ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

#ขุนโขลง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อารามแห่งสงคราม ความทรงจำที่ไร้การบันทึก
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์
 
#วัดขุนโขลง หรือ แหล่งโบราณสถานบ้านขุนโขลง ตั้งอยู่ที่ ถนนทางหลวงชนบท นศ.๔๐๕๕ ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ ๘๐๑๖๐ เป็นแหล่งโบราณสถานที่ได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร มีการค้นพบซากฐานอิฐพระเจดีย์ สถูปบรรจุกระดูก ( บัว ) ของพ่อท่านทิศ อดีตเจ้าอาวาส พระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย สระน้ำโบราณ ตลอดจนพบเศษอิฐ เศษกระเบื้อง โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่รอการพิสูจน์อีกมาก จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน และจากการทัศนาดูภูมิประเทศในแถบนี้ ทางผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า วัดขุนโขลง คงเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยอยุธยา #ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒ ได้กลายเป็นฐานทัพสำหรับตั้งค่ายในการสงครามในหลายยุคหลายสมัย และอาจเป็นสถานที่ตั้งชุมชนในสมัยโบราณชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะร้างหมดความสำคัญไป
 
ในอดีต ชาวบ้านย่านแถบโมคลาน และ รอบ ๆ จะไม่มีใครกล้าเดินทางผ่านวัดขุนโขลงไปเด็ดขาด ด้วยว่าเป็นสถานที่มีการรบกันในอดีต จึงทำให้ไม่มีผู้ใดเดินทางผ่าน ด้วยกลัวความอาถรรพ์และความอึมครึมของป่าขุนโขลง ในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เคยมีการใช้วัดขุนโขลงเป็นสุสานในการฌาปนกิจ และได้รกร้างไปหลายสิบปี จนกระทั่งมีการขุดค้นบูรณะอีกครั้ง โดยกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจ ดูแลแหล่งโบราณสถาน เคยมีภิกษุหลายรูป หลายคณะเข้ามาผลัด เปลี่ยนหมุนเวียนดูแล จนกระทั่งปัจจุบัน ทางวัดขุนโขลงได้มีการพัฒนามากขึ้น ยังหลงเหลือแค่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่รอบ ๆ วัด ที่รอการขุดค้นจากลูกหลานชาวนครในกาลต่อไป
 
#เรื่องสงครามพม่าบนแผ่นดินนครศรีธรรมราช อาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องเหลือเชื่อ อาจมีคำถามผุดขึ้นมาในใจของท่านว่า เมืองนครเคยผจญสงครามกับพม่าจริงหรือ ? พม่าเคยบุกเมืองนครจริงหรือเปล่า ผู้เขียนจึงขอนำแผนการของฝ่ายพม่าในสงครามเก้าทัพ #จากการบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ มานำเสนอดังนี้
 
“ ฝ่ายข้างประเทศพม่า ตั้งแต่พระเจ้าปะดุงได้ทราบข่าวว่ากรุงสยามผลัดแผ่นดินใหม่ ก็ดำริการที่จะยกกองทัพมาย่ำยีสยามประเทศ แต่หากติดการปราบปรามเสี้ยนศัตรูภายในเมืองพม่าเองยังไม่ราบคาบจึงได้รั้งรอมา จนปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ มังโพเชียงซึ่งเป็นที่ตะแคงแปงตะแลน้องพระเจ้าปะดุง คิดกบฏ พระเจ้าปะดุงจับตัวได้ให้ประหารชีวิตเสีย สิ้นกังวลด้วยเสี้ยนศึกภายในแล้ว พระเจ้าปะดุงจึงให้เตรียมกองทัพที่จะยกมาตีกรุงสยาม เกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองพม่า มอญ ยะไข่ ลาว ลื้อ เงี้ยว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นเข้าเป็นกองทัพหลายกอง
 
ให้เนมโยคุงนะรักเป็นแม่ทัพใหญ่ นัดมีแลง ๑ แปดตองจา ๑ ปะเลิงโบ ๑ นัดจักกีโบ ๑ ตองพะยุงโบ ๑ รวม ๖ นาย ถือพล ๒,๕๐๐ เป็นทัพหน้ายกมาทางเมืองมะริดให้ยกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงวุ่นแมงยี่ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นทัพหนุนยกมาอีกกองหนึ่ง แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ยี่วุ่นเป็นแม่ทัพบาวาเชียง ๑ แวงยิงเดชะ ๑ บอกินยอ ๑ รวม ๔ นาย ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตีเมืองถลาง รวมทั้งทัพบก ทัพเรือเป็นคน ๑๐,๐๐๐ #ให้เกนวุ่นแมงยี่เป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่ลงมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกทางหนึ่ง และทางทวายนั้น ให้ทวายวุ่นเจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพกับจิกแก ปลัดเมืองทวาย ๑ มนีจอข้อง ๑ สีหะแยจอข้อง ๑ เบยะโบ ๑ ถือพล ๓,๐๐๐ เป็นทัพหน้ายกมาทางด่านเจ้าขว้าว ให้จิกสิบโบเป็นแม่ทัพ กับตะเรียงยามะซู ๑ มนีสินตะ ๑ สุรินทะจอข้อง ๑ รวม ๔ นาย ถือพล ๓,๐๐๐ ยกหนุนมา และให้อะนอกกับแฝกคิดวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่ทั้ง ๓ กอง เป็นคน ๑๐,๐๐๐ ยกมาตีเมืองราชบุรีทางหนึ่ง ”
 
จากข้อมูลในข้างต้น แสดงให้เห็นถึงแผนการโจมตีหัวเมืองในภาคใต้ของราชอาณาจักรอังวะ ที่ต้องการจะ “ ยึดครอง ” ราชอาณาจักรสยามยุคใหม่อย่างเบ็ดเสร็จ จึงได้ยกทัพมาถึง ๙ สาย โดยสองทัพแรก คือ กองทัพของแกงหวุ่นแมงญี่มหาสีหสุระ อัครมหาเสนาบดี กับ ญี่หวุ่นรองแม่ทัพ ยกทัพโจมตี ยึดครองหัวเมืองทางภาคใต้ทั้งหมด และ กองทัพของอะนออะแฝกคิดหวุ่น เป็นกองทัพหนุนจากราชบุรี แสดงให้เห็นว่า กองทัพพม่าต้องการยึดสยามประเทศทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง #ทัพของพม่าที่ยกทัพบุกหัวเมืองทางตอนใต้ มีบรรยายอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า
 
“ ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งพระเจ้าอังวะให้ยกลงไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตกตามชายทะเลนั้น ก็ยกกองทัพบกเรือลงไปพร้อมกันอยู่ ณ เมืองมะริด แต่เดือนอ้ายปีมะเส็ง[๔๗] สัปตศก แกงวุ่นแมงยี่ แม่ทัพใหญ่จึงให้ยี่วุ่นเป็นนายทัพถือพล ๓,๐๐๐ กับนายทัพนายกองทั้งปวงยกทัพเรือลงไปทางทะเลไปตีเมืองถลาง แล้วให้เนมโยคุงนรัดเป็นทัพหน้า กับนายทัพนายกองทั้งปวงถือพล ๒,๕๐๐ ยกทัพบกมาทางเมืองกระบุรี เมืองระนอง เข้าตีเมืองชุมพร ตัวแกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่ถือพล ๔,๕๐๐ ยกหนุนมาทั้ง ๒ ทัพ เป็นคน ๗,๐๐๐ และทัพหน้ายกเข้ามาถึงเมืองชุมพร เจ้าเมืองกรมการมีไพร่พลสำหรับเมืองน้อยนัก เห็นจะต่อรบมิได้ ก็อพยพพาครอบครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าก็เผาเมืองชุมพรเสีย แล้วกองหน้าก็ยกล่วงออกไปตีเมืองไชยา แม่ทัพตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชุมพร และครั้งนั้นทัพกรุงยังหาทันออกไปถึงไม่ ด้วยราชการศึกยังติดพันกันอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี และเจ้าเมืองกรมการเมืองไชยาได้แจ้งข่าวว่าเมืองชุมพรเสียแล้ว ก็มิได้อยู่สู้รบ อพยพยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น
 
ขณะเมื่อทัพพม่ายกออกไปนั้น เจ้าพระยานครพัดได้แจ้งข่าวว่าเมืองชุมพร เมืองไชยาเสียแล้ว จึงแต่งกรมการกับไพร่ ๑,๐๐๐ เศษ ยกมาตั้งค่ายขัดตาทัพอยู่ ณ ท่าข้ามแม่น้ำหลวงต่อแดนเมืองไชยา ทัพพม่าจับไทยชาวเมืองไชยาได้ #ให้ไทยร้องบอกลวงพวกกองทัพเมืองนครว่า “เมืองบางกอกเสียแล้วพวกเองจะมาตั้งสู้รบเห็นจะสู้ได้แล้วหรือ ให้เร่งไปบอกเจ้านายให้มาอ่อนน้อมยอมเข้าโดยดีจึงจะรอดชีวิต แม้นขัดแข็งอยู่จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมืองแต่ทารกก็มิให้เหลือ” #พวกกองทัพเมืองนครนำเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจาพระยานครๆ พิจารณาดูก็เห็นสมคำพม่า ด้วยมิได้เห็นกองทัพกรุงยกออกไปช่วย เห็นว่ากรุงจะเสียแก่พม่าแล้วหาที่พึ่งมิได้ จึงพาบุตรภรรยาญาติวงศ์สมัครพรรคพวกทั้งปวง หนีออกจากเมืองไปอยู่ ณ ป่านอกเขาข้างตะวันตก บรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวง ก็ยกครอบครัวหนีไปอยู่ตำบลต่าง ๆ ทัพพม่ายกไปถึงเมือง เข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ ให้เที่ยวจับผู้คนและครอบครัวได้เป็นอันมาก และให้ไทยชาวเมืองนครนำพม่าไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนและครอบครัวซึ่งหนีไปอยู่ทุกตำบลนั้นที่เข้าเกลี้ยกล่อม พม่าออกหาก็ได้ตัวมาบ้าง ที่ไม่เข้าเกลี้ยกล่อมหนีเข้าป่าดงไปก็มาก และพวกไทยซึ่งได้ตัวมานั้นบรรดาชายพม่าฆ่าเสียเป็นอันมาก เอาไว้แต่หญิงกับทารกและเก็บเอาเงินทองทรัพย์สิ่งของทั้งปวงไว้ หาผู้ใดจะคิดอ่านสู้รบพม่ามิได้ กลัวอำนาจพม่าเสียสิ้นทั้งนั้น พม่าก็ตั้งอยู่ในเมืองคิดจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง เมืองสงขลา ต่อไป
 
ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตกแล้ว ยกไปถึงเกาะถลางให้พลทหารขึ้นบกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และจันท์ภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องผู้หญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิงออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารลง จะหักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป
 
ฝ่ายข้างเมืองพัทลุงได้แจ้งข่าวว่า เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เสียแก่พม่าแล้ว เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงปรึกษากันจะยกครอบครัวหนีเข้าป่า ขณะนั้นพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อมหาช่วย เป็นเจ้าอธิการอยู่ในอารามแขวงเมืองพัทลุง มีความรู้วิชาการดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงลงตะกรุด ประเจียดมงคลแจกคนทั้งปวงเป็นอันมาก พวกกรมการนายแขวงนายบ้านทั้งหลาย ชักชวนไพร่พลเมืองมาขอเครื่องมหาช่วยแล้วคิดกันจะยกเข้ารบพม่า ผู้คนเข้าด้วยประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ ตระเตรียมเครื่องศาสตราวุธพร้อมแล้ว ก็เชิญพระมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหามมาด้วยในกองทัพ ยกมาจากเมืองพัทลุงมาพักพลตั้งค่ายอยู่กลางทาง คอยจะรบทัพพม่าซึ่งจะยกออกไปแต่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น
 
ฝ่ายกองทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยาตรานาวาทัพไปทางท้องทะเลใหญ่ถึงเมืองชุมพร จึงให้ตั้งค่ายหลวงและตำหนักที่ประทับ เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร กองหน้ายกทัพบกล่วงออกไปตั้งอยู่เมืองไชยาเป็นหลายค่าย
 
