ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับ ยุทธศาสตร์ศึก ยุทธศาสตร์การปกครอง กับภารกิจ การกู้ชาติ รวมแผ่นดิน ในถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

หากท่านได้เคยศึกษาประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านจะทราบถึงการยกทัพลงมาปราบปรามชุมนุมเจ้านคร หรือ ชุมนุมเจ้าปลัดหนูกันเป็นอย่างดี เมื่อเสร็จศึกปราบชุมนุมเจ้านครแล้ว ก็ได้จัดแจงให้เจ้านราสุริยวงศ์ ฯ ซึ่งเป็นพระหลานเธอฝ่ายราชินิกูล ขึ้นนั่งเมืองในฐานะพระเจ้าประเทศราช แล้วได้ทรงเสด็จนิวัตกรุงธนบุรี ในราวเดือน ๔ จุลศักราชที่ ๑๑๓๑ ตรงกับพุทธศักราชที่ ๒๓๑๒

ถ้าหากผู้ที่สนใจในพระราชประวัติหรือพอได้อ่านพงศาวดาร จะพบว่าพระเจ้าตากสิน ทรงรับสั่งให้มีการบูรณะทุก ๆ หัวเมืองสำคัญที่ทรงตีได้ ให้เข้มแข็งพอที่จะต้านข้าศึกจากภายนอก ส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการศาสนา ที่ได้ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ว่าจักทรงไปทำราชการสงครามที่ไหน หากทรงมีชัยแก่ข้าศึกแล้ว ก็มักนิยมบำรุงพระศาสนาด้วยพระราชศรัทธา

และการที่พระองค์ทรงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ ก็เท่ากับทรงได้หัวเมืองทางภาคใต้ทั้งหมดมารวมในอาณาจักรธนบุรีศรีสมุทร เป้าหมายหนึ่งที่ทรงมาตีเมืองนคร ฯ นอกจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ยุทธศาสตร์แล้ว ยังรวมไปถึง “ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และศาสนา ” ที่ทรงทราบดีว่า เมืองนคร ฯ มิได้ถูกทำลายด้วยภัยสงคราม ยังหลงเหลือเกร็ดความรู้ ตำรับตำรา และธรรมเนียมมารยาทจากอยุธยาอีกมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกเมืองนครศรีธรรมราช เข้ามารวมในแผ่นดิน ในฐานะหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้

พระราชกรณีย์กิจของ พระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากที่ทรงได้เมืองนครแล้วก็ได้ทรงกำชับไพร่พล ขุนศึกนายกอง “ อย่าทำการข่มเหง ปล้นชิง ” ชาวบ้านเมืองนคร รวมถึงราษฎรในหัวเมืองทางใต้ทั้งหมด และให้ทรงแจกจ่ายข้าวเปลือก เสบียงอาหารเพื่อบำรุงราษฎร ดั่งตอนหนึ่งของพงศาวดารกรุงธนบุรีที่ว่า

“ ครั้นสำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จึงทรงพระกรุณาได้มีกฎประกาศไปทั่วทั้งกองทัพ ห้ามมิให้ไพร่พลไทยจีนทั้งปวง ฆ่าโคกระบือและข่มเหงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน แล้วทรงพระกรุณาให้ขนเอาข้าวเปลือกลง บรรทุกสำเภาเข้ามาพระราชทานบุตรภรรยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ฝ่ายทหารพลเรือน ที่ตามเสด็จไป ณ เมืองนครศรีธรรมราชครั้งนั้น ”

นี่อาจเป็นเรื่องธรรมดาของการสงคราม ที่ต้องมีการปลอบขวัญราษฎร แต่มีเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งสะท้อนว่า พระเจ้าตากสิน ทรงใส่พระทัยในเมืองนครศรีธรรมราชมาก ดังความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี มีความว่า

“ ครั้น ณวันศุกรเดือนสิบสอง ขึ้นสองค่ำปีฉลู เอกศก เพลากลางคืนเจ็ดทุ่มเกิดเพลิงไหม้ ในเมืองนครตำบลนายก่าย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนิรไป ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทดับเพลิงจึงทรงพระกรุณาเรียกให้ช้างมาทะลายเรือน ฝ่ายกรมช้างมามิทันเสด็จให้ลงพระราชอาชญา คนละสามสิบทีบ้าง ห้าสิบทีบ้างตามบรรดาศักดิ์ผู้น้อยผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าราชินิกูลและข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งตามเสด็จไม่ทันนั้นให้ลงพระราชอาชญาทุกคน ๆ ”

ซึ่งการดับเพลิงนั่น หากจะเป็นหน้าที่ของขุนทหารชั้นพระยาผู้ใหญ่สักคนก็ย่อมได้ แต่เพราะพระองค์ทรง “ ใส่พระทัย เพื่อที่จะให้ได้ใจของชาวปักษ์ใต้ ” จึงได้ทรงอุสาหะออกบัญชาการ การดับเพลิงด้วยพระองค์เอง และได้ทรงใส่พระทัยในเรื่องการศาสนา ด้วยทรงทราบว่า ที่หัวเมืองภาคใต้ ยังอุดมไปด้วยพระสงฆ์ที่ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ จึงได้ทรงสละราชทรัพย์ และทรงดูแลในการศาสนาดังในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า

“ แล้วทรงพระราชศรัทธาให้สังฆการีธรรมการ ไปนิมนต์พระ ภิกษุเถรเณรรูปชีทั่วทั้งในเมืองนอกเมืองมาพร้อมกัน ทรงถวาย เข้าสารองค์ละถัง เงินตราองค์ละบาท ที่ขาดผ้าสะบงจีวรก็ถวาย ทุก ๆ องค์ แล้วทรงแจกยาจกวนิพพกทั้งปวงเสมอคนละสลึงทุก ๆ วัน อุโบสถ แล้วเกณฑ์ให้ข้าราชการต่อเรือรบเพิ่มเติมขึ้นอีกร้อยลำ เศษสำหรับจะได้ใช้ราชการทัพศึกไปภายหน้า และทรงพระกรุณา ให้จ้างพวกข้าทูลละอองธุลีพระบาทหารพลเรือนให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวิหารการเปรียญ และพระระเบียงศาลากุฎีในพระอารามใหญ่น้อยเป็นหลายพระอาราม สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก แล้วให้มีการมหรสพสมโภชเวียนเทียนพระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ในเมืองนครนั้นครบสามวัน”

นอกจากการฟื้นฟูด้านศาสนาแล้ว สำหรับด้านเศรษฐกิจ พระเจ้าตากสิน ฯ ทรงได้ใช้วิธี “ พิเศษ ” ในการหารายได้มาบำรุงบ้านเมือง โดยการ “เปิดบ่อนหลวง” เพื่อนำเงินจากเหล่าผู้มีอันจะกิน มาดำเนินการปฎิสังขรณ์ซ่อมแซมวัด ตลอดจนเข้าท้องพระคลังของเมืองนคร ดังมีความปรากฏในพงศาวดารกรุงธนบุรี

“ และครั้งนั้นพวกฝีพายทะนายเลือกซึ่งตามเสด็จ ได้ทรัพย์สิ่งสินเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาให้เล่นให้สนุก และให้กำถั่วหน้าพระที่นั่งกระดานละห้าสิบชั่งบ้าง ร้อยชั่งบ้างสนุกปรากฎยิ่งกว่าทุกครั้ง ”

นอกจากพระราชกรณีย์กิจด้านการศาสนา เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์แล้ว ยังทรงคำนึงถึงศิลปวัฒนธรรม โดยทรงโปรดให้พวกละครหญิงข้างในของกรุงธนบุรี ได้ไปร่ำเรียน ทบทวนวิชาโขนละคร จากนักละครของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขึ้นชื่อลือชามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ฯ ว่าเป็นเมืองแห่งการละคร มีโรงละครเอกสำหรับให้เจ้าเมืองและนักท่องเที่ยวที่มีฐานะได้หาความสำราญ และมีบางช่วง ที่ทรงโปรดให้โขนของกรุงธนบุรี และโขนของเมืองนคร แสดงประชันกัน ดังมีความปรากฎในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า

