ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#พระลาก คืออะไร ทำไมถึงเรียกว่าพระลาก
ตำรา สมโภชพระลาก-พระสำคัญ
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ความหมายของ “ พระลาก ”

พระลาก เป็นพระพุทธรูปที่ใช้สำหรับประเพณีวันออกพรรษา หรือ วันเทโวโรหณะ ตามประเพณีนิยมของภาคใต้ นิยมสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ปางอุ้มบาตร ปางห้ามญาติ หรือ ปางเปิดโลก สำหรับเป็นพระลาก ซึ่งพระลาก มีคติที่มาจากการแสดงลงจากดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทางจันทรคติ ตามพุทธประวัติ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประทับแสดงพระอภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา ณ ธรรมสภาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เหล่าพระสาวก อุบาสก และ พุทธบริษัทต่างคิดถึงพระพุทธเจ้า เมื่อครบถ้วนไตรมาสที่พระสงฆ์จำพรรษาแล้ว จึงได้นิมนต์พระโมคคัลลาน์ผู้มีฤทธิ์มาก ให้ขึ้นไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสู่โลกมนุษย์ พระพุทธองค์จึงทรงรับอาราธนา เสด็จลงจากเทวโลกมายังสังกัสสะนคร โดยการเสด็จครั้งนี้ พระพุทธองค์ทรงกระทำปาฎิหาริย์ด้วยการเปิดโลก ทำให้มนุษย์ เทพ สัตว์นรก และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายสามารถมองเห็นกันและกันได้ เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นภพภูมิอื่น ๆ ที่เป็นผลจากกุศล และ อกุศลกรรม ซึ่งในการเสด็จของพระพุทธองค์มาสู่สังกัสสะนคร ได้มีผู้คนมาต้อนรับอย่างเนืองแน่น จนต้องนำก้อนข้าวใส่ใบไม้แล้วโยนเข้าไป เพื่อถวายสักการะต่อพระพุทธเจ้า

จากเหตุการณ์ในพุทธประวัติส่วนนี้ ได้ถูกนำไปเป็นแกนหลักสำคัญในวันออกพรรษา เพื่อบอกให้ทราบถึงกาลสิ้นสุดของพรรษา เพื่อเป็นการโปรดสาธุชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากบริเวณวัด จึงเกิดประเพณีลากพระขึ้น ซึ่งพิธีการแห่พระ เดิมมีรากมาจากการแห่เทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ภายหลังได้มีปราชญ์ทางพุทธศาสนาในภาคใต้ได้สถาปนาประเพณีลากพระขึ้น โดยอาศัยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือ

๑. พนมพระ หรือ บุษบก สำหรับลากพระ
๒. พระสงฆ์ ออกโปรดสาธุชน
๓. พระลาก

ในส่วนของพระลากนั้น ส่วนมากจะนิยมสร้างกันในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.ตรัง จ.สงขลา ตลอดจนถึงบางส่วนของ จ.ปัตตานี และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยพระลาก จะสร้างมาจากโลหะผสมประเภทสัมฤทธิ์ หรือสร้างมาจากไม้แกะสลัก ซึ่งพระลาก มีความหมายว่า “ พระสำหรับใช้ลากในวันออกพรรษา ” พระพุทธรูปปางที่นิยมสร้างพระลาก ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ( ยกพระหัตถ์ห้ามข้างเดียว ) พระปางห้ามสมุทร ( ยกพระหัตถ์ห้ามทั้งสองข้าง ) พระปางอุ้มบาตร และ พระปางเปิดโลก ( แบพระหัตถ์ออกทั้งสองข้าง พระกรแนบพระองค์ ) พระลากนั้น มีทั้งแบบทรงเครื่องกษัตริย์ และ แบบทรงไตรจีวรธรรมดา ซึ่งพระลาก มักจะมีการตั้งชื่อตามผู้สร้าง หรือ บุคคลสำคัญในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เกียรติแก่คนผู้นั้น ที่เป็นผู้ค้ำชูพระพุทธศาสนา เช่น พระแม่แก่ วัดก้างปลา พระแม่เศรษฐี วัดร่อนนา สมเด็จเจ้าลาวทอง วัดสวนหลวง พระแม่ทวดยายหมหลี วัดพะโคะ เจ้าฟ้าร่มเขียว เจ้าฟ้าดอกเดื่อ วัดท่าสำเภาเหนือ พระอิศรชัย วัดพัทธเสมา พระปู่พระย่า วัดประสิทธิชัย พระแม่ชุม วัดท่าช้าง พระศรีสุวรรณ วัดท้ายสำเภา เป็นต้น ซึ่งพระลากที่ยกมานี้ ล้วนแต่ใช้นามผู้สร้าง หรือ นามผู้อุทิศ เป็นชื่อของพระ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือระบุถึงชื่อของผู้สร้าง

