ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

การ #ลอยกระทง พิธีมงคลแห่งการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา ที่แปรเปลี่ยนไปเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

เป็นที่ทราบกันดี ถึงวัตถุประสงค์ในการลอยกระทงที่มีมาแต่เดิม คือการบูชา และ ขอขมากรรมต่อพระแม่คงคา พระเทวีผู้ดูแลธาตุน้ำ ซึ่งแต่เดิม ภายในกระทง ที่ลอยเพื่อขอขมา จะมีเพียง ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู ของบูชาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจัดใส่ในกระทงได้ โดยสิ่งที่บูชาทั้งหมด ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
แต่ในปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิต คติความเชื่อที่เปลี่ยนไป ได้มีการผนวกเอาความเชื่อเรื่องการลอยเคราะห์ มาใส่ในประเพณีลอยกระทงด้วย เท่าที่ศึกษากันมา การลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคา ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ แต่เดิม “ มิได้ ” มีการปลงผม ปลงเล็บ ใส่เศษเงินลงในกระทงเลย ซึ่งถ้าหากจะลอยเคราะห์ ก็จะมีพิธีแยกออกต่างหาก ผู้ที่จะเสียเคราะห์ จะนำเอา ชื่อ เล็บ ผม เศษเงิน ข้าวสารอาหารแห้ง หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ ใส่ใน “ เรือ ” หรือ “ แพ ” ที่ใช้ลอยเคราะห์ และการลอยเคราะห์ จะไม่ทำกันในวันพระโดยเด็ดขาด

ดังนั้นแล้ว การลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาที่ถูกต้อง ตามเทวปกรณ์ ตามประเพณีที่ได้สืบกันมาแล้ว จึง “ งด ” ใส่เศษผม เศษเล็บ และเหรียญเงินลงในกระทงเด็ดขาด เพราะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ เจตจำนงค์ของประเพณีลอยกระทง และเป็นการทำที่ไม่ต้องตรงกับจารีตโบราณใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งพิธีลอยเคราะห์ กับ การลอยกระทง เป็นพิธีคนละพิธี ทำกันคนละวาระ มีรายละเอียดของพิธีอย่างชัดเจน จึงควรศึกษา รายละเอียดของประเพณี เพื่อที่จะประพฤติบูชาได้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมที่มีมา

กระทงสำหรับการลอยบูชา และ ขอขมาพระแม่คงคา ที่ถูกต้อง

ในการลอยกระทง เพื่อขอขมาพระแม่คงคาในอดีตนั้น หาได้มีรูปทรงเป็นกระทงกลีบดอกบัวเหมือนเช่นทุกวันนี้ไม่ โดยจะทำจากกาบกล้วย จากใบเตยดง หรือ วัสดุที่พอจะทดแทนกันได้ แล้วภายใน ก็บรรจุสิ่งที่สำหรับบูชาพระแม่คงคา ประกอบด้วย เทียน หรือ ประทีป , ธูปหอม , แป้งหอม , น้ำมันหอม , หมากพลู , ข้าวตอก , ดอกไม้มีกลิ่นหอม , น้ำตาลแว่น , กล้วยหั่นเป็นชิ้น , ผลไม้ที่มีรสหวาน , ขนมโคขาว , ขนมต้มแดง และ ผ่อนผ้าแพรพรรณสีสดใส ๑ ผืน จัดสิ่งบูชาทั้งหมดใส่ในกระทงเล็กๆ ที่ทำจากใบตอง แล้วเรียงลงในกระทงใบใหญ่ที่เราทำจากกาบกล้วย

เมื่อถึงเวลาที่พระจันทร์เต็มดวง ผู้คนก็จะนำกระทงที่บรรจุเครื่องขอขมาพระแม่คงคา นำไปยังท่าน้ำ หรือ ริมลำคลองใกล้บ้าน จุดธูปตามเทียนแล้วยกกระทงขึ้นทูลอธิษฐาน ขอขมาลาโทษต่อพระแม่คงคา และ เทพแห่งสายน้ำทั้งปวง แล้วจึงลอยกระทงลงในน้ำ ปล่อยให้กระทงไหลไปตามคลอง จึงเสร็จพิธีตามขนบโบราณกาล