ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

 

ทุกศาสตร์วิชา โบราณกล่าวว่าต้องทดสอบได้ ได้คือได้ ไม่ได้เพียงเพียรพยายามต่อไปจนสำเร็จตามหลักวิชา ก่อนจะนำออกมาให้ใครนำไปใช้เพื่อการใด ๆ

สีผึ้ง การสร้าง(หุง)ด้วยศาสตร์ทางวิชาอาคมและการทดสอบอิทธิคุณหลังเสร็จพิธี โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ถ้าหากกล่าวถึงหนึ่งในเครื่องประทินผิวที่มีมานาน นอกจากน้ำหอม แป้งหอม น้ำมันใส่ผม ที่มีการทำมายาวนาน จนนำไปต่อยอดเป็นเครื่อง สำอางค์ชนิดต่าง ๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบันแล้ว ก็ยังมี “ สีผึ้ง ” อีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นเครื่องสำอางค์มาตั้งแต่โบราณ โดยสีผึ้งในด้านของสุขภาพนั้น มีคุณประโยชน์ดังต่อไปนี้ คือ

๑. ใช้สีริมฝีปากให้ผลัดเซลล์ที่ตายออก บำรุงเซลล์ใหม่ให้ชุ่มชื้น
๒. ลดความคล้ำของริมฝีปาก และคงสภาพความแดงเอาไว้
๓. ใช้สีริมฝีปาก เพื่อป้องกันปากแห้ง
๔. นอกจากนี้ สีผึ้งยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่ช่วยทำให้มีเสน่ห์เย้ายวน

จากสรรพคุณเบื้องต้นทั้ง ๔ ข้อ ของสีผึ้ง จึงทำให้คนโบราณเสาะหาเอารังผึ้งมาเคี่ยวคัดเอาสิ่งสกปรกออก แล้วจึงผสมด้วยน้ำมันมะพร้าว น้ำมันหอมต่าง ๆ เพื่อทำเป็นเครื่องสำอางค์บำรุงปาก ถ้าเป็นสมัยนี้ สีผึ้งก็เท่ากับลิปสติก แต่สีผึ้งนั้นจะมีสีสันจากสิ่งที่ผสมลงไป และต่อมา ได้มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ ได้ผนวกเอาการเคี่ยวสีผึ้งเพื่อเป็นเครื่องประทินผิว กับความรู้ทางวิชาอาคม และ ความรู้ทางเวชศาสตร์ โหราศาสตร์ พิธีกรรมเข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นสูตรการสร้างสีผึ้งในรูปแบบต่าง ๆ สีผึ้งในทางอาคมนั้น มีการสร้างหลายสูตร แต่อานุภาพที่ตรงกัน คือ อานุภาพในด้านการเจรจาแล้วเป็นมหาเสน่ห์ เมตตามหานิยม ในบางครั้งนำไปเจรจาทำให้คนหายโกรธได้ ซึ่งกว่าที่สีผึ้งจะมีอานุภาพถึงเพียงนั้น ผู้ทำการกวนสีผึ้งในยุคโบราณ มักจะนิยมสรรหา วัสดุที่ถูกต้องตามตำรา นำมาใช้ในการหุงสีผึ้ง โดยหลัก ๆ ที่มีสูตรตรงกัน ก็จะประกอบไปด้วย

๑. รังผึ้งร้าง เป็นรังผึ้งที่ฝูงผึ้งทิ้งรังแล้ว ซึ่งรังผึ้งร้างนี้ โดยมากจะนิยมผึ้งหลวง ซึ่งการนำเอารังผึ้งร้างมาใช้ เพื่อความปลอดภัยส่วนหนี่ง และอีกส่วน ถือว่า เป็นการไม่เบียดเบียนสัตว์ เพราะนำเอาสิ่งที่ผึ้งทิ้งไว้ มาทำของดี

