ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

พิธีวางศิลาฤกษ์ เป็นพิธีที่นิยมกระทำเมื่อมีการก่อสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เป็นที่สาธารณะ หรือ ชนหมู่มากใช้สอย อยู่ร่วมอาศัย เช่น ศาลาการเปรียญ , อุโบสถ , โรงเรียน , อาคารศูนย์ราชการ , หอประชุมเทศบาล ฯลฯ หรือ เป็นอาคารที่สำคัญในระดับบ้านเมือง เช่น พระราชวัง , รัฐสภา , สนามบิน , อนุสาวรีย์บุคคสำคัญ ฯลฯ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก จะนิยมการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อประกาศถึงการก่อสร้างสถานที่สำคัญนั้น ๆ อย่างเป็นทางการ และให้การดำเนินงาน เป็นไปโดยราบรื่น โดยอาศัยอานุภาพแห่งฤกษ์บนฟากฟ้า ที่อำนวยศุภผลให้แก่การกระทำกิจการ ส่วนมากแล้ว การวางศิลาฤกษ์ มักจะวางดวงใน ภูมิปาโลฤกษ์ อันเป็นฤกษ์มั่นคงแก่การแผ่นดิน ให้สิ่งก่อสร้างนั้น คงอยู่ไปอย่างยาวนาน

การวางศิลาฤกษ์ มีมาตั้งแต่สมัยใดไม่แจ้งชัด สันนิษฐานว่า แต่เดิมแล้ว คงจะมาจากการสร้างเทวสถานของเหล่าพราหมณ์ ที่จะมีการนำ แผ่นทองคำ อัญมณี และของมีค่าต่าง ๆ ใส่ในช่องหิน ก่อนที่จะสร้างเทวาลัย เพื่อเป็นการสถาปนามณฑลในจุดนั้น ให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในยุคสมัยต่อมา ไม่ปรากฎการวางศิลาฤกษ์ที่ชัดเจนเหมือนกับการยกเสาเอก มีอย่างชัดเจนอีกที ก็ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางศิลาฤกษ์สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อครั้งทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปี ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจเป็นต้นแบบ ของการวางศิลาฤกษ์ในยุคสมัยปัจจุบัน

องค์ประกอบในการวางศิลาฤกษ์ เปรียบเสมือนกับได้สร้างบ้านขึ้นมาอย่างจำลอง โดยมีความหมาย ในองค์ประกอบแต่ละอย่าง ดังนี้คือ

๑. ไม้มงคล ๙ ชนิด ที่ตอกลงก่อนนั้น เทียบได้กับ “ งานฐานราก ” ของการสร้างอาคารจริง ซึ่งไม้ที่ใช้ตอก ประกอบด้วยไม้ ชัยพฤกษ์ , ราชพฤกษ์ , กันเกรา , ทรงบาดาล , ขนุน , ทองหลาง , พยุง , สักทอง และ ไผ่ศรีสุข เป็นเคล็ดในการอวยพรว่า ให้มีโชคชัย มีคนช่วยหนุนเนืองงาน การงานต่าง ๆ จงประสบความสุข ความสำเร็จได้ด้วยดี

๒. อิฐ ๙ ก้อน ที่วางทับบนเสาเข็มนั้น เทียบได้กับ “ งานก่อผนัง สร้างอาคาร ” ของการสร้างอาคารจริง ซึ่งอิฐที่ใช้ เป็นอิฐชุบสีทอง สีเงิน สีนาก ให้อาคารสถานที่แห่งนั้น มั่งมีเงินทอง สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกประการ

๓. แผ่นโลหะ ทอง – เงิน – นาก ลงยันต์ เทียบได้กับ “ งานมุงหลังคา ” ของการก่อสร้างอาคารจริง แผ่นโลหะแต่ละชนิด จะมียันต์ที่ลงแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะให้อิทธิคุณในด้านการปกป้องคุ้มครองสรรพภัยทั้งปวง

๔. อัญมณีทั้ง ๙ ชนิด ( นพรัตน์ ) เทียบได้กับ “ แสงสีแห่งจักรวาล ” จากดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ที่จะคุ้มครองสถานที่แห่งนั้นไปตลอดกาลนาน

๕. เบี้ยจั่น – เบี้ยแก้ เทียบได้กับ “ ทรัพย์สินเงินทอง ” เพราะเงินตราในสมัยก่อน นอกจากเหรียญโลหะแล้ว ยังนิยมใช้ “ หอย ” ในการแลกเปลี่ยน และหอยจั่นเอง ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ “ พระลักษมี ” พระมหาเทวีแห่งโภคทรัพย์ ส่วนเบี้ยแก้นั้น เปรียบได้กับ “ พระนารายณ์ ” พระมหาเทพผู้ปราบภัยทั้งปวง

๖. ปวงธัญพืชทั้งหลาย ทั้งรวงข้าว , ถั่ว , งา ชนิดต่าง ๆ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่แห่งนั้น ว่าจะไม่ขาดแคลนซึ่งธัญญาหารที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค

๗. ข้าวตอกดอกไม้ที่ใช้ในการโปรย คือการอวยพรจากปวงเทพยดา ว่าสถานที่แห่งนี้ จะได้รับพรอันเป็นสิริมงคลจากฤกษ์ จากปวงเทพเจ้า และ จากการร่วมแรงร่วมใจของมหาชน ว่าจะมีความคงทนถาวรสืบไป

๘. แผ่นศิลาฤกษ์ สันนิษฐานว่าแต่เดิม คงจะเขียนฤกษ์ลงในแผ่นโลหะแล้วบรรจุรวมกับสิ่งของมงคลอื่น ๆ พอมาภายหลัง ได้มีการจารึกดวงฤกษ์การวางไว้ในแผ่นหินอ่อน เพื่อให้เป็นที่ทราบแน่ชัดของผู้เข้าร่วมพิธี

๙. เครื่องหอมแป้งเจิม และทองคำเปลว คือการเจิม ปิดทอง เพื่อให้ทราบแก่ผู้ร่วมพิธี ว่าการวางศิลาฤกษ์ได้ครบถ้วน เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์แล้ว

ขั้นตอนพิธีกรรมในการวางศิลาฤกษ์ จะเริ่มจาก พราหมณ์พร้อมคณะ บวงสรวงเทวดาบูชาพระฤกษ์ อัญเชิญเทพเจ้าผู้รักษาบาทฤกษ์ลงมาประสิทธิให้แก่ พิธีกรรม จากนั้นจึงเป็นการวางศิลาฤกษ์ เริ่มจากการตอกเสาเข็มไม้มงคลทั้ง ๙ ตามด้วยการวางอิฐ วางแผ่นยันต์ วางตลับนพรัตน์ ใส่เบี้ยหอย และ โปรยธัญพืช จากนั้นจึงวางแผ่นศิลาฤกษ์ปิดทับ ในขณะเดียวกัน คณะพราหมณ์จะลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ ไกวบัณเฑาะว์ เพื่อให้สัญญาณ สุดท้าย จึงเจิมแป้งหอม น้ำมันจันทน์ ประพรมน้ำอบ ปิดทองคำเปลว โปรยข้าวตอกดอกไม้ เป็นอันเสร็จพิธี