พิธีกรรมในการสมโภชพระลาก เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากการเตรียมพระลากสำหรับขึ้นพนมพระสำหรับเชิญลากในเทศกาลออกพรรษา ซึ่งมีขั้นตอนและลำดับพิธีกรรมอย่างละเอียดลออ จากการค้นคว้า พบว่าพิธีสมโภชพระลากในปัจจุบัน เหลือที่ชัดเจนเพียงแค่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งภายใน จ.นครศรีธรรมราชเอง ก็หลงเหลือพิธีกรรมสมโภชพระลากอยู่บางพื้นที่ เช่น อ.ลานสกา อ.เมือง อ.ท่าศาลา เป็นต้น ประเพณีสมโภชพระลาก ในปัจจุบันนั้นยังมีอยู่ แต่จะหาเจ้าพิธีที่เชี่ยวชาญนั้นยากเสียแล้ว ด้วยเหตุผลในการธำรง อนุรักษ์ประเพณีสมโภชพระลาก ผู้เขียนจึงได้จัดทำตำราสมโภชพระลาก หรือ พระสำคัญขึ้น

สำหรับการสมโภชพระลาก หากเป็นพิธีสมบูรณ์จะประกอบไปด้วยขั้นตอน คือ การเชิญพระลากขึ้นเบญจาสรงน้ำ การเชิญพระลากเข้าโรงพิธี การชุมนุมเทวดา อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอวยชัยให้พร กล่าวสรรเสริญพระลาก ถวายเครื่องทรงและกระยาหาร เจิมพนมพระ และผูกผ้าคอพญานาคที่หัวเรือพระ เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระ ก่อนที่จะอาราธนาพระลากขึ้นพนมพระ ในพิธีสมโภชพระลากของชาวนครศรีธรรมราช เป็นพิธีกรรมที่เข้มขลัง และ สนุกสนาน หากมองเผิน ๆ จะคล้ายกับการทำขวัญนาคของภาคกลาง จะต่างกันที่บทที่ใช้ในพิธีกรรม และรายละเอียดบางส่วน เช่น การทำน้ำมนต์ การเชิญชุมนุมเทวดา เชิญอารักษ์พื้นเมือง การสรรเสริญพระลาก บูชาอดีตเจ้าอาวาสวัดแห่งนั้น ผู้เขียนหวังว่า ตำราสมโภชพระลาก และ พระสำคัญ จะช่วยสืบสานประเพณี ขนบการสมโภชพระลาก ให้คงอยู่คู่กับภาคใต้ไปจนถึงในอนาคต

ในตำราสมโภชพระลาก-พระสำคัญ จะมีเนื้อหาดังนี้ ( ๖๐ หน้า )

๑. เครื่องประกอบพิธี สมโภชพระลาก
๒. บทไหว้พระ
๓. บทไหว้ครู
๔. บทไหว้พระภูมิเจ้าที่
๕. บทกวาดผืนพระธรณี
๖. บทจุดเทียนยอดบายศรี
๗. บทประชุมอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์
๘. บทยอพระสุเมรุ ( เชิญเทวดามาสถิตบายศรี )
๙. บทอาราธนาเทวดารักษาพระ
๑๐. บทนมัสการพระ ( บูชาพระปฎิมา )
๑๑. บทถวายเครื่องสมโภช ( ถวายสังเวย )
๑๒. บทยอราชรถ ( สมโภชพนมพระ )
๑๓. บทเบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระ
๑๔. บทอาราธนาเสด็จโปรดพุทธบริษัท ( นิมนต์พระขึ้นพนมพระ หรือ นิมนต์โปรดสาธุชน )
๑๕. เทวปัตติทานคาถา