๒. ก้อนเส้า โดยมากจะนิยมใช้ก้อนหินขนาดใหญ่จากธรรมชาติ มาทำเป็นก้อนเส้า ถ้าให้ต้องตามตำราต้องใช้หินจาก ๓ ยอดเขา มาทำเป็นก้อนเส้า คติเอาเคล็ด ว่าสีผึ้งนี้ อยู่เหนือเขา ( ผู้คนทั้งหลาย ) แล้ว แต่ก็มีการทำสีผึ้งบางประเภท ที่ใช้กะโหลกของศพที่ตายผิดธรรมชาติ มาทำเป็นก้อนเส้ากวนสีผึ้ง ซึ่งวิธีหลังนี้ ถ้าคนกวนไม่มีคาถาแน่จริง อย่าทำโดยเด็ดขาด

๓. ภาชนะที่ใช้กวนสีผึ้ง เท่าที่ผู้เขียนค้นคว้าส่วนใหญ่ จะใช้ “ ขันสัมฤทธิ์ ” ในการหุง ซึ่งขันสัมฤทธิ์นั้น เป็นภาชนะที่เกิดจากการหลอมโลหะระหว่างทองแดงและดีบุก ซึ่งสาเหตุของการนำเอาขันสัมฤทธิ์มากวนเป็นสีผึ้งนั้น อาจมาจากภาชนะประเภทสำริด สามารถควบคุมอุณหภูมิความร้อนได้ดี จึงนิยมนำเอาขันสัมฤทธิ์ มาใช้ในการหุงสีผึ้ง

๔. ฟืนที่ใช้ในการกวนสีผึ้ง จะเป็นฟืนที่มาจากไม้มงคลทางด้านเมตตา เช่น ไม้รัก ไม้มะยม ไม้กาหลง ไม้ขนุน ไม้มะรุม ไม้คูณ ไม้สวาท เป็นต้น โดยการใส่ฟืนนั้น จะต้องมีการภาวนาคาถากำกับ และจะต้องใส่ฟืนเป็น มิฉะนั้น จะทำไฟแรงไป จนเกิดปัญหาในการกวนสีผึ้งได้

๕. ไม้พายกวนสีผึ้ง จะใช้ไม้มงคลทางด้านเมตตา หรือ ไม้ที่มีอานุภาพทางคติไสยมาทำเป็นไม้พาย เช่น กาฝากมงคล ๙ อย่าง หรือ บางสูตรก็ใช้ไม้พายแม่หม้ายก็มี และบางสูตรก็ไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสูตรสีผึ้งกำหนดมาอย่างไร

๖. สถานที่ในการหุง จะต้องเป็นสถานที่ ที่สงัด ไม่ใช้ที่ผู้คนพลุกพล่าน เช่น ป่าช้า ป่าเขา วัดร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ ๆ มีความสงบ ไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่มย่ามในยามวิกาล

๗. เวลาในการกวน โดยส่วนมากแล้ว การกวนสีผึ้งสูตรโบราณ จะใช้เวลากลางคืนในการกวน เพื่อสามารถที่จะควบคุมอุณหภูมิของสีผึ้งได้นั่นเอง

๘. สิ่งที่ผสมร่วมไปในสีผึ้ง โดยมาก จะเป็นว่านทางเมตตา ว่านทางเสน่ห์ น้ำหอมดอกไม้กลิ่นต่าง ๆ รวมถึง น้ำมันจากต้นจันทน์ น้ำมันจากต้นกฤษณา หรือ น้ำมันมะพร้าว ที่นำมาผสมให้บังเกิดเสน่ห์ และมีกลิ่นหอม

