ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ที่มาของความหมายเครื่องประกอบในการทำน้ำมนต์ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

การทำน้ำมนต์ของพราหมณาจารย์ หรือ เจ้าพิธีในทางภาคใต้นั้น เป็นการผนวกเอาคติทางพระเวท โองการ และ ความรู้ทางเวชศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยเครื่องทำน้ำมนต์นั้น จะมีความหมายในแต่ล่ะส่วนดังนี้

ขันน้ำเทพมนต์ = คือสัญลักษณ์แทนขอบฝั่งของเกษียรสมุทร หรือกำแพงจักรวาล ที่ปากขัน จะคาดด้วยด้ายขาว และ ด้ายแดง แทนเทพเจ้าฝ่ายบุรุษ และ เทพเจ้าฝ่ายสตรีทั้งหลาย บางคติก็หมายถึงสายน้ำทุกสายในไตรภพ ที่มาบรรจบกัน
เครื่องใบไม้รองหม้อน้ำมนต์ = หางกล้วยทองแทนทวีปทั้งสี่ , ใบมะกรูด มะนาว ส้มป่อย แทน มนุษย์ สัตว์ พืช บนโลก , ใบทองหลางแทนอสูร และ ใบเงินทอง แทนทวยเทพที่กวนเกษียรสมุทร

น้ำมนต์ภายในหม้อ = แทนน้ำอมฤตของเหล่าทวยเทพ

เครื่องปรุงน้ำมนต์ หรือ เครื่องยาภายในหม้อ = ประกอบด้วย ของทนสิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อ เช่น เพชรหน้าทั่ง , เหล็กไหล , หินขวานฟ้า ฯลฯ เครื่องยา เช่น มะกรูด ส้มป่อย ฯลฯ แทนทรัพย์สิน หรือ สิ่งวิเศษ ที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทร

ใบไม้สำหรับพรมน้ำมนต์ = ประกอบด้วยพืชมงคลชนิดต่าง ๆ แทนเทพเจ้าทั้งปวงที่มาช่วยทำน้ำมนต์ ได้แก่หญ้าคา แทนพระอิศวร , หญ้าเข็ดมอญแทนพระพรหม , หญ้าแพรกแทนพระพิฆเนศ , กะเพราแทนพระนารายณ์ , ใบเฉียงพร้าแทนพระอินทร์ , ใบขนุน แทนพระพิรุณ ,ใบเงินทอง แทนพระวิษณุกรรม , ใบมะยม แทนท้าวจตุโลกบาล , ใบส้มป่อย แทนพระจันทร์ , ใบมะนาว แทนพระอาทิตย์ , ใบมะกรูด แทนพระเสาร์ , ใบหมากผู้ แทนพระภูมิ , ใบคูณ แทนพระพาย , ดอกบัวแดง แทนพระอุมาเทวี , รวงข้าว แทนพระลักษมี , ดอกเข็ม แทน พระสุรัสวดี พืชพรรณมงคลเหล่านี้ จะนำมามัดรวมกันด้วยด้ายขาวแดง และ แหวนมีหัว เพื่อใช้ในการพรมน้ำมนต์ในพิธี
เทียนทำน้ำมนต์ = แทนแสงสว่างจากปรพรหมัน ที่เป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง