ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

นครศรีธรรมราช เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ปรากฎร่องรอยของศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ทั้งโบราณสถาน และ โบราณวัตถุ การเข้ามาของพราหมณ์จากชมพูทวีปมายังด้ามขวานแห่งนี้ ได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์อารยธรรมมากมาย ทั้งศิลปะ ประเพณี วิถีความเชื่อ พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ถือเป็นกลุ่มนักบวชที่ได้รับความเชื่อถือมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในปัจจุบัน ก็ยังมีลูกหลานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ยังคงรับประกอบพิธีต่าง ๆ อยู่

ที่มาของต้นสกุลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีบันทึกอยู่ใน “ ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ” หลักฐานการบันทึกถึงประวัติความเป็นมา , กัลปนา ตลอดจนถึงขนบวิถีของพราหมณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช ไว้ในระดับหนึ่ง จึงจะขอนำมาขยายความ ถึงประวัติของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ให้ได้ทราบโดยทั่วกัน

ในราวมหาศักราช ๑๒๕๑ ( ตรงกับพุทธศักราชที่ ๑๘๗๒ และ จุลศักราชที่ ๖๙๑ ) ได้มีเรือพ่อค้า ค้าขายสินค้าจากเมืองพาราณสี ( หรือ รามนคร ) ได้มาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา แล้วเมื่อพระเจ้ารามาธิบดี แห่งพาราณสีได้ทรงไถ่ถามความจากพ่อค้าผู้ไปกรุงศรีอยุธยา ทรงทราบว่าพระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ก็ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ( พระเจ้าอู่ทอง ) ดุจเช่นเดียวกับพระองค์ พระเจ้ารามาธิบดีแห่งพาราณสี จึงทรงส่งนายทหารฝีมือดี ๔ นาย ถือ เครื่องบิณจตุรภัณฑ์ ไปถวายพระสมเด็จพระรามาธิบดีทางอากาศ ( ตรงนี้อาจเกินจริงไปสักหน่อย… จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะเป็นการลงเรือที่มีกำลังแล่นในทะเลอัตราสูง จนสามารถเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยาได้อย่างรวดเร็ว) เมื่อนายทหารทั้งสี่ได้เข้าเฝ้ายังพระราชมณเฑียร ทอดพระเนตรสมเด็จพระรามาธิบดีทรงบรรทมหลับนั้น ก็เกิดอาการ “ จังงัง ” ( คือ ตัวแข็งทื่อ พูดกล่าวอะไรมิได้ ขยับเขยื้อนตัวก็ไม่ได้ เป็นอาการเกร็งขนาดหนัก ) เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีทรงตื่นจากพระบรรทม ทรงได้ตรัสถามแก่นายทหารจากรามนครทั้งสี่ว่ามาด้วยการใด นายทหารจากรามนครจึงกราบทูลว่า มาด้วยเรื่องพระราชไมตรีจากพระเจ้ากรุงพาราณสี สมเด็จพระรามาธิบดี จึงได้ทรงมีพระราชไมตรี ติตต่อกับ พระเจ้ารามาธิบดีแห่งรามนครโดยตลอดมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเจ้ากรุงพาราณสี ฯ ได้ทรงถวายเทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระลักษมี เทวรูปพระมเหศวรี ( พระภูมิเทวี หรือ พระแม่ธรณี ) บรมหงษ์ ( สันนิษฐานว่าเป็นหงษ์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช ) และ ชิงช้าทองแดง ลงเรือสำเภา พร้อมด้วยพราหมณ์ “ ปัญจฑราวิต ” ที่ชำนาญพิธีกรรม ( น่าจะเป็นพราหมณ์ทั้ง ๕ สำนัก จาก ๕ แคว้นทางใต้ของทางอินเดีย ได้แก่ ทมิฬ ( ฑราวิต ) อานธระ ( เตลุกู ) คุชราต ( คูร์ขระ ) มหาราษฎร์ และ กรรนาฎ ( นาการีส ) พราหมณ์ปัญจฑราวิต เป็นคณะพราหมณ์ที่มีชื่อเสียง ควบคู่กับคณะพราหมณ์แห่งองคราษฎร์ฝ่ายเหนือ ที่มี ๕ สำนัก ๕ เมือง เช่นเดียวกัน ได้แก่ กานยกุพชะ , สารัทวัต , โคทะ , มิถิลา และ อุตกล ) เหล่าพราหมณ์ปัญจฑราวิต หรือ ธชีพราหมณ์พ่อ ๕ ภาษา ตามที่ตำนานพราหมณ์เมืองนครได้ระบุไว้นี้ ได้มีหัวหน้าคณะคือ “ ผแดงธรรมนารายณ์ ” ( ผแดง แผลงมาจากคำว่า “ ผ้าแดง ” ซึ่งน่าจะมาจากชื่อผ้านุ่งของพราหมณ์ทางใต้ของอินเดีย ที่จะนุ่งผ้าสีส้มจีวรพระ หรือนุ่งผ้าสีเหลืองที่ดูโดดเด่นสะดุดตา กันมากกว่านุ่งผ้าขาวตามที่เคยเห็นกันมา ) ได้คุมปวงพราหมณ์ทั้ง ๕ สำนัก ตลอดจนพระเทวรูปทั้ง ๓ และเครื่องสักการะทั้งปวงลงเรือสำเภา เดินทางไปกรุงศรีอยุธยา แต่ในระหว่างการเดินทางได้เกิดพายุพัดกระหน่ำ หอบเอาเรือเข้าสู่ปากน้ำตรัง ทางกรมการเมืองทางตรังได้รายงานมายัง เจ้าพระยานครในยุคนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยุคสมัยของ “ เจ้าศรีมหาราชา ” เป็นอย่างมาก หรือ สมัยของ “ หมื่นศรีจอมรัด ” เป็นอย่างน้อย ได้นำปวงพราหมณ์ที่นำโดยแผดงธรรมนารายณ์ เข้ามาพักยังเมืองนครศรีธรรมราช และได้กราบบังคมทูลความไปยังกรุงศรีอยุธยา โดยมีเจ้าพระยาโกษาธิบดี เป็นผู้กราบบังคมทูลความ สมเด็จพระรามาธิบดี ฯ จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี แต่งเรือจำนวน ๖ ลำลงมารับพระเทวรูปและปวงพราหมณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ปรากฎว่า คณะเดินเรือของเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็เจอกับพายุกระหน่ำเช่นกัน หนักถึงขนาดเมฆหมอกนั้นมืดมิดทั่วทุกทิศ ไม่สามารถเดินเรือได้ และมีเทพนิมิตรจากองค์พระนารายณ์ว่าจะทรงประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีต้องเชิญเทวรูปพระนารายณ์กลับไปตั้งที่ปากนคร พร้อมแต่งเครื่องพลีถวาย และนำพราหมณ์ครึ่งหนึ่งของคณะขึ้นไปกราบบังคมทูลแก่สมเด็จพระรามาธิบดีถึงความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นด้วยเทวานุภาพของพระนารายณ์ สมเด็จพระรามาธิบดี หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระเมตตา มีพระราชโองการให้องค์พระนารายณ์ ตลอดจนพราหมณ์ที่มาทั้งหมด ไปอาศัยยังเมืองนครศรีธรรมราชตามเทพนิมิตร และหาที่แต่งตั้งเทวสถานสำหรับบูชากันให้เรียบร้อย เจ้าพระยาโกษาธิบดี พร้อมด้วยเจ้าพระยานครในขณะนั้น จึงเลือกเอาตำบลท่าม้า เป็นสถานที่ในการตั้งเทวสถานของพราหมณ์ และได้จัดพิธีกรรมบูชาพระนารายณ์ถวายเป็นราชกุศลอยู่เกือบเดือน

