ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#พระเพทราชา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) กับการศึกปราบเมืองนครศรีธรรมราช โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

หลังจากที่ออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ สามารถกำจัดกลุ่มขั้วอำนาจของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ( คอนสแตนติน ฟอลคอน ) ลงได้สำเร็จ ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากเมืองลพบุรี มายังพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตามขนบขัตติยราชประเพณี และเมื่อการถวายพระเพลิงสิ้นสุดลง เหล่าขุนนางทั้งหลายที่ร่วมก่อการโค่นล้มเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ต่างร่วมใจกันยกให้พระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์ทรงจัดแจงบ้านเมืองเสียใหม่ โดยส่งกองกำลังฝรั่งเศสกลับประเทศ และทำการปราบปรามกลุ่มกบฎที่ก่อความวุ่นวายเสีย โดยหนึ่งในผู้ที่กบฎในรัชกาลของพระเพทราชา ก็คือ

“ เจ้าพระยายมราช ” ( สังข์ ) แห่งเมืองนครราชสีมา ได้ประกาศแข็งเมือง ไม่ยอมรับพระราชอำนาจของสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม ทำให้สมเด็จพระเพทราชา ทรงมีพระราชโองการให้ “ พระยาสีหราชเดโชชัย ” เป็นแม่ทัพยกพลขึ้นไปปิดล้อมเมืองโคราชอยู่ ๒ ปี จนเมืองโคราชแตก เจ้าพระยายมราชสังข์ พร้อมสมัครพรรคพวกได้ลอบหลบหนีไปก่อนหน้าที่เมืองจะแตก โดยหนีไปกบดานยังเมืองนครศรีธรรมราช ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ “ เจ้าพระยารามเดโช ” ( ชู หรือ หวาน ) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น โดยเจ้าพระยารามเดโช ได้ให้พระยายมราชสังข์ กบดานที่บ้านหัวควนท่าข้าม รอยต่อแดนระหว่างไชยา และ เมืองนคร ฯ ปรากฎว่าพระยาเมืองไชยาได้ทราบข่าวการให้ความช่วยเหลือกบฎของเจ้าพระยารามเดโช จึงได้ส่งสาสน์ลับไปยังกรุงศรีอยุธยา สร้างความโกรธกริ้วแก่สมเด็จพระเพทราชาเป็นอย่างมาก พระองค์จึงทรงมีพระราชโองการ ให้จัดกองทัพสำหรับไปปราบกบฎถึงสองกองคือ

๑. ทัพบก มี พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง , พระยาสุรเสนาเป็นยกกระบัตร , พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย , พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง

๒.ทัพเรือ มี พระยาราชวังสัน ( ฮะซัน ) เป็นแม่ทัพเรือ มีรายละเอียดในพงศาวดารว่า ” ฝ่ายทัพเรือนั้นให้พระยาราชวังสันเป็นนายกอง เรือรบ ๑๐๐ ลำ เรือทะเล ๑๐๐ ลำ พลรบพลแจว ๕,๐๐๐ คน ยกไปทางทะเลทัพหนึ่ง…”

สงครามปราบกบฎเป็นไปอย่างดุเดือดถึง ๒ ปี โดยเริ่มการยกทัพปราบปรามในปี พ.ศ. ๒๒๓๕ กองทัพบกของกรุงศรีอยุธยาได้ยกพลโจมตีค่ายที่ท่าข้ามของเจ้าพระยายมราชสังข์แตก สังหารพระยายมราชสังข์เสียในที่รบ และยกทัพมุ่งลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราชในทันที การสู้รบปิดล้อมเมืองที่เป็นไปอย่างยาวนาน ทำให้ไพร่พลและเสบียงของเมืองนคร ฯ ได้ร่อยหรอลง จนในที่สุด เจ้าพระยารามเดโช ตัดสินใจส่งจดหมายไปยัง พระยาราชวังสัน อดีตสหายร่วมราชการ เพื่อขอความช่วยเหลือในการหลบหนี

ถึงจะไม่ปรากฎความที่ชัดเจนว่าเจ้าพระยาราชวังสันจะให้ความร่วมมือหรือไม่ แต่เจ้าพระยารามเดโชก็สามารถนำไพร่พลแย่งชิงเอาเรือรบของอยุธยาหลบหนีออกทางทะเลไปได้ และนั่นเป็นชนวนเหตุให้เจ้าพระยาราชวังสัน ( ฮะซัน ) ต้องโทษประหารที่เมืองนครศรีธรรมราช

ถึงแม้ว่าพงศาวดารที่เขียนเรื่องราวในรัชสมัยของพระเพทราชา และ พระเจ้าสรรเพชญ์ที่ ๘ ( พระเจ้าเสือ ) จะไม่ได้บอกเรื่องราวการยกทัพมาปราบเมืองนครไว้อย่างแจ่มแจ้ง แต่ฉบับที่มีข้อความรายละเอียดเกี่ยวกับพระยารามเดโช ( ชู ) และ พระยาราชวังสัน ( ฮะซัน ) มากที่สุด ก็คือ “ พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ ( จาด ) ” ที่มีรายละเอียดในช่วงเวลาการปราบปรามเมืองนครในรัชกาลของพระเพทราชาไว้อย่างละเอียด

และจากข้อสงสัยที่ว่า กรุงศรีอยุธยามีกองทัพเรือที่สามารถเดินทะเลได้ด้วยหรือไม่? และ การยกทัพมาตีเมืองนครฯ ในยุคพระเพทราชา มีเพียงทัพบกเท่านั้นหรือ? จากการที่ผู้เขียนค้นคว้า พบว่า “ พระยาราชวังสัน ” หรือ “ พระราชวังสัน ” เจ้ากรมอาสาแขก เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้าน “ การเดินเรือในทะเล ” โดยกรมอาสาจามนี้ ก่อตั้งมาก่อนหน้ารัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอย่างน้อย มีกองกำลังชาวตะวันออกกลาง และ ชาวมลายูมากมายเข้ามาเป็นกองทหาร ในรัชสมัยของพระนเรศวร ก็ปรากฎความว่า พระยาราชวังสันได้ยกทัพเรือไปโจมตีเมืองจันทบุรี และเข้าร่วมตีเขมรจนแตก ในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ก็ปรากฎขุนนางนามว่า “ หลวงลักษมาณา ” ขุนนางในกรมอาสาจาม ยกทัพเรือลงไปตีเมืองสงขลา และปัตตานีหลายครั้ง รวมถึง “ เจ้าพระยารามเดโช ” ( หวาน ) เอง ก็เคยนำกำลังทางเรือเข้าปิดล้อมโจมตีเมืองสงขลาจนพินาศ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่กรุงศรีอยุธยาจะปราศจากกองทัพเรือที่สามารถจะออกทะเลได้ ยิ่งเจ้ากรมอาสา เป็นขุนนางที่สืบเชื้อสายสุลต่านสงขลาด้วยแล้ว การที่ไม่มีกองทัพเรือมาทำสงครามกับเมืองนคร ฯ นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด เพราะถ้าหากมีเพียงกองกำลังทัพบกแล้ว ย่อมยากที่จะเข้าปิดล้อมเมืองนครศรีธรรมราชได้สำเร็จ และมีแต่จะทำให้กองทัพจากเมืองหลวง หมดสภาพอย่างช้า ๆ ก็เท่านั้น