ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ถอดรหัส “ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ” คือสิ่งใด ? ในโนรา
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

โนรา นาฎยะเอกของภาคใต้ การแสดงที่เกี่ยวพันผู้คนเข้ากับประเพณี วัฒนธรรม ระบบเครือญาติและการสืบทอดสายเลือด ตลอดจนสรรพศาสตร์ลี้ลับที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโนรา ทำให้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า “ โนรา ” เป็นสิ่งที่ชาวใต้ให้ความเคารพ ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยข้อสงสัยที่หลาย ๆ คน ปล่อยให้มันดำมืดเลือกเก็บความสงสัยเหล่านั้นไว้และหนึ่งในข้อสงสัยอีกข้อหนึ่งคือเรื่อง “ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ”

๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( หัวเชือก ) คืออะไร ? สิ่งนี้มีคำตอบแบบแผนสำเร็จที่แตกต่างกันไป บ้างก็บอกว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก คือ คณะครูหมอโนราประจำบ้าน บ้างก็ให้ความหมายว่าเป็นคณะครูหมอโนราที่ให้กำเนิดโนรา บ้างก็ตีความว่า คือคณะครูหมอโนราที่ประกอบไปด้วย ชาย ๖ คน หญิง ๖ คน ความสำคัญของ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียกนี้ บางท่านนิยมเอ่ยไปพร้อมกับชื่อครูหมอโนรา บางท่านก็เอ่ยก่อนที่จะกล่าวชื่อครูหมอโนราด้วยซ้ำ ซึ่งนาม ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก มีปรากฏในบทกาศครูโนราอยู่ ดังนี้

“ สิบสองหัวช้างสิบสามหัวเชียก
จำให้พ่อร้องเรียกหา
ถ้าพ่อไม่มา ลูกยาจะเห็นหน้าใคร
เห็นแต่หน้าท่านผู้อื่น
ความชื่นลูกยามาแต่ไหน
ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร
เหมือนใยราชครูถ้วนหน้า ”

และเมื่อจะทำพิธีใด ๆ ก็ตาม ในทางโนรา ราชครูโนรา หรือ โนราใหญ่ จะประกาศอาราธนาครูหมอโนรา ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก เป็นสำคัญเสมอ อาจกล่าวได้ว่าครูหมอทั้ง ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก เป็นกลุ่มครูหมอโนราที่สำคัญที่สุด เป็นกลุ่มครูหมอที่อยู่เหนือกว่าทุกครูหมอ

หากพิจารณาจากคำ จะพบว่า “ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ” มีความสำคัญ จำแนกได้คือ

“๑๒ หัวช้าง” หมายถึงบุคคลสำคัญที่สามารถอยู่บนช้าง ในสมัยอดีตช้างเป็นสัตว์พาหนะที่สำคัญ ผู้ที่สามารถขี่ช้างออกไปทำการสำคัญเพื่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสงคราม หรือ การปกครอง ย่อมต้องเป็นบุคคลสำคัญระดับผู้นำของบ้านเมือง ย่อมไม่ใช่ขุนนางสามัญหรือข้ารับใช้ในราชสำนักอย่างแน่นอน ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาผู้ที่ทำสงครามบนหลังช้างล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ในระดับเจ้าเมืองหรือเสนาบดีหรือผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญในอาณาจักรทั้งสิ้น ดังนั้นแล้ว ครูหมอโนราที่จะเป็น “ ๑๒ หัวช้าง ” ต้องเป็นครูหมอโนราที่มียศฐาศักดิ์ในระดับสูง และครูหมอโนราที่เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสำคัญ ๑๒ พระองค์ ที่เหล่าโนราให้ความเคารพนับถือ

“๑๓ หัวเชียก” คำว่าหัวเชียกหรือหัวเชือก ชาวใต้ใช้เปรียบเปรยหรือใช้แทนกับการสืบสายตระกูล ในบางพื้นที่เรียกการนับญาติว่าเป็นการ “สาวย่าน” คำว่า ๑๓ หัวเชียก (หัวเชือก ) หมายถึงครูหมอโนราสำคัญ ๑๓ องค์ที่เป็นต้นตระกูลโนราในปัจจุบัน แต่อีกนัยยะหนึ่ง คำว่า ๑๓ หัวเชียก ( หัวเชือก ) ยังสามารถตีความได้ ถึงโครงข่ายโนราที่อยู่ในหัวเมืองทะเลใต้ที่สำคัญ ๑๓ หัวเมือง ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร จะได้อธิบายในเนื้อหาของบทความอีกนัยยะแห่งคำว่า “ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ”

หากมุมหนึ่ง เมื่อพิจารณาว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก (เชือก) ย่อมวิเคราะห์ได้ว่า ๑๒ หัวช้าง เป็นพระญาติวงศ์ของเจ้าพญาสายฟ้าฟาด (กษัตริย์องค์ปฐมแห่งเมืองเวียงบางแก้ว) ทั้ง๑๒ พระองค์ ที่ปกครองเมืองที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ๑๓ เมือง (๑๓ ในที่นี้ นับรวมเจ้าพญาสายฟ้าฟาดด้วย) ซึ่งในมุมมองนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับระบบการปกครองของศรีวิชัยในอดีตที่มีการคัดเลือก “มหาราช” ขึ้นมาจาก ๑ ในเหล่าพระราชาผู้ปกครองในดินแดนทะเลใต้และเมืองสำคัญของศรีวิชัยในอดีต ก็มีบ้านเมืองอยู่ ๑๒ เมือง หากรวมเมืองเวียงบางแก้วที่เจ้าพญาสายฟ้าฟาดทรงปกครองและจุดกำเนิดของโนราด้วยแล้ว ก็จะกลาย เป็น ๑๓ เมือง หรือ ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) พอดี

๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) มาจากสิ่งใด
เป็นที่น่าแปลกใจประการหนึ่ง หากลองตริตรองในหลาย ๆ สิ่งที่เกี่ยวกับโนราแล้ว จะพบว่า เลข ๑๒ ค่อนข้างจะมีอิทธิพลกับโนราอยู่มากพอควร เช่น ท่ารำท่าครู ๑๒ ท่า ท่ารำท่าเทวดา ๑๒ ท่า บทกำพรัดหลัก ๑๒ บท บทละคร ๑๒ บท สำหรับ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดโดยไม่มีที่มาที่ไป หรือ ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างลอย ๆ โดยไม่มีรากฐานอะไร หากจะถามว่าจำนวนเลข ๑๒ ของ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) มาจากสิ่งใด ข้อสันนิษฐานที่น่าจะใกล้เคียงในที่มาของ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ได้มากที่สุดคือ

๑. ระบบการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยในยุคโบราณกาล
หากเปรียบ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) เข้ากับการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย อาจมีเค้าลางความเป็นไปได้ ที่บุคคลสำคัญกับโนรา ๑๒ คน ที่เป็นกำลังในการเผยแพร่โนราไปยังหัวเมืองโดยรอบ ๑๒ หัวเมือง (ไม่รวมเวียงบางแก้วที่เป็นจุดกำเนิด) ซึ่งการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น ใช้ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ คือ แต่ละนครรัฐ มีพระราชาเป็นของตนและมีพระราชา ๑ พระองค์ ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของเหล่าพระราชา เรียกตำแหน่งนี้ว่า “มหาราช” มหาราชจะเป็นผู้ปกครองสูงสุดในมวลอาณาจักรทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันระบบการปกครองแบบนี้มีหลงเหลืออยู่ในประเทศมาเลเซีย ที่สุลต่านแต่ละรัฐที่เปรียบได้กับพระราชาจะทำการเลือกพระราชาธิบดีสูงสุดในการเป็นผู้นำของเหล่าสุลต่านทั้งหมด ซึ่งการรวมตัวของนครรัฐในดินแดนทะเลใต้นั้นปรากฏอยู่ใน “ บันทึกการปฏิบัติธรรมในอินเดีย และ หมู่เกาะทะเลใต้ ” ของหลวงจีนอี้จิง ที่ได้มาพำนักในอาณาจักรศรีวิชัย ได้กล่าวถึงรัฐทั้ง ๑๐ ในอาณาจักรศรีวิชัย เอาไว้ในบันทึกว่า

“ ประเทศกิมจิว เนื่องจากในดินแดนแห่งนี้ มีทองคำใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ราษฎรชอบทำดอกบัวด้วยทองคำถวายพระพุทธรูปและสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำกันมากบ้านเมืองเหล่านี้ประกอบด้วยรัฐเล็ก ๆ มีพระราชาของตนเอง เป็นผู้ปกครองอย่างอิสระอยู่ประมาณ ๑๐ รัฐ แต่มีพระราชาอีกพระองค์หนึ่งเป็นประมุข เมืองหลวงของประเทศทั้ง ๑๐ มีชื่อว่า “ เมืองโฟ – ชิ ” ”

และในบันทึกของนักเดินเรือชาวอาหรับชื่อ “ อิบู ฮอร์ดาชบีห์ ” ที่เดินทางเข้ามาในศรีวิชัยในระหว่าง พ.ศ. ๑๓๘๙ – พ.ศ. ๑๓๙๒ ได้กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองของศรีวิชัยว่า

“ มหาราชแห่งซาบาก เป็นเจ้าของหมู่เกาะทั่งมวลในทะเลจีนใต้ อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก ดินแดนเหล่านี้มีพระราชาปกครอง แต่ขึ้นอยู่กับมหาราชอาณาจักรของท่านมหาราชมีพลเมืองและทหารมากมายเหลือจะพรรณนา ถ้าหากจะเดินทางให้เร็วที่สุด ไปให้ทั่วทุกเกาะที่มีพลเมืองอยู่แล้ว แม้เดินทางอยู่ ๒ ปีก็ยังไม่ทั่วดินแดน ”

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานในบันทึกของพ่อค้าชาวอาหรับอีกท่าน ชื่อ อาบู เชค ฮัสซัน ได้กล่าวถึงผู้ปกครองและอาณาเขตของอาณาจักรศรีวิชัยไว้ ความว่า

“ พระราชาแห่งนครนี้มีฐานันดรศักดิ์เป็นมหาราช เนื้อที่ของประเทศมี ๙๕๐ ปาราซังส์ พระราชามีอำนาจเหนือหมู่เกาะจำนวนมาก ซึ่งแผ่กว้างออกไปประมาณ ๑,๐๐๐ ปาราซังส์ หรือ มากกว่านั้น ในบรรดารัฐที่พระองค์ครอบครองมีรัฐศรีบูซา ซึ่งมีเนื้อที่ราว ๔๐๐ ปาราซังก์ และเกาะที่มีชื่อว่า รามี เนื้อที่อยู่ประมาณ ๘๐๐ ปาราซังก์ รัฐกาลาห์ ซึ่งอยู่ชายทะเลและอยู่ครึ่งทางระหว่างประเทศอาหรับกับประเทศจีนก็รวมอยู่ในอาณาเขตของมหาราชด้วย พื้นที่ของรัฐกาลาห์มี ๘๐ ปาราซังส์ เมืองกาลาห์ เป็นศูนย์กลางสำคัญสุดของสินค้าจำพวกยาดำ การบูร ไม้จันทน์ งาช้าง ดีบุก ไม้เนื้อแข็งสีดำ เครื่องเทศและสิ่งอื่น ๆ มีเรือแล่นไปมาระหว่างเมืองท่าเรือกับอ่าวโอมาน ”

