ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

รายละเอียด

#พระแอด กับ พิธีขอฝนของเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต
โดย ภูมิ  จิระเดชวงศ์

สืบเนื่องจากบทความที่อธิบายความเป็นมาของพระแอด  คราวนี้ จะขอกล่าวถึงพระแอด  ในบทบาทของพิธีกรรมขอฝน และรายละเอียดในพิธีกรรมขอฝนในอดีตให้ได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้พอเข้าใจความสำคัญของพระแอด และ #พิธีกรรมขอฝน ( #หรือพิธีพิรุณศาสตร์ ) ของเมืองนครในอดีต

     ในยุคที่บ้านเมืองยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการเรื่องน้ำได้มีประสิทธิภาพ  เรื่องแหล่งน้ำ ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่จะกำหนดความรุ่งเรือง หรือ โรยราของบ้านเมือง นอกจากการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว ยังต้องใช้น้ำในการทำไร่ไถนาเลี้ยงชีพอีกด้วย ซึ่งที่มาของทรัพยากรน้ำที่จะใช้ในการทำนาในอดีตนั้น  นอกจากคู คลอง แหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องอาศัย “ ฝน ” เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการเกษตรกรรม  ดังนั้น บ้านเมือง ผู้คน จะสมบูรณ์ หรือ อดอยาก น้ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญทางธรรมชาติ ที่จะกำหนดความสมบูรณ์ของไร่นา ในยามที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์  ผู้คนก็จะทำไร่ไถนา ทำสวนกันอย่างสบายใจ แต่ถ้ายามใด เกิดฝนแล้ง ธารน้ำแห้งขอดผิดปกติ หรือ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ยามนั้น ผู้คนก็จะบังเกิดความทุกข์ใจไปอย่างกว้างขวาง

   และเมื่อเกิดภัยแล้งอย่างยาวนาน หรือ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูนี่แหละ จึงเป็นที่มาของพิธีกรรม “ #ขอฝน ” ตามแบบต่าง ๆ สุดแท้แต่ความเชื่อของแต่ละพื้นที่  เพราะฝนฟ้า ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ในยุคนั้นจะสามารถหาวิธีทำให้เกิดฝนได้อย่างในปัจจุบัน  ดังนั้น  วิธีเดียวที่พอจะเป็นไปได้ จึงต้องประกอบพิธีกรรมขึ้น ซึ่งพิธีขอฝนนั้น มีตั้งแต่ระดับสามัญ ไปจนถึงระดับพระราชพิธี ที่เรียกกันว่า “ #พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ” หรือ #พิธีขอฝนอย่างหลวง  ซึ่งแสดงความสำคัญ ของฝนฟ้าได้เป็นอย่างดี ว่ามีความสำคัญมากเพียงไร

    สำหรับพิธี “ #พิรุณศาสตร์ ” ของชาวเมืองนครศรีธรรมราช  ได้มีหลักฐานหลงเหลืออยู่  ทั้งเป็นพยานวัตถุ ได้แก่ #รูปเคารพพระแอด และ #เทวรูปพระพิรุณซึ่งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช รวมถึงบันทึก ที่กล่าวถึงพิธีขอฝน #ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้กล่าวถึงหน้าที่พิธีกรรมที่พราหมณ์เมืองนครจะประกอบพิธี ซึ่งได้มี พิธีขอฝน อยู่ในมงคลพิธีทางด้านพราหมณ์ด้วย

    พิธีกรรมขอฝนของชาวนครศรีธรรมราช ที่เกี่ยวเนื่องกับพระแอด ได้ประ กอบพิธีตามคติหลวง  ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศูนย์กลาง  โดยประกอบพิธีกันที่เบื้องหน้า “ #พระสุภูติ ” ( พระแอดในคติเดิม ) ที่อยู่ด้านข้างวิหารธรรมศาลาในอดีต  โดยรูปแบบพิธีกรรมนั้น จะเอาเรื่องราว ของพระสุภูติเถระกล่าวขอฝน และ #พญาปลาช่อนโพธิสัตว์ขอฝนมาเป็นต้นเค้าของพิธีกรรม  เริ่มจากการสร้างโรงหลังคามุงจาก หรือ ศาลาที่มุงด้วยใบไม้ ถวายแก่พระแอด  จัดอาสนะพระ  จัดขันสาคร ที่บรรจุ ปลาช่อนเงิน เต่าเงิน  สำหรับเจริญคาถามัจฉราชจริยา และจัดโรงพิธีกรรม ให้พราหมณ์ ได้ประดิษฐานเทวรูปพระพิรุณ และสวดพระเวท  สำหรับขอฝน  เมื่อเริ่มพิธี หลังจากจุดเทียนชัยแล้ว พระสงฆ์จะเจริญคาถา “ #มัจฉราชจริยา ” หรือ #คาถาพญาปลาช่อน  เพื่อขอฝนต่อ ปัชชุนเทพ และ เทวดาวัสสาวลาหก ซึ่งคติพุทธถือว่า เป็นหมู่เทพที่ประจำอยู่บนเมฆฝน จากนั้นจึงทำการรื้อตับหลังคา  ที่อยู่ในระดับสายตาของพระสุภูติเถระ ( พระแอด ) ออก แล้วจึงสวดคาถา สุภูโต หรือ  สุภูติเถระคาถา เพื่อขอฝนให้ตกลงมา ซึ่งการประกอบพิธี จะทำจนกว่าฝนจะตกลงมา #ในส่วนของพราหมณ์นั้นก็จะสวดพระเวทสรรเสริญพระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝน เพื่อขอให้ประทานฝนลงมา

        พิธีขอฝน ( พิรุณศาสตร์ ) #ได้ห่างหายลงหลังจากยุครัชกาลที่  เนื่องจากการชลประทานมีความก้าวหน้าขึ้น จึงทำให้การทำพิธีขอฝนในระดับบ้านเมือง ได้ค่อย ๆ จางหายไป ส่งผลให้พระแอด ไม่ได้รับการสักการะในด้านการขอฝนอีกต่อไป หลังจากที่ได้มีการเคลื่อนย้ายพระแอด จากด้านข้างวิหารธรรมศาลา มายัง วิหารพระแอดในปัจจุบัน  ในสมัยที่  พระรัตนธัชมุนี ( ท่านเจ้าคุณแบน ) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์พระแอด จาก “ พระสุภูติเถระ ” เป็น “ พระกัจจายนะเถระ ” เพื่อฉลองศรัทธาของสาธุชน ที่ต้องการขอพรทางด้านลาภผลกันมากขึ้น  ซึ่งพระกัจจายนะเถระ หรือ พระแอดที่ได้สถาปนาใหม่  ก็ได้ให้อิทธิคุณในทาง “ ประทานบุตร ” จนเป็นที่ศรัทธา และรู้จักกันดีไปทั่วภาคใต้

 ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบัน พิธีขอฝน ดูจะเป็นเรื่องเลือนลางไปจากความทรงจำของผู้คนไปแล้ว แต่พระอรหันตปฎิมา องค์สำคัญในวัดพระบรมธาตุ ก็ยังคงยืนยัน  ถึงคติสำคัญของบ้านเมืองในเรื่องฝนฟ้า ว่ามีความสำคัญมากเพียงใด ในอดีต