ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#ครูหมอโนราย่าง(ลงโทษ)
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

สิ่งที่ลูกหลานครูหมอโนราได้หวาดกลัวกัน นับตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ไม่ใช่การปรากฏตัวของครูหมอ แต่เป็นการถูก “ ครูหมอย่าง ”

“ ครูหมอย่าง ” ในที่นี้ หมายถึงการให้โทษของครูหมอโนรา มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ครูหมอให้โทษ ครูหมอทำเพศ หรืออื่น ๆ ซึ่งผู้ที่ถูกย่าง หรือ ถูกทำโทษ จะเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย ประกอบอาชีพมีแต่ความขัดข้อง เกิดความเดือดร้อนในชีวิต ซึ่งกรณีของการถูกครูหมอย่างนั้น เป็นไปได้ใน ๔ กรณี คือ

๑. ย่างเพราะตักเตือนลูกหลาน
เนื่องจากลูกหลานได้ละเลยการบูชาครูหมอมานาน หรือ เกิดการที่บรรพบุรุษในครอบครัวช่วงใดช่วงหนึ่งได้ปฎิเสธการนับถือครูหมอ การย่างก็จะเกิดขึ้น โดยครูหมอจะทำอาเพศให้ลูกหลานบังเกิดความเจ็บไข้ หรือ บังเกิดความขัดข้อง จนกว่าลูกหลานที่มีเชื้อสายโนราจะได้พบคำตอบ แล้วเชิญราชครูโนรามาประกอบพิธีอย่างถูกต้อง อาการเจ็บป่วย และความขัดข้องจึงบรรเทาหายไป ซึ่งการย่างในกรณีตักเตือน ครูหมอจะทำโทษเพียงแค่ให้เกิดความหลาบจำ หรือ เกิดความขัดสนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จนกว่าลูกหลานจะทำการบูชาครูหมอโนราอย่างถูกต้อง กรณีในการย่างเพื่อตักเตือน ยังครอบคลุมไปถึงกรณีอื่น ๆ ด้วย เช่น ลูกหลานบนแล้วไม่แก้ หรือ ลูกหลานเกิดแตะต้องข้าวของบางอย่างโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะถูกทำโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเป็นการตักเตือนว่า อย่าหลงลืม หรือ อย่าแตะต้องสิ่งของบางอย่างโดยไม่ได้ขออนุญาต

๒. ย่างเพราะต้องการผู้สืบทอด
กรณีที่สอง เกิดขึ้นในบ้านที่มีการนับถือครูหมอโนรา ผู้คนในอดีตจะมีลูกหลานมาก เมื่อถึงคราวผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวที่นับถือครูหมอโนรา ใกล้จะถึงที่สุดแห่งชีวิต ลูกหลานจะต้องขอรับช่วงต่อในการบูชาครูหมอโนราต่อจากผู้เฒ่าผู้แก่ท่านนั้น เพื่อให้ท่านได้จากไปอย่างสงบ แต่ในกรณีบางครอบครัวลูกหลานไม่สามารถตกลงที่จะสืบทอดการบูชาครูหมอโนราได้ เหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับผู้อาวุโสของครอบครัวนั้น โดยคนที่ถูกย่างจะเกิดล้มป่วยอย่างไร้สาเหตุ และอาการป่วยจะแปลกประหลาดจนยากจะหาคำตอบ เช่น ไร้เรี่ยวแรง ไม่กินอาหาร แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ บางคน อยู่ได้ที่ไม่นอนนานนับสัปดาห์ หรือบางคน ยังคงมีชีวิตอยู่ ยังหายใจได้ แต่ไม่สามารถขยับ หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ อาจกล่าวได้ว่า การตกอยู่ในสภาพกึ่งเป็นกึ่งตายเช่นนี้ เป็นการลงโทษจากครูหมอ เพื่อบังคับให้ลูกหลานรับสืบทอดการปรนนิบัติบูชาครูหมอ เพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถูกย่างได้หายจากอาการป่วย หรือในบางกรณีก็จากไปอย่างสงบ การที่ครูหมอย่างเพื่อหาผู้สืบทอด จะไม่เกิดขึ้น หากลูกหลานพร้อมใจกันที่จะรับช่วงต่อในการปรนนิบัติบูชาครูหมอ ซึ่งต้องน้อมรับด้วยความเต็มใจ เพื่อที่จะไม่เป็นสาเหตุเกิดการถูกย่างในภายหลัง