ถึงแม้บันทึกเกี่ยวกับศรีวิชัย จะมีบันทึกเกี่ยวกับหัวเมืองในการปกครองอยู่ไม่มากโดยหลักแล้ว มีบันทึกอยู่ในจดหมายของหลวงจีนอี้จิง หากอนุมานโดยรวมจะพบว่าอาณาเขตของสหพันธรัฐ หรือ กลุ่มนครรัฐของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น จะมีอาณาเขตตั้งแต่คอคอดกระ ลงไปจนถึงเกาะชวากลาง โดยรวมเอานครรัฐต่าง ๆ อันเป็นเมืองท่าสำคัญเข้าไว้ด้วยกัน

แต่สิ่งที่บันทึกทั้งของหลวงจีนอี้จิง และ บันทึกของพ่อค้าชาวอาหรับจารึกตรงกัน คือเรื่องระบบการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีมหาราชสูงสุด ๑ พระองค์ ทำหน้าที่เป็นพระประมุขของเหล่าพระราชาที่รวมกันอยู่ภายใต้ราชอาณาจักร ซึ่งตำแหน่งมหาราชของศรีวิชัยนั้นจะได้มาจาก

การเลือกกันในหมู่พระราชาเพื่อเป็นผู้ออกนโยบายและผู้ตัดสินใจในกิจการสำคัญของอาณาจักร

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ตำแหน่งครูหมอโนรา ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) จะจำลองเอาระบบการปกครองของศรีวิชัยในบรรพกาลมาเป็นต้นแบบ โดยมีครูหมอสูงสุด ๑ องค์ และครูหมอชั้นสูงอีก ๑๓ พระองค์เป็นบริวาร ซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์ของครูหมอเหล่านี้ มีอำนาจสามารถตัดสินชี้นำให้แก่ลูกหลานเชื้อสายโนรา หรือแม้กระทั่งในหมู่ครูหมอโนราด้วยกันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และด้วยความสำคัญของตำแหน่ง ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ที่โนราแทบทุกคณะจะต้องเอ่ยทุกครั้งเมื่อทำพิธีกรรม ในขั้นต้นสันนิษฐานว่า กลุ่มครูหมอโนราทั้งเป็น ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก (เชือก) จะต้องเป็นบุคคลสำคัญ ที่มีบรรดาศักดิ์ในระดับท้าวพญาผู้ครองบ้านนั่งเมืองเป็นอย่างน้อย โดยมีต้นแบบของกลุ่มครูหมอนำมาใช้นั้น อาจเป็นเรื่องของระบบการปกครอง ที่แบ่งกันทำหน้าที่ในการดูแลลูกหลาน และเพื่อธำรงรักษาลูกหลานเชื้อสายโนราให้คงอยู่ แต่ระบบการปกครองนั้นจะเป็นต้นแบบของ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) หรือไม่ ยังมีอีกข้อที่น่าพิจารณา

๒. คติการนับถือพระสุริยเทพ ๑๒ พระองค์
พระเป็นเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับการสถาปนาเป็นนิกายนั้นประกอบไปด้วย ๕ นิกาย ประกอบด้วย ไศวะนิกาย ที่นับถือพระศิวะสูงสุด ไวษณพนิกาย ที่นับถือพระวิษณุสูงสุด ศักตินิกาย ที่นับถือพระเทวีปราศักติสูงสุด คณะพัทยะนิกาย ที่นับถือพระพิฆเนศสูงสุด และ “ เสาระนิกาย ” หรือ นิกายที่นับถือพระสุริยเทพเป็นประมุขสูงสุด ซึ่งในภาคใต้เอง ก็มีการค้นพบเทวรูปพระสุริยเทพแกะสลักจากหิน ที่วัดศาลาทึง ( วัดชยาราม ) ม.๑ ต.ตลาด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเทวรูปสุริยเทพศิลปะโจฬะในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ และเทวรูปพระสุริยเทพสำริด ศิลปะปาละ อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ พบที่เนินโบราณสถานหมายเลข ๒๙ บ้านกูวิง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สันนิษฐานว่าการนับถือสุริยเทพคงมีอยู่ในภาคใต้ แต่ไม่ได้มีอิทธิพลมากเท่ากับไศวะนิกาย และไวษณพนิกาย

ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่คติความเชื่อเรื่องสุริยเทพก็มีแทรกปะปนอยู่ในศรีวิชัยอยู่บ้าง เช่น พระนามพระมหากษัตริย์ของศรีวิชัยบางพระองค์ เช่น พระเจ้าสูรยนารายณ์ พระเจ้าจันทรภาณุ รวมถึงในทางโนราเอง ก็มีบทที่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์อยู่ ได้แก่บทตั้งบ้านตั้งเมือง ( ท้าวอาทิตย์ภูธร ) และบทกำพรัดแสงทอง ซึ่งกล่าวถึงการขึ้นและลงของดวงอาทิตย์ คติของพระสุริยเทพที่สอดคล้องกับ คติ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) นั้น คือ คติพระสุริยเทพทั้ง ๑๒ พระองค์ ที่ได้ปกครอง ๑๒ ราศี ตามคติพราหมณ์ ได้แก่

๑. พระธาตฤ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนไจตระ ตรงกับเดือนจิตตะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๕ ในจันทรคติไทย
๒. พระอรรยะมัน พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนไวศาขะ ตรงกับเดือนวิสาขะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๖ ในจันทรคติไทย
๓. พระมิตร พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนชเยษฐะ ตรงกับเดือนเชฎฐะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๗ ในจันทรคติไทย
๔. พระวรุณ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนอาษาฒะ ตรงกับเดือนอาสาฬหะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๘ ในจันทรคติไทย
๕. พระอินทร์ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนศรวะณะ ตรงกับเดือนสาวนะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๙ ในจันทรคติไทย
๖. พระวิวัสวาน พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนภัทรปาทะ ตรงกับเดือนภัททะปาทะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๑๐ ในจันทรคติไทย
๗. พระตวัษฎา พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนอัศวินะ ตรงกับเดือนอัสสะยุชะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๑๑ ในจันทรคติไทย
๘. พระวิษณุ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนการติกะ ตรงกับเดือนกัตติกะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๑๒ ในจันทรคติไทย
๙. พระอัมศุมัน พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนมฤคะศิรษะ ตรงกับเดือนมิคะสิระมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือนอ้าย ( เดือน ๑ ) ในจันทรคติไทย
๑๐. พระภคะ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนเปาศะ / ปุษยะ ตรงกับเดือนปุสสะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือนยี่ ( เดือน ๒ ) ในจันทรคติไทย
๑๑. พระปูษัณ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนมฆะ ตรงกับเดือนมาฆะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๓ ในจันทรคติไทย
๑๒. พระปรรชันยะ พระอาทิตย์ปกครองประจำเดือนผลคุณะ / ผาลคุณะ ตรงกับเดือนผัดคุณนะมาสทางพุทธศาสนา และตรงกับเดือน ๔ ในจันทรคติไทย ( ภาคบาลีไทย เรียกพระปรรชันยะ ว่า ปัชชุนนะเทพ นับถือว่าเป็นเทพแห่งการบันดาลฝนฟ้าอีกพระองค์หนึ่ง )

ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการตั้งระบบ ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชือก จะมาจากคติการนับถือพระสุริยเทพ หรือ พระอาทิตย์ทั้ง ๑๒ เดือน ที่ผลัดเปลี่ยนกันส่องแสงสว่างเข้ามายังโลก หากเปรียบกับคณะครูหมอโนรา เปรียบได้กับคณะครูหมอที่มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลลูกหลาน ดูแลเชื้อสายไม่ให้ขาดตอน

๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) กับความเป็นไปได้
หากจะตีความในด้านความเป็นไปได้ ว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) น่าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนก็ขอลองนำรายชื่อครูหมอโนราที่มียศถาบรรดาศักดิ์ในระดับสูง ที่เป็นกลุ่มชนชั้นปกครองทั้งหมด มาเรียบเรียงเป็นลำดับกัน ๑๒ หัวช้าง ก็จะได้ดังนี้

๑. เจ้าพญาสายฟ้าฟาด พระราชาผู้ปกครองสูงสุด
๒. พระแม่ศรีมาลา พระมเหสี
๓. พระนางนวลทองสำลี มารดาของโนรา
๔. ขุนศรีศรัทธาองค์ต้น โนรา และ ราชครูโนรา คนแรก
๕. พญาโถมน้ำ
๖. พญาลุยไฟ
๗. พญามือเหล็ก
๘. พญามือไฟ
๙. ขุนโหรพญาโหร
๑๐. ขุนพรานพญาพราน
๑๑. พญาหงส์ทอง
๑๒. พญาหงส์เหมราช

ถ้าพิจารณาจากการเรียงลำดับขั้นต้น จะพบว่ากลุ่มครูต้นผู้ให้กำเนิดโนราและกลุ่มขุนนางในระดับชั้น “ พญา ” ที่อยู่ในลำดับทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นครูหมอโนราที่มีบรรดาศักดิ์ในระดับต้น ๆ ของเมือง เหมาะสมกับความสำคัญในระดับ “ หัวช้าง ” ถือเป็นบุคคลที่เป็นผู้นำของหมู่ชน ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า ครูหมอที่อยู่ในลำดับชื่อเหล่านี้ เป็นบุคคลสำคัญ และมีตำแหน่งที่สูง สามารถบังคับบัญชา บริหารความเป็นไปของบ้านเมือง แตกต่างจากกลุ่มครูหมอโดยทั่วไป เช่น ตาหลวงนาย ตาหมอเฒ่า ตาขุนแก้ว แม่แขนอ่อน แม่เมาคลื่น ฯลฯ ที่มักจะเป็นขุนนางในระดับข้ารับใช้ในราชสำนัก ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ และกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง เป็นเพียงข้าราชบริพารที่ทำตามดำริของคณะครูหมอโนราทั้ง ๑๒ พระองค์

เมื่อได้กล่าวถึงสมมติฐานของคำว่า ๑๒ หัวช้างไปแล้ว ถัดไป คำว่า “๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ” คืออะไร ? ผู้เขียนก็ขอนำเสนอว่า ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) คือ เครือข่ายโนราที่ไปลงหลักปักฐานในหัวเมืองต่าง ๆ ภายในอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อครั้งบรรพกาล หลังจากที่ขุนศรีศรัทธาได้ฝึกหัดลูกศิษย์ไว้มากพอสมควรแล้ว ได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ไปยังบ้านเมืองที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ด้วย เมื่อโนราที่เป็นลูกศิษย์ของขุนศรีศรัทธาไปลงหลักปักฐาน ณ เมืองใดแล้ว ก็จะรับวัฒนธรรม คติความเชื่อของบ้านเมืองนั้น ๆ ผสมกลมกลืนเข้ากับขนบโนรา จนกลายเป็นคณะโนราประจำเมือง ที่มีเอกลักษณ์ไปตามพื้นที่ แต่มีรากเหง้าที่มาจากที่เดียวกัน ความแตกต่างของขนบประเพณีในแต่ละพื้นที่ ในภาษาโนราเรียกกันว่า “ ธรรมเนียมแผ่นดิน ”