“ เมื่อชนะศึกแล้วได้รับการถวาย ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของ เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุ มีละครผู้หญิง แล้วให้ตั้งแห่สระสนาน ๓ วัน เสด็จอยู่นานจนจีนนายสำเภา เอาของปากสำเภามาถวาย จึงให้เจ้านราสุริยวงศ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบุรี”

และอีกงานสำคัญหนึ่ง คือการสมโภชน์พระแก้วมรกต ก็ได้ทรงเอาคณะโขนละครขึ้นไปร่วมสมโภชด้วย ดังที่มีปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี ดังนี้

“ พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ละครผู้หญิงละครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง ๑๐ ชั่ง เงินโรงผู้ชาย ๕ ชั่ง มี ๗ วัน … ฯลฯ … ให้มีละครผู้หญิงประชันกับละครเจ้านครวัน ๑ โรงละ ๕ ชั่ง ละครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ ๕ ชั่ง มีอีก ๓ วัน”

แต่ที่สำคัญสุดของการที่ทรงมาเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยกิตติศัพท์ว่า “ เมืองนครดอนพระ หรือ ละครเมืองพระ ” มีวัดวาอารามปรากฏมากมายตั้งแต่แดนขนอมลงไปจนถึงหัวไทร การพระศาสนาจึงยังรุ่งเรือง ภิกษุสงฆ์สามเณรยังยึดถือพระวินัยพระไตรปิฎก จึงได้ทรง “เชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครขึ้นไปคัดลอกที่กรุงธนบุรีและอาราธนาพระอาจารย์ศรี วัดพนัญเชิงที่มาหลบภัยที่นครศรีธรรมราช ขึ้นไปเป็นพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ดังมีปรากฏในพงศาวดารกรุงธนบุรีมีความว่า

“ แล้วดำรัสให้ราชบัณฑิตจัดพระไตรปิฎกลงบรรทุกเรือเชิญเข้ามา ณ กรุง แต่พอจำลองได้ทุก ๆ พระคัมภีร์แล้ว จึงจะเชิญออกมาส่งไว้ตามเดิม อนึ่งให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์วัดพนัญเชิง ซึ่งหนีพะม่าออกมา อยู่ ณ เมืองนครนั้น ให้รับเข้ามากรุง กับทั้งพระสงฆ์ สามเณรศิษย์ทั้งปวงด้วย”

“ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระอาจารย์ศรีเป็นสมเด็จพระสังฆราช และพระไตรปิฎกซึ่งเชิญเข้ามาแต่เมืองนครนั้นทรงพระกรุณาให้จ้าง ช่างจารพระไตรปิฎก พระราชทานค่าจ้างผูกหนึ่งเป็นเงินหนึ่งบาท เข้าถังหนึ่ง เงินค่ากับเข้า วันละเฟื้อง หมากพลูวันละซอง บุหรี่วันละสิบมวน ของกินกลางวันเสมอทุกวัน เสมอทุกผูก ทุกคัมภีร์จนจบพระไตรปิฎก สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ครั้นลงรักปิดทองทานสำเร็จแล้ว ทรงพระกรุณาให้เชิญพระไตรปิฎก ฉะบับกลับไปส่งเสีย ณ เมืองดังเก่า และซึ่งเจ้านครนั้นก็พระราชทานโทษ ให้ถอดออกจากพันธนาการ แล้วให้รับพระราชทาน น้ำพิพัฒน์สัตยา อยู่เป็นข้าราชการ พระราชทานบ้านเรือนที่ อาศัยให้อยู่เย็นเป็นสุข ”

จึงจะเห็นได้ว่า พระราชกรณีย์กิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงได้นำเอาศิลปะวิทยาการ ด้านพระศาสนา ขึ้นไปเผยแพร่ในกรุงธนบุรี นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น ว่าเป็นรองแค่ธนบุรี ผู้ปกครองเมืองมีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช และเป็นผู้ใกล้ชิดร่วมพระราชวงศ์กับพระองค์ จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเหตุไฉน พระนามของพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้ก้องอยู่ในความทรงจำของชาวเมืองนคร ฯ สืบลูก สืบหลาน มายาวนานสองร้อยกว่าปี และยังคงอยู่คู่กับเมืองนคร ฯ สืบไป ดั่งความหมายของเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ นครอันสง่างามของพระราชาผู้ทรงธรรม ”