๓. ย่างเพราะเกิดการลบลู่ดูหมิ่น
และการย่างในสาเหตุสุดท้าย เกิดขึ้นได้ทั้งลูกหลานที่เป็นเชื้อสาย เกิดขึ้นได้ทั้งที่เป็นคนนอก รวมถึงเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่นับถือครูหมอโนราเคร่ง ๆ นั่นคือ การย่างที่เกิดจากการลบหลู่ดูหมิ่น กิตติศัพท์ความรุนแรงของครูหมอโนราเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวใต้มาหลายชั่วอายุคน บางคนสั่งห้ามไม่ให้ลูกหลานเข้าไปยุ่ง หรือ เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะกลัวว่าถ้าหากต้องโทษจากครูหมอโนราแล้วเป็นการยากที่จะแก้ไข การลบหลู่ดูหมิ่นนั้น เกิดขึ้นได้หลายกรณี ตามหลักกรรมทั้ง ๓ ของพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงการเกิดกรรมไว้ ๓ ด้าน คือด้านการพูด หรือ วจีกรรม ด้านความคิด หรือ มโนกรรม หรือ ด้านการกระทำ หรือ กายกรรม จากที่ผู้เขียนทราบมา ในอดีตมีหลายครอบครัวที่ทำลายหิ้งครูหมอ หรือ ทำการขับไล่ไสส่งครูหมอให้ออกจากบ้าน เนื่องจากกลัวเป็นภาระที่ต้องดูแลบูชา มีทั้งการนำไปลอยน้ำ นำไปเผาไฟ หรือแม้กระทั่งนำไปทิ้งไว้ที่วัดก็มี แต่สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ทำย่อมได้รับความทุกข์ทรมานในบั้นปลาย หลายคนอยู่ในสภาวะครึ่งเป็นครึ่งตาย กว่าจะตาย ต้องให้ราชครูโนรา เป็นตัวแทนครูหมอ มารับการขอขมา บางคนลบหลู่ท้าทายด้วยการพูด ซึ่งกรณีนี้จะพบบ่อยมาก เพราะความไม่พอใจของคนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แม้แต่คนที่ศรัทธามาก เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความศรัทธาไม่ถูกตอบสนอง คนผู้นั้นก็ย่อมขัดเคืองและท้าทายต่อสิ่งที่นับถือ ในกรณีของครูหมอโนราเช่นกัน บางคนเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็ย่อมเปลี่ยนความศรัทธาเป็นความไม่พอใจ จนเป็นเหตุกล่าวดูถูกครูหมอโนรา ตายายโนราด้วยโทสจริต และครูหมอโนราโดยส่วนใหญ่ ก็ไม่ยอมให้ใครมาดูถูกด้วย

๔. ย่างเพราะผิดสัญญา
ในกรณีของการถูกครูหมอย่างเพราะผิดสัญญา เป็นอีกหนึ่งกรณีที่พบกันบ่อย กว่าที่ลูกหลานจะทำโรงครูโนรา หรือ เชิญราชครูโนรามาประกอบพิธีที่บ้านได้ จะต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร เหล่าลูกหลานจึงมีการสัญญากับครูหมอโนรากันว่า จะจัดโรงครูขึ้นในรอบกี่ปีต่อหนึ่งครั้ง เช่น ๕ ปี ต่อ ๑ ครั้ง ๗ ปี ต่อ ๑ ครั้ง หรือบางบ้าน กำหนดการจัดโนราโรงครูไว้ ๑๐ ปี ต่อ ๑ ครั้ง เลยทีเดียว เพราะการจัดโนราโรงครูสำหรับคนบ้าน ๆ แล้ว ต้องเตรียมพร้อมทั้งเงิน พร้อมทั้งคน พร้อมทั้งสถานที่ จึงสามารถทำให้สำเร็จได้ แต่ใช่ว่าทุกบ้านจะทำได้ตามสัญญา เมื่อครบรอบจัดโนราโรงครู แล้วบังเอิญว่าทางครอบครัวเกิดความขัดข้องทางการเงิน หรือเกิดสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถจัดโนราโรงครูได้ เจ้าบ้านก็จะรวมญาติพี่น้องไปทำการ “ ผลัด ” ต่อครูหมอโนรา โดยแจ้งปัญหาและสาเหตุให้ครูหมอทราบ เพื่อที่จะได้ขอผลัด หรือ เลื่อนการจัดโรงครูไปก่อน แต่บางบ้าน บางครอบครัว ลูกหลานในบ้านกลับเห็นว่าโนราโรงครูเป็นเรื่องสิ้นเปลือง หรือมีความเกียจคร้านในการจัด เลยไม่ยอมจัดเสียดื้อ ๆ ทั้งที่ถึงเวลาสัญญาจะทำโรงครูให้ครูหมอ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการย่าง และการย่างชนิดนี้ก็รุนแรงเสียด้วย เพราะลูกหลานบิดพลิ้วผิดเต็ม ๆ แต่ในกรณีครอบครัวที่มีเชื้อสายครูหมอโนราบางครอบครัวก็น่าเห็นใจ เพราะลูกหลานบ้านที่มีครูหมอไม่สามารถแบกภาระในการจัดโนราโรงครูได้ เลยเป็นเหตุให้มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น