ดังนั้น ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ที่ได้กล่าวว่า เป็นเครือข่ายของโนราที่ประจำในแต่ละหัวเมือง หัวเมืองในยุคครูหมอโนรามีบ้านเมืองใดบ้าง ? หลักฐานที่กล่าวถึงบ้านเมืองในอาณาจักรศรีวิชัยนั้นค่อนข้างจะมีน้อย โดยมากในศิลาจารึก หรือในจารึกฐานรูปเคารพต่าง ๆ จะกล่าวถึงเมืองใดเมืองหนึ่ง ไม่ได้กล่าวถึงบ้านเมืองของอาณาจักรในภาพรวม จะมีบันทึกที่ชัดเจนก็มีอยู่ ๒ แห่ง คือ บันทึกในจารึกเทวาลัยราชาราเชศวรัม ( เทวาลัยพฤหทิศวร ) เมืองตันชาวูร์ รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโจฬะ จารึกนี้ ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ ๑ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ได้กล่าวถึงหัวเมืองที่พระเจ้าราเชนทร์โจฬะทรงพิชิตได้ ดังนี้

๑. ศรีวิชัย ( น่าจะหมายถึงนครหลวง / ศูนย์กลางการปกครอง )
๒. มะไลยูร์ ( หมายถึงเมืองจัมบี บนเกาะสุมาตรา )
๓. มะยุระดิงคัน ( อาจเมืองเดียวกับ จิ – โล – ทิง ในบันทึกของเจาจูกัว เป็นไปได้ทั้งเมืองสทิงพระ และ เมืองยะโฮร์ )
๔. อิลังโคสะกัม ( ลังกาสุกะ ปัตตานี )
๕. มาปัปปาลัม ( อาจเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในสิงหล บางกระแสบอกว่าเมืองทางตอนใต้ของพม่า )
๖. เมวิลิมบันกัม ( ในข้อมูลปัจจุบัน เป็นคามลังกา ที่อยู่ทางตอนเหนือของนครศรีธรรมราชขึ้นไป )
๗. วาไลยปปะนะทุรุ ( ยังไม่สามารถสืบชัด )
๘. ตะไลตาโกลัม ( ตักโกลา หรือเมืองตะกั่วป่าโบราณ พังงา )
๙. มาทมทะลิงคัม ( ตามพรลิงค์ )
๑๐. อิลามุรีเทศัม ( เมืองลามูรี บนเกาะสุมาตรา )
๑๑. กะฑารัม ( รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย คนไทยเรียกไทรบุรี )
๑๒. นัคคะวารัม ( เกาะนาควารี ปัจจุบันคือ หมู่เกาะนิโคบาร์ )
๑๓. มาวิมบังคัม ( ไม่สามารถสืบได้ )

บ้านเมืองที่มหาราชราเชนทร์โจฬะทรงพิชิตได้ ส่วนใหญ่แล้วล้วนอยู่ในพื้นที่อาณาจักรศรีวิชัยเสียส่วนมาก และบ้านเมืองเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเมืองท่าที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ เช่น กฑาหะ , ตามพรลิงค์ , ตักโกลา , ลังกาสุกะ เป็นต้น ซึ่งในยุคนั้น ศรีวิชัยยังไม่ได้ผนวกเอาสิงหล หรือ ลังกาเขามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เค้าโครงของบ้านเมืองศรีวิชัย ยังสามารถพิจารณาได้จากอีกหนึ่งหลักฐาน คือ จากบันทึกของเจาจูกัว ผู้ตรวจการค้าภายนอกประเทศ ซึ่งเจาจูกัวนั้นได้มีชีวิตในต้นสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ได้บันทึกบ้านเมืองในอาณาจักรศรีวิชัย ว่าประกอบไปด้วยหัวเมืองดังนี้

๑. เป็ง – โฟง สันนิษฐานว่า คือ เมืองปาหัง
๒. เตง – ยา – นอง สันนิษฐานว่า คือ เมืองตรังกานู
๓. ลิง – ยา – สิ – เกีย สันนิษฐานว่า คือ เมืองลังกาสุกะ
๔. กิ – แลน – ตัน สันนิษฐานว่า คือ เมืองกลันตัน
๕. โฟ – โล – อัน ยังไม่ทราบชัดว่าหมายถึงเมืองใด
๖. จิ – โล – ทิง สันนิษฐานว่า คือ เมืองสทิงพระ / บ้างก็ว่าเมืองยะโฮร์
๗. เซียน – ไม ยังไม่ทราบชัดว่าหมายถึงเมืองใด
๘. ปา – ตา ยังไม่ทราบชัดว่าหมายถึงเมืองใด
๙. ตัน – หม่า – ลิง สันนิษฐานว่า คือ เมืองตามพรลิงค์ / นครศรีธรรมราช
๑๐. เกีย – โล – หิ สันนิษฐานว่า คือ เมืองครหิ ไชยา
๑๑. ปา – ลิ – ฟอง สันนิษฐานว่า คือ เมืองปาเล็มบัง อินโดนิเซีย
๑๒. ซิน – โต สันนิษฐานว่า คือ เมืองซุนดา อินโดนิเซีย
๑๓. เกียน – ไป สันนิษฐานว่า คือ เมืองกัมเป อินโดนิเซีย
๑๔. ลัน – วู – ลิ สันนิษฐานว่า คือ เมืองลามูรี อินโดนิเซีย
๑๕. ซี – แลน สันนิษฐานว่า คือ อาณาจักรสิงหล ศรีลังกา