จนกระทั่งราวเดือน ๔ ของปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ให้พราหมณ์แผดงธรรมนารายณ์ และ พราหมณ์แผดงศรีกาเกีย สเภาลักจันเข้าเฝ้าสมเด็จพระรามาธิบดีที่กรุงศรีอยุธยา ขอพระราชทานอนุญาตให้คณะพราหมณ์ที่มาด้วยกันทั้งหมดได้ประกอบพิธีกันที่เมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมด สมเด็จพระรามาธิบดีจึงทรงพระราชทานอนุญาต อีกทั้งแต่งตั้ง ผแดงธรรมนารายณ์ เป็น ออกพระธรรมนารายณ์เวทภักดีศรีรัตนโกษา และ ผแดงศรีกาเกีย สเภาลักจัน เป็น ออกพระศรีราชโภเบนทร์นรินทร์ภักดีศรีอาคมชุมนุม พร้อมกับทรงพระราชอุทิศ สิ่งของสำหรับบูชาพระเทวรูป และ ของใช้ในศาสนกิจของพราหมณ์มากมาย และสมเด็จพระรามาธิบดีก็ได้ทรงหลั่งทักษิโณทกสาบาน ให้อภิสิทธิ์แก่พราหมณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช ให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าพระยานคร ตลอดจนกรมการเมือง งดเว้นการเข้าราชการในด้านแรงงานและสงครามทั้งปวง เมื่อทรงหลั่งทักษิโณทกอุทิศแล้ว ก็ทรงต่อยคณฑีกระเบื้องเพื่อแสดงสัตย์สาบานแก่เหล่าข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าทั้งปวง ว่าเป็นการอุทิศที่ตรัสแล้วมิคืนคำเด็ดขาด

คณะพราหมณ์ที่เดินทางมาทั้ง ๕ กลุ่ม ต่างได้พื้นที่ในบริเวณตลาดท่าม้าทั้งหมด ทางเหนือจรดกำแพงวัดเสมาเมือง ทางตะวันออกจรดตลาดป่าขอม ทางใต้จรดจวนเจ้าเมือง ทางตะวันตกจรดตลาดหลวง สำหรับในการสร้างที่พักอาศัย และสร้างหอพระเทวรูป ซึ่งในยุคนั้น จะมีด้วยกัน ๓ หอคือ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และ หอพระพุทธคิเนศวร์ ( พระพิฆเนศวร ) สำหรับในการประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์ทั้งปวง

จะเห็นได้ว่า ที่มาของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในยุคหลัง ล้วนสืบเชื้อสายมาจากเหล่าพราหมณ์ที่มาโดยพระราชโองการของกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองพาราณสีทั้งสิ้น โดยพราหมณ์คณะนี้ อาจเป็นพราหมณ์คณะแรกในแผ่นดินสยาม ที่ประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย หรือ พิธีโล้ชิงช้าต้อนรับพระอิศวร พระนารายณ์ อย่างที่ปรากฎกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ไทย

อ้างอิง
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช จัดพิมพ์โดย ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๕