ความรุนแรงในการย่างของครูหมอโนรานั้น ผู้เขียนสามารถระบุโดยเข้าใจง่ายได้ดังนี้

๑. ครูหมอย่าง เพื่อเป็นการสั่งสอน หรือ ตักเตือนลูกหลาน ว่าอย่างทำเช่นนี้อีก การย่างเพื่อตักเตือน มักจะทำให้เจ็บไข้ เกิดอุบัติเหตุ เกิดความขัดข้อง อุปสรรค หรือ เกิดเหตุการณ์ขนลุกจนน่าหวาดกลัว การถูกครูหมอย่างในกรณีนี้ เพียงแค่ผู้กระทำผิด ตั้งพานใส่ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู เครื่องบูชาต่าง ๆ กราบขอขมาลาโทษ และสำนึกในความผิดที่ได้กระทำก็หายได้แล้ว แต่บางคนก็ไม่กล้าที่จะขอโทษโดยตรง ให้คนเฒ่าคนแก่ หรือ ราชครูโนรามาช่วยเจรจาให้ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

๒. ครูหมอย่าง เพื่อเป็นการลงโทษ ในกรณีนี้หากเทียบเป็นกฎหมาย คือการลงโทษสั่งขังตลอดชีวิต หรือ ลงโทษประหารชีวิตเลยทีเดียว ครูหมอโนราจะย่างแรง ๆ ต่อเมื่อลูกหลาน หรือ ใครก็ตาม ทำความผิดต่อครูหมอโนราในข้อที่ร้ายแรงจนไม่อาจให้อภัยได้ ครูหมอก็จะทำการให้โทษทั้งทางร่างกาย คือ ทำให้ร่างกายผิดปกติ จนผอมแห้ง ไม่กินอะไรแต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ทำให้นอนไม่ได้ ทำให้เกิดอุบัติภัยต่าง ๆ หรือทำให้จิตใจผิดปกติ เช่น ทำให้เสียจริต ทำให้เกิดฟั่นเฟือนจนไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ หรือ ทำให้เกิดอาการหลอนจนไม่สามารถเข้าสังคมได้ และการย่างของครูหมอในกรณีที่สอง เป็นสิ่งที่แก้ได้ยากมาก ๆ แม้แต่ราชครูโนรา หากไม่มีเหตุผลที่สมควรมากพอแล้ว ก็จะไม่ยื่นมือลงไปช่วยคนถูกย่างประเภทนี้ เพราะเท่ากับเอาตัวไปขวางความโกรธของครูหมอโนรา

๓. ครูหมอย่าง เพื่อหาทายาท วิธีการนี้อาจดูไม่ชอบธรรม แต่เป็นวิธีที่ครูหมอใช้เพื่อให้ลูกหลานที่เป็นทายาทมาขอรับสืบทอดการบูชาครูหมอโนราต่อจากคนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว หากครอบครัวไหนผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีหน้าที่บูชาครูหมอโนรากำลังจะตาย ทายาทจะต้องแต่งพานราดขอสืบทอดการบูชาครูหมอจากผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้น หากไม่ได้แต่งพานมาเอ่ยขอสืบทอดแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้นจะอยู่ในสภาวะจะตายก็ไม่ได้ตาย จะอยู่ก็ไม่ได้อยู่ หรือเกิดล้มป่วยในอาการผิดปกติ จนกว่าลูกหลานจะมาขอสืบทอดการบูชาครูหมอโนราอย่างถูกวิธี ครูหมอโนราจึงย่อมปล่อย ให้ผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้นจากไปอย่างสงบ หรือ หายจากอาการเจ็บป่วยนั้น

ครูหมอย่าง คือการลงโทษ หรือ ให้โทษจากครูหมอโนรา เป็นสิ่งที่ลูกหลานโนรา หรือ ผู้ที่รู้จักโนราจะให้ความหวาดกลัว ต่อความเกรี้ยวกราดของครูหมอเมื่อยามจะลงโทษ โดยมากแล้วลูกหลานจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ครูหมอบังเกิดความโกรธ เพื่อไม่ให้เกิดอาเพศเจ็บไข้ในภายหลังนั่นเอง