จากหลักฐานที่มีบันทึกทั้งสองหลัก ได้แสดงถึงรายชื่อบ้านเมืองของอาณาจักรศรีวิชัยให้พอได้เห็นเค้าลางบ้าง ว่าครอบคลุมตั้งแต่ชุมพร จรดลงมายังหมู่เกาะสุมาตราและบางส่วนของเกาะชวากลาง หากลองไล่เรียงเอาบ้านเมืองที่เป็นไปได้ที่จะมีการกระจายกลุ่มโนราไปอยู่ตามเมืองที่สำคัญต่าง ๆ นั้น สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้

๑. เมืองโบราณเขาสามแก้ว ( ชุมพร )
เมืองท่าโบราณที่อยู่ทางตะวันออกของคอคอดกระ กล่าวได้ว่าเป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งมีการพบลูกปัดโบราณ กลองมโหระทึก แนวกำแพงดิน และมีหลักฐานท่านย้อนไปถึงสมัยต้นราชวงศ์เมารยะ ซึ่งเป็นยุคที่ชมพูทวีปโบราณเจริญถึงขีดสุด และเมืองท่าโบราณเขาสามแก้ว อาจคงสภาพบ้านเมืองได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ก่อนที่จะหมดความสำคัญลง ซึ่งเรื่องของเขาสามแก้วนั้น ท่านสามารถตามรายละเอียดได้ตามนี้
https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/95
http://www.muangboranjournal.com/post/KhaoSamKeao-Book

๒. เมืองครหิ ( ไชยา )
เมืองครหิ ในปัจจุบันคือ พื้นที่ย่านตัวอำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยโบราณวัตถุ และ โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีวิชัย ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ มีนักวิชาการหลายท่าน เช่น อ.ธรรมทาส พานิช และ มจ. จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ได้สันนิษฐานว่า เมืองครหิ ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๕ คือเมืองศรีโพธิ์ หรือ ซาน ฝอ ซี นครหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย แต่จากหลักฐานที่หลงเหลือ เมืองครหิในอดีตเป็นเมืองสำคัญมาก ในฐานะเมืองท่าทางตอนบนของอาณาจักรศรีวิชัย

๓. เมืองโบราณเวียงสระ
เมืองโบราณเวียงสระ ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเมืองโบราณที่มีการพบโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปเลียนศิลปะมถุรา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ เทวรูปพระวิษณุสวมหมวกกระบอก อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ รวมถึงเทวรูปพระวิษณุ และ เทวรูปพระวฎุกไภรวะ อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ รวมถึงโบราณสถาน เป็นซากพระเจดีย์เก่า ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญของบ้านเมือง ที่มีอายุการตั้งบ้านเมืองต่อเนื่อง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ ก่อนที่จะหมดสภาพความเป็นเมืองไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๗

๔. เมืองตักโกลา ( ตะกั่วป่า )
เมืองตักโกลา หรือ ตะกั่วป่า เป็นหนึ่งในเมืองท่าโบราณ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ ในฐานะเมืองกระวาน มีหลักฐานเป็นโบราณสถานยืนยัน คือ โบราณสถานทุ่งตึก และ โบราณสถานเขาพระเหนอ ซึ่งเป็นศาสนสถานในไวษณพนิกายที่ใหญ่ มีรูปเคารพเป็นเทวรูปพระวิษณุสวมหมวกกระบอก อายุพุทธศตวรรษราว ๑๒ – ๑๓ เป็นหลักฐานสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเทวรูปพระนารายณ์ และเทพบริวาร ซึ่งมีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ ที่พบบนเขาเมือง ม.๒ ต.เหล อ.กะปง จ.พังงา ซึ่งจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ สามารถระบุได้ว่า เมืองตักโกลา หรือ พังงา เป็นนครรัฐ และเมืองท่าที่สำคัญของศรีวิชัย

๕. เมืองตามพรลิงค์ ( นครศรีธรรมราช )
เมืองตามพรลิงค์ มีพื้นที่อยู่ที่ฟากตะวันออกของเทือกเขาหลวง ไล่ตั้งแต่กลุ่มไศวภูมิมณฑลเขาคา ที่เนืองแน่นไปด้วยเทวาลัยพราหมณ์เรียงรายตั้งแต่ตอนบนของ อ.สิชล ไปจนถึงพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีการพบหลักฐานเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายรายการ มากพอที่จะยืนยันความเป็นบ้านเมืองของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้ ซึ่งในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ นั้น ตามพรลิงค์ยังคงความเป็นพราหมณ์ส่วนใหญ่ แต่ก็ยืดหยุ่นพอที่จะให้พุทธศาสนาเข้ามาอยู่ร่วมกันในอาณาจักร

๖. เมืองสทิงพระ ( สงขลา )
เมืองสทิงพระ มีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่ อ.ระโนด จนถึง อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นอาณาเขตที่เรียกกันว่า “ แผ่นดินบก ” มาตั้งแต่โบราณกาล มีการพบหลักฐาน เป็นโบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๕ จำนวนมาก เป็นเมืองท่าค้าขายที่เจริญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฎอารยธรรมการอยู่ร่วมกันของพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์กันอย่างดาษดื่น โดยโบราณวัตถุที่เก่าแก่สุด คือ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีจากพังแฟม อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๒ เทวรูปพระพิฆเนศ อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ และ เทวรูปพระวิษณุสวมหมวกกระบอก อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ ในพงศาวดารเมืองพัทลุง ได้ระบุว่า เมืองสทิงพระ เป็นเมืองที่มีความเจริญมาก่อนหน้าเมืองเวียงบางแก้ว หรือ โคกเมืองบางแก้ว

