ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

สำหรับในพื้นที่นครศรีธรรมราช มีการพบศิวลึงค์ ทั้งที่เป็นสยมภูวลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ศิวลึงค์ประเภทอจละลึงค์ ดังต่อไปนี้

๑. ลิงคบรรพต โบราณสถานเขาคา ม.๑๑ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ลิงคบรรพต เป็นชื่อของศิวลึงค์ชนิดพิเศษ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ( สวยัมภูว ) สถิตอยู่บนยอดเขา ที่ด้านล่างมีแม่น้ำ หรือ ลำคลอง ไหลผ่าน ซึ่งสวยัมภูวลึงค์บนโบราณสถานเขาคา นับเป็นสวยัมภูวลึงค์ชนิดพิเศษ ที่เข้าลักษณะของลึงคบรรพต ปรากฏหลักฐานการประกอบพิธี นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา
ภาพประกอบ ที่ ๑ ลิงคบรรพต โบราณสถานเขาคา

๒. ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน จาก โบราณสถานเขาคา ม.๑๑ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
นอกเหนือไปจากลิงคบรรพตที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของโบราณสถานเขาคาแล้ว โบราณสถานเขาคายังมีหลักฐานเป็นศิวลึงค์ที่แกะสลักจากหิน ซึ่งมีขนาดย่อมลงมา อาจเป็นศิวลึงค์ประจำอาคารใด อาคารหนึ่งบนแนวสันเขาคา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ ปัจจุบันอยู่ที่ โถงจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ภาพประกอบที่ ๒ ศิวลึงค์ โบราณสถานเขาคา ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย

๓. ศิวลึงค์ทำจากทองคำ ถ้ำทุ่งพลีเมือง เขาจอมทอง ม.๖ ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์ทองคำ จากถ้ำทุ่งพลีเมือง มีการขุดพบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ จากการหามูลค้างคาวของชาวบ้าน โดยศิวลึงค์ทองคำทั้งสองชิ้นนี้ พบร่วมกับฐานโยนิที่ทำด้วยเงิน แผ่นทองคำ ผอบเงิน ผงเถ้าและดิน ผอบอิฐ ผอบหิน และแผ่นอิฐล้อมรอบ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แสดงให้เห็นถึงคติไศวะนิกายที่อยู่หนาแน่นในพื้นที่ อ.สิชล ซึ่งเดิมเป็นดินแดนพราหมณ์ ปัจจุบัน ศิวลึงค์ทองคำ ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร โดยจัดแสดงที่ ห้องศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ดูภาพประกอบที่ 3 ภาพศิวลึงค์ทองคำ จาก FB สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

๔. กลุ่ม ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน พบที่วัดนาขอม ม.๒ ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
กลุ่มศิวลึงค์วัดนาขอม ประกอบไปด้วยศิวลึงค์สภาพสมบูรณ์ ๑ องค์ และศิวลึงค์สภาพชำรุด ๒ องค์ ซึ่งแต่เดิม พื้นที่วัดนาขอม ( ร้าง ) เคยเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ กำหนดอายุเก่าแก่จากศิวลึงค์ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ร่วมยุคสมัยกับโบราณสถานเขาคา และ กลุ่มโบราณสถาน ทางศาสนาพราหมณ์ ใน อ.สิชล ปัจจุบันอยู่ที่ โถงจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ดูภาพประกอบที่ ๔ ศิวลึงค์ วัดนาขอม ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย

๕. ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน จาก สวน ของ นายลิขิต เห็นจริง ม.๑๐ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์แกะสลักจากหิน พบในพื้นที่ ต.เสาเภา อ.สิชล ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันกับโบราณสถานเขาคา มีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ที่อยู่ในหอพระอิศวร จ.นครศรีธรรมราช อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓
ภาพประกอบที่ ๕ ศิวลึงค์ พบที่ ต.เสาเภา อ.สิชล ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺ

๖. ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน วัดนันทาราม ( วัดใต้ ) ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์จากวัดนันทาราม เป็นศิวลึงค์ที่มีสภาพดีอีกองค์หนึ่งของจังหวัดนครศรี ธรรมราช มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ มีข้อมูลที่มาของสถานที่ค้นพบอยู่สองกระแส กล่าวคือ
– จากข้อมูลของทางการ ระบุว่า เดิมพบที่ บ.ต่อเรือ ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
– จากการให้ข้อมูล โดย อ.จำรัส เพชรทับ ระบุว่า เดิมพบที่ วัดเจดีย์หลวง ต.ท่าใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ภายหลังมีการโยกย้ายศิวลึงค์ไปยังบ้านต่อเรือ แล้วจึงนำไปยัง วัดนันทาราม อ.ปากพนัง สถานที่เก็บรักษาในปัจจุบัน
ภาพประกอบที่ ๖ ศิวลึงค์จาก วัดนันทาราม ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย

๗. ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน จาก สุเหร่ากอจันทร์ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์ที่พบจากบ้านกอจันทร์ ( ปัจจุบันคือ มัสยิดนูรุลอิสลาม บ้านกอจันทร์ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ) เป็นศิวลึงค์ที่มีขนาดย่อม โดยปรากฎส่วนของรุทรภาคใหญ่กว่าส่วนวิษณุภาค และส่วนพรหมภาคอย่างชัดเจน กำหนดอายุไว้ราว พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ ซึ่งมีการค้นพบฐานโยนิโทรณะร่วมด้วย ในอดีตสถานที่แห่งนี้ คงจะเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์มาก่อน ปัจจุบัน จัดแสดงที่ ห้องศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ภาพประกอบที่ ๗ ศิวลึงค์ พบที่สุเหร่ากอจันทร์ ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย

๘. ศิวลึงค์ แกะสลักจากหิน จาก บ้านนายพริ้ง อาจหาญ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์องค์นี้ พบที่ บ้านนายพริ้ง อาจหาญ ม.9 ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรี ธรรมราช ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ศิวลึงค์ที่บ้านนายพริ้ง มีลักษณะใกล้เคียงกับศิวลึงค์ที่สุเหร่ากอจันทร์ กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ ปัจจุ บัน จัดแสดงที่ ห้องศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรี ธรรมราช
ภาพประกอบที่ ๘ ศิวลึงค์ พบที่ บ้านนายพริ้ง อาจหาญ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ภาพจาก FB กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

๙. กลุ่ม ศิวลึงค์ จาก หอพระอิศวร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
กลุ่มศิวลึงค์ ที่พบจากหอพระอิศวร – โบสถ์พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ที่มีการจัดแสดงอยู่ มีอยู่ทั้งหมด ๓ องค์ ดังนี้
– ศิวลึงค์ที่แกะสลักเป็นชิ้นเดียวกับฐานโยนิโทรณะ อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒
– ศิวลึงค์แกะสลักจากหิน ส่วนรุทรภาคโค้งคล้ายกับเกือกม้า ( ใกล้เคียงกับลักษณะของศิวลึงค์ทองคำที่ถ้ำทุ่งพลีเมือง ) อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
– ศิวลึงค์แกะสลักจากหิน ส่วนรุทรภาคสมมาตรกับส่วนวิษณุภาคและส่วนพรหมภาค อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑
ในปัจจุบัน ศิวลึงค์ทั้ง ๓ องค์ จัดแสดงที่ ห้องศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ภาพประกอบที่ ๙ ศิวลึงค์พร้อมฐานโยนิโทรณะ หอพระอิศวร ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย
ภาพประกอบที่ ๑๐ ศิวลึงค์ หอพระอิศวร ภาพจาก FB ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย
ภาพประกอบที่ ๑๑ ภาพศิวลึงค์ จากหอพระอิศวร จาก FB สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

๑๐. ศิวลึงค์ โบราณสถาน ฐานพระสยมภูวนารท ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ศิวลึงค์ ที่ฐานพระสยมภูวนารท สร้างตามคตินิยมในการสร้างศิวลึงค์ ที่จะมีพรหมภาค วิษณุภาค และรุทรภาคอยู่รวมกัน จากการขุดค้นโดย ดร.ควอริทซ์ เวลล์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ได้กำหนดอายุของศิวลึงค์ประจำฐานพระสยมภูวนารทไว้ใน พุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ศิวลึงค์ประจำฐานพระสยม ฯ แห่งนี้ อาจนำมาจากที่อื่น มาประกอบเข้ากับฐานโยนิโทรณะในคราวสถาปนาฐานพระสยม ฯ ขึ้นเป็นเทวาลัย ปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร
ภาพประกอบที่ ๑๒ ศิวลึงค์ ฐานพระสยมภูวนารท