ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#อาณาจักรศรีวิชัยมีที่มาเป็นอย่างไร
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

“ ศรีวิชัย ” คือชื่อดินแดนอันไพศาลที่ครอบผืนน้ำทะเลจีนตอนใต้ และ ผืนน้ำมหาสมุทรอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีอายุของอาณาจักรยาวนานถึง ๗๐๐ ปี มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะดินแดนแห่งพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ดินแดนแห่งนี้ ถูกจารึกถึงความมั่งคั่ง และ ร่ำรวย จากทั้งพระภิกษุผู้แสวงหาธรรมะ และ จากพ่อค้าแห่งดินแดนอาหรับ ต่างจารึกเรื่องนี้ไว้ตรงกัน

อาณาเขตของอาณาจักรศรีวิชัย สันนิษฐานว่า ทางทิศเหนือ กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปจนถึงสุดหมู่เกาะชวาในทางทิศใต้ ทางตะวันออก ครอบคลุมทะเลอ่าวไทย ไปจนถึงน่านน้ำทะเลจีนใต้ ทางตะวันตก ครอบคลุมทะเลอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ ไปจนถึงชายฝั่งทะเลตะวันออกของศรีลังกา มีมหาราชหรือพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองหลายพระองค์ มีราชวงศ์ปกครองคือ “ ราชวงศ์ ไศเลนทร์ ” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ และ ราชวงศ์ “ ปทุมวงศ์ ” ปกครองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ อาณาจักรใกล้เคียงกับศรีวิชัยที่มีชายแดนติดกัน ได้แก่ อาณาจักรละโว้ ทางทิศเหนือ อาณาจักรสิงหล ทางทิศตะวันตก และ อาณาจักรมะตะรัม ในทางทิศใต้

สำหรับชื่อของอาณาจักรศรีวิชัย มีบันทึกอยู่ในศิลาจารึก “ เกดุกัน บูกิต ” เป็นภาษามลายูโบราณ ที่ได้เอ่ยถึงมหาราชผู้พิชิต ที่ได้ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยประสบชัยชนะ ที่มีบันทึกในเอกสารการฑูต และ เอกสารทางการค้า ได้แก่ “ สัน – โฟ – ชิ ” ( ชื่อในทางการฑูตของจีน ) / “ โฟ – ชิ ” ( ชื่อในบันทึกของหลวงจีนอี้จิง ) / “ ชวากะ ” ( ลังกา , เขมร , ชวา ) / “ ซาบาก ” ( อาหรับ ) / “ ศรีวิชัยปุเร ” ( ตำราทางศาสนา “ อัษฏสหสริกาปรัชญาปารมิตา ” ที่นาลันทา )

หัวเมืองที่ขึ้นตรงกับศรีวิชัย จากหลักฐานการบันทึกชื่อเมืองในศรีวิชัยที่บันทึกโดย “ เจาจูกัว ” ผู้ตรวจการค้าภายนอกประเทศสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้บันทึกไว้มีทั้งหมด ๑๕ หัวเมืองใหญ่ ดังนี้

๑. เป็ง –โฟ สันนิษฐานว่า คือเมืองปาหัง ประเทศมาเลเซีย
๒. เตง – ยา – นอง สันนิษฐานว่า คือเมืองตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
๓. ลิง – ยา – สิ – เกีย สันนิษฐานว่า คือเมืองลังกาสุกะ
๔. กิ – แลน – ตัน สันนิษฐานว่า คือเมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
๕. โฟ – โล – อัน สันนิษฐานว่า คือเมืองเก่าที่สทิงพระ
๖. ยิ – โล – ติง สันนิษฐานว่า คือเมืองยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย
๗. เซียน – ไม ยังไม่ทราบแน่ชัด
๘. ปา – ตา ยังไม่ทราบแน่ชัด
๙. ตัน – มา – ลิง สันนิษฐานว่า คือเมืองตามพรลิงค์
๑๐. เกีย – โล – หิ สันนิษฐานว่า คือเมืองไชยา
๑๑. ปา – ลิ – ฟอง สันนิษฐานว่า คือเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนิเซีย
๑๒. ซิน – โต สันนิษฐานว่า คือเมืองซุนดา ประเทศอินโดนิเซีย
๑๓. เกียน – ไป สันนิษฐานว่า คือเมืองกัมเป ประเทศอินโดนิเซีย
๑๔. ลัน – วู – ลิ สันนิษฐานว่า คือเมืองลามูรี ประเทศอินโดนิเซีย
๑๕. ซี – แลน สันนิษฐานว่า คือ เกาะศรีลังกา หรือ อาณาจักรสิงหล

การปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย จะใช้รูปแบบการปกครองแบบ “ สหพันธรัฐ ” หรือการปกครองระบบ “ พระอินทร์ ” ที่พระราชาในแต่ละหัวเมืองจะขึ้นตรงต่อ “ มหาราช ” อันเป็นผู้ปกครองสูงสุดของอาณาจักร มหาราชของศรีวิชัย มักจะมีนครหลวง หรือศูนย์กลางอยู่ที่ฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ “ ศรีโพธิ์ ” ( สันโฟชิ / ไชยา ) / “ ตามพรลิงค์ ” ( นครศรีธรรมราช ) โดยเมืองหลวงของศรีวิชัยนั้น ได้มีหลักฐานจากบันทึกทางการฑูตของประเทศจีน ในยุคสมัยราชวงศ์ถัง และ ยุคสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่คณะฑูตของศรีวิชัยได้เข้าเฝ้าต่อพระจักรพรรดิแห่งแผ่นดินมังกรโดยตรง จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

สินค้าส่งออกของอาณาจักรศรีวิชัย ที่เป็นสินค้ายอดนิยมของพ่อค้าจากนานาชาติ ประกอบไปด้วย สมุนไพรหอม ( ได้แก่ ลูกจัน กานพลู การบูร กระวาน ) , ไม้มีค่า ( ไม้ฝาง ไม้กฤษณา ไม้จันทน์ ไม้อบเชย ) ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ( งาช้าง กระดองเต่า นอแรด ) แร่ธาตุ ( ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง ทองคำ ) และด้วยภูมิประ เทศ ที่อยู่กั้นขวางมหาสมุทรทั้งสองเป็นแนวยาว ได้บังคับให้พ่อค้าวานิชต้องเดินทางผ่านช่องแคบที่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นผู้ควบคุม จึงเป็นเหตุให้ชาวศรีวิชัย ได้พัฒนาดินแดนของตนที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เป็นดินแดนตลาดการค้าที่มีแทบทุกสิ่งที่ต้องการ จนกลายเป็นมหาอาณาจักรที่มั่งคั่ง ดั่งที่มีในบันทึกของนักเดินเรือชาวอาหรับผู้ชื่อว่า “ อิบน์ โรเตห์ ” ได้กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัยไว้ว่า

“ ในบรรดาประมุขของประเทศอินเดียทุกพระองค์ ไม่มีใครร่ำรวยหรือมีอำนาจ หรือมีรายได้มากกว่ามหาราชแห่ซาบาจ ”

ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อของอาณาจักรศรีวิชัย ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากอาณาจักรในชมพูทวีป ได้แก่ ปัลลวะ , เสนะปาละ รวมถึงสิงหล ศาสนาหลักของอาณาจักรศรีวิชัยที่ได้รับอุปถัมภ์จากราชสำนัก ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ มีทั้งไศวะนิกายและไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธ ทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน โดยมีหลักฐาน จากโบราณสถานเก่าแก่หลาย ๆ แห่ง ที่มีอายุร่วมกับยุคสมัยศรีวิชัย เช่น โบราณสถานเขาคา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช , โบราณสถานเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี , โบราณสถานเมืองโบราณยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี , โบราณสถานเขาคูหา อ.สทิงพระ จ.สงขลา เป็นต้น

#วิวัฒนาการของอาณาจักรศรีวิชัย

อาณาจักรศรีวิชัย ได้วิวัฒนาการจากอาณาจักรสุวรรณภูมิตอนใต้ ที่มีบันทึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือที่ ราชฑูตเสียงจุ่น แห่งสมัยราชวงศ์สุยได้เรียกอาณาจักรนี้ว่า “ ชื่อ – ถู – กวั่ว ” หรือ “ อาณาจักรดินแดง ” ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ มาเป็นอย่างน้อย โดยอาณาจักรศรีวิชัย ได้มีการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีปฐมกษัตริย์พระนามว่า “ มหาราชศรีชยะนาศะ ” หรือที่มีในบันทึกทางการฑูตของประเทศจีนว่า “ โห – มิ – โต ” ทรงรวบรวมดินแดนในแหลมมลายูและหมู่เกาะชวาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย โดยได้มีการสถาปนาทางการฑูตกับจักรวรรดิต้าถังในนามอาณาจักร “ ชิ – ลิ – โฟ – ชิ ” อาณาจักรศรีวิชัย ได้แสดงแสนยานุภาพทางทะเล ด้วยการบุกยึดหัวเมืองในแหลมมลายูและบนหมู่เกาะชวา อีกทั้งยังได้ยกทัพเรือไปพิชิตดินแดนเจนละน้ำและจามปาที่อยู่ทางทิศอีศาณของดินแดนของพระองค์ ในยุคต้นของอาณาจักรศรีวิชัยนี้ มหาราชแห่งศรีวิชัยได้เลือกเอา นครศรีโพธิ์ ( ปัจจุบันคือ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ) เป็นนครหลวง โดยได้ทรงสร้างศาสนสถาน อันเป็นหลักฐานสำคัญของนครหลวงของศรีวิชัยเอาไว้ ก็คือ “ ปราสาทสามหลัง ” อันได้แก่ ปราสาทประดิษฐานพระผจญมาร ปราสาทประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และ ปราสาทประดิษฐานพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน คือ ซากโบราณสถานวัดแก้ว , โบราณสถานวัดหลง และ ฐานอุโบสถวัดเวียง

อาณาจักรศรีวิชัยในยุคเริ่มแรก ได้ผูกสัมพันธ์กับดินแดนใต้อาณัติด้วยการเสกสมรส แสดงความเกี่ยวดองกันทางราชวงศ์กับเจ้าผู้ครองหัวเมือง แต่เมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ความสัมพันธ์ระหว่างมะตะรัมและศรีวิชัย ถึงจุดตกต่ำสุด เมื่อระตูกะปิตัน ได้ทำสงครามขับไล่พระเจ้าศรีพาลบุตร กษัตริย์ศรีวิชัยผู้ปกครองชวาออกจากดินแดนแห่งทะเลใต้ และซ้ำร้าย ที่พระเจ้าศรีพาลบุตร ทรงพ่ายแพ้ให้แก่มหาราชกัสสปะ เชื้อพระวงศ์ไศเลนทร์และสิงหล ซึ่งภายหลังพระองค์ได้ทรงย้ายนครหลวง จากศรีโพธิ์ มาตั้งเมืองใหม่ที่ตามพรลิงค์แทน

