ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

จอม , เมือง , หม่อม ตำแหน่งข้าราชการพื้นถิ่นภาคใต้ในอดีต
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ตำแหน่งทางการปกครองของขุนนางแต่โบราณของไทย โดยลำดับมาแล้ว จากการปฎิรูปและประมวลกฎหมายของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประกอบตั้งแต่ เจ้าพระยา , พระยา , พระ , หลวง , ขุน , หมื่น , พัน และ ทนาย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มีการใช้แพร่หลายภายในการปกครองของกรุงศรีอยุธยา ตราบจนกระทั่งมีการปฎิรูปประเทศ ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ยุคกลาง

สำหรับหัวเมืองในภาคใต้เอง ก็มีการนำระบบศักดินาอย่างกรุงศรีอยุธยามาใช้เช่นเดียวกัน แต่ที่อาจแปลกประหลาด หรือ ผิดแผกไปจากที่อื่น คือตำแหน่งในข้างต้น “ หม่อม เมือง และ จอม ” ที่จะนำมาอภิปรายกันในบทความนี้

ลำดับแรก คำว่า “ หม่อม ” ในความรับรู้โดยทั่วไป คือบุคคลที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ตั้งแต่ หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง และ หม่อมเจ้า ซึ่งแต่เดิมแล้ว คำว่า “ หม่อม ” ในยุคโบราณ ใช้เรียกขาน “ ชนชั้นปกครอง หรือ ชนชั้นสูง ” อย่างลำลอง ซึ่งบางท่านอาจเป็นแค่ขุนนาง และในทางการปกครองของภาคใต้ยุคโบราณ ตำแหน่ง “ หม่อม ” คือ “ ขุน ” ที่ได้รับการสถาปนาเป็น “ ผู้รั้งเมือง ” ที่มีสถานะต่ำกว่า หรือ เทียบเท่าเจ้าเมืองในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่ง หม่อม ในภาคใต้ จะปรากฎในหัวเมืองภาคใต้ ในกรณีที่มีการตั้งผู้รั้งเมือง ให้เป็นเจ้าเมืองชั่วคราว เช่น ออกขุนทรเนนทรเทพ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง ก็เรียกเป็น หม่อมทรเนนทรเทพ หรือ ออกขุนเทพตำรวจ เจ้าเมืองพัทลุง ในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรฐ ก็เรียกว่า หม่อมเทพตำรวจ เป็นต้น

ลำดับต่อไป “ เมือง ” ทินนามพิเศษ ที่มีการใช้ในภาคใต้ เข้าใจว่าคงจะเป็นตำแหน่งพิเศษ ซึ่งตำแหน่ง “ เมือง ” นั้น เป็นยศที่ต่ำกว่าหลวง แต่อยู่สูงกว่าขุน อาจพอละม้ายคล้ายกับตำแหน่ง “ จมื่น ” ซึ่งตำแหน่ง “ เมือง ” ที่ปรากฎในการปกครองในภาคใต้ ที่เก่าแก่สุด ก็คงจะเป็น “ ออกเมืองภักดีกรเทพ ” เจ้าเมืองพัทลุงในยุคอยุธยาตอนกลาง และตำแหน่ง “ เมือง ” เอง ก็ปรากฎอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ดังนี้ คือ

๑. เมืองไชยคีรีศรีสงคราม ขุนนางท้องที่พกหมากพเนียนขนอม มีศักดินา ๘๐๐ และเป็นหนึ่งในคณะกรมการเมืองนครศรีธรรมราช

๒. ออกเมืองพิไชยธานีศรีสงคราม ขุนนางปกครองเมืองพิเชียร ( นัยว่าเป็นเจ้าเมืองในท้องที่ด้วย เมืองพิเชียร ในปัจจุบันคือท้องที่ อ.เชียรใหญ่ และ บางส่วนของ อ.เฉลิมพระเกียรติ ) มีศักดินา ๑,๐๐๐

๓. เมืองรามธานี นายที่เบี้ยซัด ( สันนิษฐานว่าอยู่ในแถบปากพนัง ) ศักดินา ๘๐๐

๔. เมืองพินิจภักดีศรีสงคราม รองที่นาหมาก ( สันนิษฐานว่าแถบ จุฬาภรณ์ – ชะอวด ที่เรียกกันว่า ปรามบุรี ) ศักดินา ๖๐๐

๕. เมืองอินทร์ และ เมืองปากน้ำ ศักดินา ๖๐๐ เป็นกองตระเวนที่เมืองตรัง

๖. เมืองเพชรชลธี ศักดินา ๒๐๐ ดูแลที่เลนฑุบาต ( ธรณีสงฆ์ ) ที่ไทยบุรีท่าสูง ( สันนิษฐานว่าบริเวณมหาลัยวลัยลักษณ์และโดยรอบทั้งหมด )

๗. เมืองภักดีศรีสงคราม ขุนนางปกครองเมืองอลอง ( นัยว่าเป็นเจ้าเมืองหน้าด่านก่อนถึงเมืองนคร ฯ ด้วย ปัจจุบัน อลอง ก็คือ ต.ฉลอง อ.สิชล ) ศักดินา ๑,๐๐๐ เทียบเท่ากับออกเมืองพิไชยธานีศรีสงคราม นายเมืองพิเชียร

๘. เมืองพิไชยภักดีศรีคชไกร นายที่ช้างซ้าย ศักดินา ๘๐๐

ตำแหน่ง “ เมือง ” เป็นตำแหน่งที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่อาจไม่คุ้นเพราะไม่มีการเอ่ยถึง ซึ่งหน้าที่ของ ตำแหน่ง “ เมือง ” นั้น ในกรณีของที่อลอง และ ที่พิเชียรนั้น “ เมือง ” มีหน้าที่เป็นเจ้าเมืองจริง ๆ แต่เป็นเจ้าเมืองหน้าด่านชั้นใน ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนตำแหน่งเมืองท่านอื่น ๆ ก็เป็นดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น

และลำดับสุดท้าย ตำแหน่ง “ จอม ” ตำแหน่งนี้คือ หลวง หรือ ออกหลวง ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในบางยุค บางสมัย เช่น ออกหลวงเยาวราช เจ้าเมืองพัทลุงยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง ก็เรียกเป็น จอมเยาวราช , หลวงชัยราชาราชสงคราม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยุคพระไชยราชา ก็เรียกเป็น จอมชัยราชา , หลวงภักดีพลเดช หรือ จอมชัยภักดีพลเดช หรือ จอมบ้านควนที่ตรัง , หลวงอุไภยราชธานี หรือ จอมอุภัยราชธานี เจ้าเมืองตรัง เป็นต้น

แม้ว่าวันนี้ ตำแหน่ง “ หม่อม เมือง จอม ” จะเลือนหายไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาในด้านประวัติศาสตร์การปกครองในท้องถิ่นแล้ว นี่ก็เป็นอีกองค์ประกอบ ที่ไม่ควรจะละเลยไปเสียได้