ฝ่ายกองทัพพม่าได้แจ้งข่าวว่าทัพกรุงเทพ ฯ ยกออกมาและแกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพจึงให้เนมโยคุงนะรัก นายทัพนายกอง ๆ หน้ายกกองทัพเข้ามาต่อรบทัพกรุงเทพมหานคร แล้วแม่ทัพก็ยกทัพใหญ่หนุนมา และกองหน้าพม่ามาปะทะทัพไทย ณ เมืองไชยา ยังมิทันจะตั้งค่าย ทัพไทยก็เข้าล้อมไว้รอบ ขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ พอฝนห่าใหญ่ตกยิงปืนไม่ออกทัพพม่าก็แหกหนีไปได้ แต่ตองพยุงโบนายทัพคนหนึ่งต้องปืนตายในที่รบ พลทหารไทยไล่ติดตามพม่าไปในเวลากลางคืนฆ่าฟันพม่าเสียเป็นอันมาก พม่ามิได้รั้งรอต่อรบแตกกระจัดพลัดพรายกันไปสิ้น ที่จับเป็นได้ก็มาก และแม่ทัพซึ่งยกหนุนมารู้ว่าทัพหน้าแตกแล้ว ก็มิได้ยกมาสู้รบเร่งรีบบากทางหนีไปข้างตะวันตก กองทัพไทยได้ชัยชำนะแล้วก็บอกมากราบทูลยังค่ายหลวง ณ เมืองชุมพร แล้วส่งพม่าเชลยทั้งปวงมาถวาย ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งหนีพม่าไปนั้นก็กลับมาเฝ้าทั้งสิ้น จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้รวบรวมราษฎรหัวเมืองและครอบครัวเดิม ซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นหนีพม่าไปให้กลับมาอยู่บ้านเมืองตามภูมิลำเนาเดิมดุจก่อน และให้เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงอยู่รักษาบ้านเมืองตามตำแหน่งทุก ๆ เมือง แล้วดำรัสให้เอาพม่าเชลยจำลงเรือรบไปด้วย จึงเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงจากเมืองชุมพรไปประทับเมืองไชยา ให้ทัพหน้าเดินพลไป ณ เมืองนครศรีธรรมราชโดยทางบก แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปโดยทางชลมารค ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เสด็จขึ้นประทับอยู่ในเมือง ให้ชาวเมืองพาข้าหลวงไปสืบเสาะตามหาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ตัวมาจะให้ลงพระราชอาชญา แล้วทรงพระราชดำริเห็นว่าศึกเหลือกำลังจะสู้รบ จึงภาคทัณฑ์ไว้ รับสั่งให้อยู่รวบรวมราษฎรรักษาบ้านเมืองดังเก่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงทั้งทางชลมารคสถลมารคไปประทับ ณ เมืองสงขลา ”
 
นอกจากการบันทึกในพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นข้อมูลกระแสหลัก #ได้ระบุถึงการยกทัพมาของกองทัพพม่าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช ก็ยังมีเรื่องราวมุขปาฐะ ตำนานท้องถิ่นในหลาย ๆ ท้องที่ ที่ได้ช่วยเสริม ช่วยยืนยันการยกทัพมาของทหารพม่า ว่าเป็นเรื่องจริง ได้แก่ ตำนานเมืองชุมพร ตำนานเมืองไชยา ตำนานพญาท่าข้าม ตำนานเขาพระนารายณ์ ตำนานเมืองท่าทอง จ.สุราษฎร์ธานี ที่กล่าวถึงการยกทัพมาของทหารพม่า ตำนานบ้านฉลองเขาน้อย เรื่องราววัดโบราณาราม เรื่องราววัดขุนโขลง เรื่องราวที่มาของบ้านมุมป้อม จ.นครศรีธรรมราช ประวัติของพระยาทุกขราษฎร์ ( ช่วย ) จ.พัทลุง ซึ่งเป็นเรื่องราวในท้องถิ่นในข้างต้นนี้ จะช่วยยืนยันการยกทัพมาของทหารพม่า ว่าในภาคใต้เอง ก็ได้รับผลกระทบของสงครามเก้าทัพอย่างเต็ม ๆ นอกจากวีรกรรมของท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทรอย่างที่เคยรับรู้กัน ก็ยังมีวีรกรรม การสู้รบกับอริราชศัตรูในยุคนั้นชนิดพลีเลือดทาแผ่นดิน แต่น่าเสียดายว่าเรื่องราวของท่านผู้เสียสละเหล่านั้น กลับไม่ได้รับการกล่าวขาน ไม่ได้รับการเชิดชู ถึงวีรกรรมในการต่อสู้ปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด
 
ผู้เขียนจึงขอการร่วมแรง ร่วมใจ จากชาวนครศรีธรรมราชผู้สนใจในประวัติศาสตร์บ้านเกิดเมืองนอน ช่วยกันสืบเสาะแสวงหาตำนานในท้องที่ เรื่องเล่าในท้องถิ่น ในช่วงสงครามเก้าทัพ เพื่อมาเรียบเรียงเป็นหน้าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่ยืนยันถึงการปกป้องผืนดินมาตุภูมิของบรรพชนชาวใต้ ให้เป็นที่ยกย่องเชิดชูไปตลอดกาล