๗. เมืองโบราณคลองท่อม ( กระบี่ )
เมืองโบราณคลองท่อม หรือ ควนลูกปัดคลองท่อม เป็นแหล่งผลิตลูกปัดส่งออกค้าขายกับดินแดนต่าง ๆ ซึ่งมีการพบหลักฐานสำคัญเป็นลูกปัดหลากหลายชนิดกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณควนลูกปัด ตลอดจนหินบดยา ภาชนะโบราณ ถึงแม้เมืองท่าคลองท่อมจะไม่มีหลักฐานเป็นเทวรูป หรือ โบราณสถานที่ชัดเจน แต่ก็มีการพบลูกปัดจำนวนมาก จนยากที่จะปฎิเสธได้ว่า เมืองโบราณคลองท่อม เป็นเมืองท่าส่งออกสินค้าที่สำคัญ สำหรับการศึกษาโบราณคดีที่คลองท่อม ท่านสามารถติดตามในเบื้องต้นได้ที่นี้
https://khlongthomcity.go.th/…/id/839/menu/629/page/1

๘. เมืองตรัง
ตรัง หรือ ตรังคะ หรือ ทะรัง เป็นชื่อเมืองโบราณที่ปรากฏในฐานะเมืองท่าทางตะวันตก มีการพบหลักฐานส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายมหายาน ไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ที่พบที่เขาสาย เขานุ้ย เขาคูรำ หรือ แหล่งโบราณคดีนาพละ หรือ นาพระ ที่พบเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะอยู่ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ อีกทั้งท่าเรือนปะลันดา ก็ตั้งอยู่ในอาณาเขตเมืองตรัง แต่เนื่องจากเมืองตรังเอง ได้มีการอพยพโยกย้ายการตั้งเมืองอยู่หลายครั้ง จึงทำให้หลักฐานความเป็นบ้านเมืองค่อย ๆ เลือนหายตามกาลเวลา เหลือเพียงแต่โบราณวัตถุเป็นส่วนมาก

๙. เมืองลังกาสุกะ ( ปัตตานี )
เมืองลังกาสุกะ หรือ อิลังกาสุกะ เมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณกลุ่มเมืองโบราณ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีการพบรูปเคารพในพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ล้วนแต่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ ส่วนโบราณสถานในกลุ่มเมืองโบราณยะรัง ก็มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ ซึ่งเป็นนครรัฐที่อยู่ในยุคเดียวกันกับ นครรัฐสทิงพระ ตักโกลา และ ตามพรลิงค์ เป็นหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญของอาณาจักรศรีวิชัย

๑๐. เมืองกฑาหะ ( เคดาห์ มาเลเซีย )
เมืองกฑาหะ มีภาษาถิ่นในปัจจุบันว่า เกดะห์ ชาวไทยเรียก เมืองไทร หรือ ไทรบุรีเป็นเมืองท่าที่มีความเก่าแก่ และอยู่ร่วมในสหพันธรัฐศรีวิชัยมาตั้งแต่ตอนต้น ซึ่ง กฑาหะนั้น เป็นเมืองที่อาศัยของรัชทายาท และอุปราชของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งในบันทึกของมหาลัยนาลันทา ได้กล่าวถึงพระเจ้าศรีพาลบุตร เจ้าผู้ครองกฑาหะได้ทำการสร้างที่พักสงฆ์ในมหาลัยนาลันทา ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวะปาละแห่งราชวงศ์ปาละ และหลวงจีนอี้จิง ก็ได้กล่าวถึงเมืองกฑาหะ หรือ เมืองเจียฉา ในบันทึกของท่านด้วย ซึ่งโบราณสถานที่ปรากฏในกฑาหะ คือ หมู่โบราณสถานที่หุบเขาบูจัง หรือ เล็มปะห์ บูจัง ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ และ แหล่งโบราณสถานสุไหงบาตู ที่เป็นพยานความเก่าแก่ของกฑาหะ นอกจากนี้ในรัฐเกดะห์ เคดาห์ หรือ ไทรบุรี ก็มีชาวมาเลเซียเชื้อสายสยาม ที่ได้สืบทอดการแสดงโนราอยู่ โดยจัดพิธีกรรมที่กลมกลืนไปกับคติความเชื่อของผู้คนในพื้นที่

๑๑. เมืองกลันตัน
เมืองกลันตัน เป็นเมืองที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับจังหวัดนราธิวาส ถึงแม้จะไม่มีแหล่งโบราณคดีที่ชัดเจนเท่ากับที่รัฐเกดะห์ หรือ ไทรบุรี แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับศรีวิชัย มัชฌปาหิต รวมถึง ปัตตานี อยุธยา และ รัตนโกสินทร์ อีกทั้งเมืองกลันตัน ยังเป็นดินแดนที่มีชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามอาศัยอยู่มาก การแสดงโนราจึงยังคงมีการสืบทอดอยู่

๑๒. เมืองตรังกานู
เมืองตรังกานู เป็นเมืองที่อยู่ถัดลงไปจากกลันตัน ถึงตรังกานูจะมีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารของเจาจูกัว หรือ มีอายุที่เก่าแก่มากกว่านั้น แต่ในเมืองตรังกานูกลับไม่ปรากฎโบราณสถานอย่างเช่นที่เมืองเกดะห์ ถึงจะเป็นเช่นนั้น ตรังกานูก็นับเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่ง ที่มีชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามอาศัยอยู่ และเป็นสุดดินแดนที่โนราได้เผยแพร่และคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

๑๓. เมืองเวียงบางแก้ว
เวียงบางแก้ว บ้านเมืองอันเป็นจุดกำเนิดของโนรา ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบสงขลา บริเวณ ม.๔ ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มีโบราณสถานสำคัญคือ เทวสถาน พราหมณ์ที่อยู่ทางตะวันออกขององค์พระบรมธาตุ องค์พระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตลอดจนโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่สามารถยืนยันความเก่าแก่ของเมืองเวียงบางแก้วได้ ซึ่งอายุการเกิดของเวียงบางแก้ว อย่างน้อยอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ และเป็นบ้านเมืองแห่งแรกของอย่างเป็นทางการของชาวพัทลุง

หากพิจารณาบ้านเมืองทั้ง ๑๓ เมืองที่ได้ยกมาในข้างต้นนี้ คำว่า “ ๑๓ หัวเชียก (เชือก ) ” นั้นก็คือเหล่าโนราที่เป็นศิษย์ขุนศรีศรัทธา ที่ถูกส่งไปอยู่ยังหัวเมืองทั้ง ๑๓ แห่งนี้ เมื่อรวมกันเข้ากับ ๑๒ หัวช้างแล้ว ก็จะได้กลุ่มครูหมอโนรา อันควรเคารพบูชาในฐานะสูงสุด ๒ กลุ่มคือ

๑. กลุ่ม ๑๒ หัวช้าง ประกอบด้วย ครูต้นโนราทั้ง ๔ พระองค์ และ ครูหมอโนราในชั้นพญา ๘ องค์ เป็นครูหมอในชั้นสูง ที่บังคับบัญชาครูหมอที่อยู่ในระดับล่างลงมาในการดูแลลูกหลาน

๒. กลุ่ม ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ประกอบด้วย กลุ่มราชครูโนราที่เป็นลูกศิษย์ขุนศรีศรัทธา ๑๓ คน พร้อมคณะ ที่ถูกส่งไปเผยแพร่การรำโนรายังนครรัฐ หรือ เมืองสำคัญของศรีวิชัยทั้ง ๑๓ เมือง เพื่อเป็นกำลังหลักในการช่วยเผยแพร่พุทธศาสนาในอาณาจักร

ถึงแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่ากลุ่มครูหมอ ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) จะมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร แต่ด้วยพระคุณที่กลุ่มครูหมอทั้ง ๑๓ ท่านนี้ ได้เผยแพร่ขยายโนราไปยังอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ทำไมราชครูโนรายุคถัดมา ได้เอากลุ่มครูหมอโนรา ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) มาต่อท้ายกลุ่มครูหมอโนรา ๑๒ หัวช้าง เพื่อบูชารำลึกพระคุณที่กลุ่มครูหมอเหล่านี้ ได้บุกเบิกแพร่ขยายโนราให้เป็นที่รู้จักกันตลอดคาบสมุทรสยาม นี่คือความหมาย หรือ นิยามของคำว่า “๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ” กลุ่มคณะครูหมอ ที่โนราทุกคณะกล่าวอาราธนาบูชาทุกค่ำเช้า ในฐานะกลุ่มครูหมอที่เป็นตัวแทนของครูหมอโนราทั้งหมด

แต่ในภายหลัง คำว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ก็ได้ถูกตีความใหม่ตามแบบชาวบ้าน โดยยึดถือครูหมอโนราตามลำดับที่บรรพบุรุษนับถือกันมา ซึ่งในแต่ละครอบครัวก็นับถือครูหมอในจำนวนที่ไม่เท่ากัน บางครอบครัวนับถือโดยหลัก ๕ องค์บ้าง ๗ องค์บ้าง ๑๒ องค์บ้าง หรือ เกินไปจากนี้ก็มี ซึ่งคำว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) ในความหมายของชาวบ้าน จะไม่ได้เน้นยศถาบรรดาศักดิ์หรือลำดับขั้นยศของครูหมอเป็นหลัก แต่จะเน้นเอาจากความผูกพันทางสายตระกูลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น สกุล ก. นับถือตาหลวงคง กับพระแม่ศรีมาลาเป็นหลัก ก็จะยึดเอาตาหลวงคงกับพระแม่ศรีมาลาเป็นต้นใน ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) จากนั้นก็ลำดับด้วยครูหมอองค์อื่น ๆ เช่น ตาหม่อมรอง ตาพรานบุญ แม่แขนอ่อน แม่ใจไว พญามือไฟ ฯลฯ หรือ สกุล ข. นับถือตาพรานบุญเป็นหลัก ก็จะยึดตาพรานบุญเป็นต้นใน ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) แล้วจึงตามด้วยครูหมอองค์อื่น ๆ เช่น ตาขุนแก้ว ตาหลวงเสน แม่เมาคลื่น ฯลฯ ในบางคติ ถือว่า ๑๒ หัวช้าง ๑๓ หัวเชียก ( เชือก ) คือกลุ่มคณะครูหมอโนรา ประกอบไปด้วย ครูหมอที่เป็นชายและหญิงที่มีจำนวนเท่ากัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทำให้โนราวิวัฒนาการจากการแสดงในราชสำนักและพื้นที่ของชนชั้นสูง มาสู่การแสดงที่กลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และการที่โนราได้หลอมกลืนเข้ากับวิถีของชาวบ้าน ส่งผลให้โนราสามารถดำรงคงอยู่ได้มาเนิ่นนานนับพันปี

อ้างอิง
๑. หนังสือ ทักษิณรัฐ ศาสตราจารย์ มานิต วัลลิโภดม
๒. หนังสือ ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย อาณาจักรที่ถูกลืม พล.ต.ต. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ( ยศในขณะนั้น )
๓. คติเรื่องพระสุริยเทพในงานศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ น.ส. วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ http://www.thapra.lib.su.ac.th/…/Woraluck…/Fulltext.pdf
๔. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ฉบับ ๖ ตองแห้ง พืช ทะเลสองห้อง หัวข้อเรื่องแต่งพอก
๕. ข้อมูลเรื่องพระอาทิตย์ ๑๒ พระองค์ จาก https://sreenivasaraos.com/tag/dwadasa-murti/