ฤกษ์ยามที่ใช้ในการกวนสีผึ้ง โดยมากจะนิยมฤกษ์ที่เกี่ยวกับทางเสน่ห์ เมตตา หรือ ค้าขาย เช่น มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ เป็นต้น และวันที่ใช้กวนสีผึ้ง มักจะนิยมวันอ่อน ( คือวันที่มีคุณทางเสน่ห์ ) เช่น วันจันทร์ วันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ เป็นต้น ซึ่งกรรมวิธีการทำสีผึ้งนั้น แต่ละสูตรจะมีเคล็ดลับที่แตกต่างกันออกไป บางสูตรให้นำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นรูปหญิงชายกอดกันแล้วนำมาหุง บางสูตรให้นำขี้ผึ้งมาลงยันต์แล้วหุง บางสูตรให้นำขี้ผึ้งจากรังผึ้งที่ลักษณะเข้า ตำรา เช่น รังผึ้งขวางตะวัง รังผึ้งเกาะหน้าบันพระอุโบสถ หรือ ขี้ผึ้งที่ใช้แผ่ปิดหน้าศพคนตายผิดธรรมชาติ นำมาหุงเป็นสีผึ้ง ซึ่งกรรมวิธีการหุง โดยย่นย่อแล้วจะเริ่มจากการขอพื้นที่จากเจ้าที่เจ้าทาง แล้วไหว้ครู เชิญครู ป้องกันตนและวางอาณาเขตให้เสร็จสรรพ จากนั้นจึงลงยันต์ที่ก้อนเส้า ลงยันต์ที่ขันสัมฤทธิ์ ลงยันต์ที่ไม้พายกล่าวคาถาจุดไฟ จากนั้นก็นำเอาขี้ผึ้งใส่ในขันสัมฤทธิ์ เคี่ยวขี้ผึ้งให้ละลาย ในระหว่างที่กวนสีผึ้ง เจ้าพิธีจะสวดมนต์ คาถาและโองการด้านเสน่ห์เมตตากำกับตลอดการกวน เมื่อกวนจนสีผึ้งเหลวหมดแล้ว เจ้าพิธีจะนำเอาส่วนผสมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน น้ำหอม หรือ ว่านต่าง ๆ นำมาผสมในสีผึ้งทีละอย่างจนครบหมดสิ้น และจะกวนไปจนกว่าจะถึงเช้า หลังจากที่ทำการดับไฟเสร็จแล้ว เจ้าพิธีผู้หุงก็จะนำสีผึ้งไปเก็บไว้ในที่สมควร แล้วปลุกเสกจนเห็นสมควร จึงแจกให้แก่ผู้นับถือนำไปใช้

นี่คือกรรมวิธีการกวนสีผึ้งอย่างคร่าว ๆ แต่ก็มีบางสูตรที่พิศดารมากกว่านั้น คือให้หุงด้วยไฟ ๓ ชนิด คือหุงด้วยไฟปกติ หุงด้วยไฟกสิน และ หุงด้วยแสงอาทิตย์ หรือ บางสูตร เมื่อหุงเสร็จแล้ว ให้ก่อไฟทิ้งไว้ในป่าช้า แล้วเชิญผีสางในป่าช้าให้มาหุงเอง หรือ บางสูตร ให้หุงตอนที่กำลังเกิดจันทคราส เป็นต้น ซึ่งสูตรของการทำสีผึ้งนั้น จะแตกต่างไปตามครูอาจารย์ที่ได้รจนากำหนดสูตรขึ้นมา สีผึ้งบางสูตร มีอานุภาพทำให้รอดพ้นจากราชภัย สีผึ้งบางสูตร ทำให้คนหายเกลียดหายโกรธกันก็มี และสีผึ้งบางสูตร ทำได้ถึงขั้นเพียงแค่ป้ายโดนตัวคน ทำให้คนถูกป้ายหลงไหล ยอมเป็นคู่ผัวตัวเมียเลยก็มี

สำหรับวิธีการใช้สีผึ้ง โดยปกติแล้ว จะใช้ปลายนิ้วชี้จิ้มไปในตลับ แล้วขยี้กับหัวแม่มือ จากนั้นจึงลูบจากขอบศูนย์ปากด้านบน ลงมายังขอบศูนย์ปากด้านล่าง จะไม่ลูบสีผึ้งในร่องศูนย์ปากเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาคมในสีผึ้งอ่อนกำลังลง ซึ่งสีผึ้งบางสูตรเอง ก็มีวิธีการใช้ด้วยปลายนิ้วมือต่าง ๆ ดังนี้

