรูปนี้ เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย เจ้าคณะอำเภอฉวาง (พ.ศ. ๒๕๓๗)

แนวที่สอง สันนิษฐานว่า เป็นที่ปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่รบได้ชัยชนะแก่พม่า ซึ่งออกจะไกลกว่าข้อสันนิษฐานอื่น ๆ เพราะไม่มีประวัติว่าเกิดการรบกันเมื่อใด กับใคร แม้คำว่า ปูน ที่แปลว่า บำเหน็จ ก็ไม่คุ้นหูคุ้นปากคนภาคใต้

เรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังจะหาข้อยุติต่อไป

ประวัติการจัดตั้ง ชาลี ศิลปรัศมี กล่าวไว้ในเรื่อง “ประวัติศาสตร์อำเภอฉวาง” ในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอพิปูนว่า “ราว พ.ศ.๒๓๖๓ ปลายรัชกาลที่ ๒​ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานคร ปรับปรุงหัวเมืองปักษ์ใต้เสียใหม่ โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราชจัดระบบการปกครองออกเป็น ๔ หัวเมือง ในเขตรับผิดชอบของกรมช้างกลาง คือ

หัวเมืองพิปูน
หัวเมืองกะเปียด
หัวเมืองละอาย
หัวเมืองช้างกลาง

แต่ละหัวเมืองมีตำบลในเขตรับผิดชอบ มีผู้ปกครอง มีวัดประจำเมือง และระบุว่าวัดยางค้อมเป็นวัดประจำเมือง”

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ปกครองนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และหัวเมืองแขกทั้ง ๗ ประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ และ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๔๒) ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคจากหัวเมือง แขวง เป็นเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตำแหน่ง “นายที่” ก็เลิกไป กำหนดตำแหน่งใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน อำเภอพิปูนก็วิวัฒนาการมาจนถึงระยะหลัง มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอฉวาง ซึ่งเป็นตำบลใหญ่ที่มีฐานะมั่งคั่ง ก้าวหน้ากว่าหลายตำบลของอำเภอฉวาง

อำเภอพิปูนมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอฉวางมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ – ๒๔๔๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ นับเป็นเวลานานถึง ๗๔ ปี จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอในอีก ๔ ปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอพิปูน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๙๓ ตอนที่ ๑๐๙ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๙

ในระยะเวลาอันยาวนานก่อนได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ชาวพิปูนต่างยอมรับและให้ความเคารพนับถือบุคคลผู้หนึ่งว่า เป็นบุพการีของชาวพิปูน

เอกสารข้อมูลของสำนักงานศึกษาธิการอำเภอพิปูนระบุว่า

“พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๗๕ ได้มีนักปกครองท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ตำบลพิปูนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการพัฒนา การรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นผู้นำท้องถิ่น จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนมาจนทุกวันนี้ ท่านผู้นั้นคือ “ขุนพิปูนเปรมประดิษฐ์” (บานเมือง จงจิต)” ฯ

ภาพอธิบายปก (บรรยากาศธรรมชาติบริเวณอ่างเก็บน้ำ ขอบพระคุณภาพจากเพจบ้านร่วมลมเย็น)

จากบทความ “อำเภอของเรา : อำเภอพิปูน” ของกองบรรณาธิการสารนครศรีธรรมราช ๒๕๓๗ ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๗