การที่มหาราชกัสสปะทรงย้ายเมืองหลวงใหม่มาที่ตามพรลิงค์ ได้เป็นการสร้างฐานอำนาจแห่งใหม่ขึ้นมา โดยหลังจากที่มหาราชกัสสปะทรงเสด็จกลับไปยังสิงหลแล้ว ราชบัลลังก์ก็ตกแก่ มหาราชสิทธิยาตรา หรือ พระเจ้าชีวกราช พระองค์ได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองอาณาจักรละโว้ ได้ทรงขยายอาณาเขตของอาณาจักรให้กว้างไกลมากขึ้น ถัดมาในรัชสมัยของมหาราชโกณฑัญญะ พระองค์ทรงได้ชัยชนะจากการรุกรานของกษัตริย์พื้นเมืองเจนละ และถัดมาในรัชสมัยของมหาราชศรีจุฬามณีวรมะเทวะ พระองค์ทรงทำสงครามกับพวกเจนละหลายปี จนกระทั่งได้เจ้าชายมเหนทร ได้นำกำลังจากสิงหลมาช่วยพุ่งรบขับไล่ จึงทำให้ศรีวิชัยเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง

แต่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ศรีวิชัยได้เผชิญกับภัยรุกรานครั้งร้ายแรง โดยการยกทัพเรือของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะ พระมหากษัตริย์องค์สำคัญแห่งอาณาจักรทมิฬโจฬะ ได้ทรงยกทัพเรือเข้าโจมตีหัวเมืองของศรีวิชัยอย่างสายฟ้าแลบ สามารถยึดเอาหัวเมืองสำคัญในหมู่เกาะทะเลใต้ไปจนถึงหัวเมืองในคาบสมุทรสยามไปจนหมดสิ้น และได้ทรงมีชัยชนะเหนือมหาราชศรีวิชโยตุงคะเทวะอย่างเด็ดขาดในการสู้รบบนหลังช้าง ส่งผลให้ศรีวิชัยตกเป็นเมืองขึ้นของโจฬะยาว นานถึง ๑๕ ปี จนกระทั่งเจ้าชายสมรวิชโยตุงคะเทวะ พร้อมกับเจ้าชายปุรันธรพระอนุชา ได้นำไพร่พลชาวพื้นเมืองเข้าขับไล่กองทัพโจฬะจนล่าถอยไปหมดสิ้น และได้ทำสงครามกับโจฬะยาวนานอยู่หลายปี จนกระทั่งอาณาจักรโจฬะเสื่อมอำนาจลง มหาราชผู้กอบกู้อิสรภาพจึงได้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์โจฬะที่มีเชื้อสายศรีวิชัยขึ้นปกครอง

ถึงแม้ว่าศรีวิชัยจะสามารถกลับมาเป็นเอกราชได้อีกครั้ง แต่ด้วยความเสียหายจากภัยสงครามที่ยาวนานก็ทำให้ความรุ่งเรืองนั้นลดน้อยถอยลง แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่ในน่านน้ำได้อย่างยาวนาน ดั่งที่มีบันทึกรายชื่อหัวเมืองของศรีวิชัยในบันทึกของเจาจูกัว ได้ระบุถึง ๑๕ หัวเมืองใหญ่ที่เป็นพันธมิตร และอยู่ภายใต้เศวตรฉัตรของมหาราชแห่งศรีวิชัย การฟื้นฟูอำนาจของศรีวิชัยยุคหลังได้เริ่มจากพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๑๗ มหาราชพระองค์สำคัญ พระนามว่า มหาราชสูรยนารายณ์ พระองค์ทรงย้ายราชธานี จากศรีโพธิ์ ลงไปตั้งบ้านเมืองใหม่ยังกรุงตามพรลิงค์ และได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ปทุมวงศ์ ขึ้นแทนที่ไศเลนทรวงศ์

อาณาจักรศรีวิชัยภายใต้ราชวงศ์ปทุมวงศ์ ได้เริ่มการขยายอำนาจอีกครั้งในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีหลักฐานจากจารึกดงแม่นางเมือง ที่ได้กล่าวถึงการสร้างพระสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระองค์ก่อน พร้อมการอุทิศกัลปนาให้แก่อารามแห่งนั้น โดยการเผยอำนาจขึ้นครอบคลุมลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น อาจเป็นแค่ช่วงระยะเวลาแค่สองถึงสามรัชกาลที่มหาราชศรีวิชัยทรงมีอำนาจในแดนเหนือ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยมหาอาณาจักรบายน ที่มีพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นผู้นำในการขยายดินแดน จนครอบครองดินแดนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนหมดสิ้น การขยายอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ทำให้ศรีวิชัยไม่กล้าที่จะขยายอำนาจใด ๆ จนกระทั่งหลังจากการสวรรคตของมหาราชองค์สุดท้ายของมหิทธระปุระ เจ้าชายเชื้อสายศรีวิชัย – ปาณฑยะ พระนามว่า จันทรภาณุ ทรงยกไพร่พลจากลังกามาฟื้นฟูบ้านเมืองของบรรพกษัตริย์อีกครั้ง โดยได้ทรงกำหนดหัวเมืองใหญ่ ๑๒ เมือง เป็นเมือง ๑๒ นักษัตร เพื่อแสดงถึงอำนาจการเป็นศูนย์กลางของกรุงตามพรลิงค์ และได้ทรงสร้างพระบรมธาตุที่สูงใหญ่สุดในยุคนั้นเอาไว้กลางนครหลวง มีการปรับความเชื่อทางศาสนา จากศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน มาเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ ถึงแม้ว่าพุทธศาสนานิกายใหม่จะรุ่งเรืองในดินแดนศรีวิชัย แต่ในยุคสมัยของพระองค์ ก็ทรงต้องเผชิญกับสงครามกับลังกา ซึ่งเป็นเมืองคู่แข่งของพระองค์ถึง ๒ ครั้ง และเผชิญกับขั้วอำนาจใหม่ที่ทรงพลังอย่างนครรัฐอโยธยา ที่นำโดยพระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราช ถึงแม้ว่าการสู้รบจะจบลงด้วยสันติภาพ แต่หลังจากการสงบศึก อำนาจทางการสู้รบของศรีวิชัยก็ถดถอยลงอย่างมาก จนทำให้หัวเมืองในทะเลใต้หลายเมืองเอาใจออกห่าง ต่างตั้งตนเป็นอิสระ และบางหัวเมืองก็กล้าที่จะนำทัพของตนเข้าโจมตีนครหลวง ดังที่มีบันทึกในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ในการพุ่งรบระหว่างพระเจ้าเกียรตินคร แห่งสิงหัสส่าหรี และ พระเจ้าจันทรภาณุที่ ๒ ที่ได้ทำสงครามกันเป็นเวลายาวนาน จนหัวเมืองทั้ง ๑๒ นักษัตร ตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอ

ฉากสุดท้ายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ยาวนานในน่านน้ำถึง ๗๐๐ ปี ได้ล่มสลายลงในยุคสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุที่ ๒ โดยโรคระบาดที่ร้ายแรงสุดโรคหนึ่งของโลก คือ “ กาฬโรค ” ที่ได้ระบาดไปในหลาย ๆ ดินแดนยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ผลการระบาดของกาฬโรค ได้ทำให้กรุงตามพรลิงค์ และหลาย ๆ หัวเมืองกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อผู้คนในดินแดนล้มตายจนกลายเป็นดินแดนรกร้าง ก็ไม่อาจดำรงความเป็นอาณาจักรได้อีกต่อไป จึงทำให้ศรีวิชัยถึงแก่กาลล่มสลายในที่สุด

อาณาจักรศรีวิชัย มหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของชาวคาบสมุทรสยาม ยังคงอยู่ภายใต้ความถวิลหาของผู้คน เปรียบเสมือนเกียรติอันมีค่า ไม่ว่าจะกล่าวขึ้นครั้งใด ก็จะรู้สึกภูมิใจทุกครั้ง ที่บรรพชนของชาวท้องน้ำอันไพศาล ได้ก่อสร้างมหาอาณาจักรแห่งการค้าเอาไว้ ให้ลือเล่าขานถึงความมั่งคั่งที่กลายเป็นตำนาน