๑. ปลายนิ้วโป้ง ใช้สีปากเมื่อเข้าหาครูบาอาจารย์ ผู้ที่น่าเคารพนับถือ
๒. ปลายนิ้วชี้ ใช้สีปากเมื่อเข้าหาเจ้านาย
๓. ปลายนิ้วกลาง ใช้สีปากเมื่อเข้าหาคนวัยเดียวกัน
๔. ปลายนิ้วนาง ใช้สีปากเมื่อเข้าหาญาติ
๕. ปลายนิ้วก้อย ใช้สีปากเมื่อเข้าหาคนที่อ่อนวัยกว่า

แต่บางสูตรก็ไม่ได้บังคับใช้ กล่าวคือ จะใช้นิ้วไหนก็ได้เมื่อจะสีผึ้งทาปาก ถือว่า สีผึ้งมีคุณด้านเมตตาอยู่แล้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่คนใช้ ว่าจะสามารถนำของดีไปใช้ได้หรือไม่

วิชาการทำสีผึ้งอาคมของคนโบราณเอง ก่อนที่จะนำมาใช้นั้น ย่อมต้องมีการ “ ทดสอบ ” เมื่อปลุกเสกเสร็จเสมอ เพื่อพิสูจน์ผลของการทำพิธี และเพื่อตรวจสอบว่าสีผึ้งมีอิทธิคุณในระดับไหน โบราณาจารย์ จึงได้กำหนดวิธีทดสอบสีผึ้งไว้ ดังต่อไปนี้

๑. นำเอาสีผึ้งทาหมา กับ แมว นำหมากับแมวมาไว้ในกรงเดียวกัน ถ้าหมากับแมวอยู่กันได้ คลอเคลียเลียหัว ถูตัวกันไปมา แสดงว่าสีผึ้งที่กวนมานี้ ผ่านในระดับแรก

๒. นำเอาสีผึ้งทาแมว กับ หนู นำแมวกับหนูที่ป้ายสีผึ้งมาไว้ในกรงเดียวกัน ถ้าหนูกับแมวอยู่ด้วยกันได้ ไม่ฟัด หรือไม่รบรากัน แสดงว่าสีผึ้งนี้มีพลังเมตตาในระดับหนึ่ง

๓. นำเอาปูนขาวมาทาในฝ่ามือด้านหนึ่ง นำเอาขมิ้นมาตำแล้วทาในฝ่ามืออีกด้านหนึ่ง เอาสีผึ้งป้ายลงที่ปูนและขมิ้น เมื่อประกบมือกันแล้ว ขมิ้นกับปูน ต้องยังคงมีสีคงเดิม ( ถ้าขมิ้นถูกกับปูนขาวจะกลายเป็นสีแดง )

๔. นำเอามะนาวมาผ่าซีก แล้วเอาสีผึ้งป้ายบนผิวมะนาวที่โดนตัด จากนั้นบีบคั้นเอาน้ำมะนาวมาชิม ถ้าน้ำมะนาวเปลี่ยนรส จากรสเปรี้ยวเป็นรสหวานได้แล้ว จะถือว่าสีผึ้งนั้นมีพลังเมตตาที่สามารถพกพาได้

ซึ่งการทดสอบสีผึ้งดังกล่าวเป็นวิธีการทดสอบที่มีมาแต่โบราณ ท่านที่มีสีผึ้งของสำนักต่าง ๆ ลองเอามาทดสอบตามวิธีเหล่านี้ดู อาจทดสอบโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ถ้าหากได้ผลถูกต้องตามกรรมวิธีแล้ว ก็จะสามารถนำเอาสีผึ้งมาใช้งานจริงได้เลย