ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#เจดีย์ราย วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เจดีย์แห่งองค์พระมหาสาวก โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ถ้าหากท่านได้มีโอกาสเข้าไปสักการะองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สิ่งแรกที่ทุกสายตาจะต้องเห็นทันทีเมื่อได้ผ่านพ้นวิหารพระระเบียงคดมาแล้ว นั่นก็คือ “ เจดีย์ราย ” ขนาดน้อยใหญ่เรียงแถวกันอย่างน่าชม

ซึ่งการสร้างเจดีย์ราย ไว้รายล้อมองค์พระบรมธาตุนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างตั้งแต่สมัยแรกเริ่มสร้างองค์พระบรมธาตุ ตามหลักคตินิยมการสร้างศาสนสถานให้อิงกับระบบจักรวาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ ของการสร้างมหาสถูป “ บรมพุทโธ ” บนเกาะชวากลาง ซึ่งเจดีย์รายของเมืองนครนั้น ได้ถูกบูรณะดัดแปลงมาหลายยุค หลายสมัย จนกระทั่งเป็นรูปทรงศิลปะอยุธยาอย่างที่เห็น ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อดูรูปแบบการวางผังเจดีย์แล้ว สันนิษฐานได้เลยว่าการวางแนวสถูปเช่นนี้ ไม่มีในพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาโบราณสถานในพุทธศาสนาในยุคสมัยหลังยุคสุโขทัยลงมาแล้ว พบว่ามีน้อยแห่งที่จะสร้างแบบเดียวกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งการก่อสร้างเจดีย์รายนั้น ได้มีการเรียงตามลำดับเล็ก – ใหญ่ โดยให้เจดีย์รายขนาดเล็ก อยู่แถวนอกสุด ใกล้กับวิหารพระระเบียงคต ถัดเข้ามาเป็นเจดีย์รายขนาดกลาง และชั้นในสุดใกล้กับองค์พระบรมธาตุ คือเจดีย์รายขนาดใหญ่ ซึ่งมีการเรียงแถวต่อกันทั้งแนวดิ่งและแนวขวางอย่างเป็นระเบียบน่าชม นอกจากจะมีเจดีย์รายสามขนาดอย่างที่พบเห็นกันแล้ว ยังมีเจดีย์ประจำทิศ อันเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ อยู่ประจำมุมทั้งสี่ขององค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ พระเจดีย์หลังวิหารพระศรีธรรมโศก พระเจดีย์พระปัญญา และ พระเจดีย์สี่กา ส่วนพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้น อยู่ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระบรมธาตุ ปัจจุบันถูกรื้อจนไม่เห็นซากแล้ว

จุดประสงค์ของการสร้างพระเจดีย์รายในยุคแรกเริ่มนั้น สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระสาวกของพระองค์ หรือถ้าเป็นคติมหายาน ก็สร้างขึ้นเพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่อยู่ในจักรวาล หรือ พุทธเกษตรถัดไปจากพุทธเกษตรของเรา ซึ่งการสร้างมหาสถูปขนาดใหญ่นั้น จะต้องมีพระเจดีย์บริวาร ๔ องค์ อยู่ประจำมุมทั้ง ๔ ขององค์พระบรมธาตุ ซึ่งในคติความหมายนั้น ถ้าหากเป็นคติของโลกจักรวาล จะให้ความหมายว่าพระเจดีย์ทั้งสี่นั้นคือ ทวีปทั้งสี่ ส่วนองค์พระบรมธาตุนั้นคือเขาพระสุเมร แต่ถ้าหากเป็นคติของพุทธเถรวาท จะถือว่า พระเจดีย์บริวารสี่องค์นั้น แทนด้วยพระอัครมหาสาวกทั้ง ๔ คือ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ และ พระมหากัสสปะ แต่บางคติก็ว่าแทน มรรค ๔ ผล ๔ อันเป็นหนทางไปสู่นิพพาน นี่คือจุดประสงค์ของการสร้างพระเจดีย์รายในยุคแรก ซึ่งต่อมาในยุคหลัง คือราวยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะเจดีย์ราย เพื่อใช้ “ บรรจุอัฐฐิ ” ของผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นคติที่ขัดต่อคติของชาวพุทธโบราณอย่างยิ่ง เพราะอัฐฐิของผู้ที่สามารถจะบรรจุในเจดีย์เพื่อที่จะเคารพกราบไหว้นั้น ประกอบไปด้วย พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระสารีริกธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตธาตุของพระอรหันต์ขีณาสพ และ พระบรมอัฐฐิของพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น ที่จะสามารถบรรจุในเจดีย์ได้

เจดีย์รายในอดีตนั้น จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่าในอดีตเคยมีเจดีย์รายถึงจำนวน ๑๘๕ องค์ ภายหลังมีการบูรณะสำเร็จเสร็จสิ้น ๑๔๙ องค์ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง ที่มีเจดีย์ราย “ บางส่วน ” ที่ผุพังและถูกรื้อทิ้งไป ถึงแม้ว่าเจดีย์รายบางส่วนจะถูกรื้อไป แต่เจดีย์รายที่เหลือ ก็ยังคงสามารถแสดงถึงแผนภูมิจักรวาลตามคติพุทธได้อย่างยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นถึง “ ศูนย์กลางความศรัทธา ” ของพุทธศาสนาในคาบสมุทรทะเลใต้ ผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ และ คติพุทธศาสนา จึงไม่สมควรที่จะมองข้ามความสำคัญของเจดีย์ราย ที่รายล้อมองค์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ประดุจแนวมณฑลของพุทธเกษตรเลย

ในปัจจุบัน เจดีย์รายภายในวัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจากการบูรณะปฎิสังขรณ์ในคราวนั้น ได้มีการสำรวจและบันทึกรูปทรงของขนาดลักษณะต่าง ๆ ของเจดีย์รายเอาไว้ทุกองค์ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาศิลปกรรมและการบูรณะเจดีย์รายในอนาคต

ขอบพระคุณภาพประกอบจาก สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช)