ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่หลักเมืองแห่งชาวศรีธรรมโศก ได้ประดิษฐานบนแผ่นพื้นพสุทธาเมืองนครศรีธรรมราช โดยการบัญชาขององค์จตุคามรามเทพ ที่สร้างศาลหลักเมือง ตามเจตคติของพุทธศาสนานิกายมหายาน ในความเชื่อเรื่อง “ เบญจธาตุ เบญจทิศ ” โดยเปรียบได้ดังนี้คือ

– พระเทวโพธิสัตว์มหาไวโรจนะ ธาตุอากาศ อยู่ใจกลาง ทิศมัชฌิมา คือ องค์จตุคามรามเทพ เป็นพระหลักเมือง
– พระเทวโพธิสัตว์อโมฆสิทธิ ธาตุลม ทิศอุดร คือ พญาโหรา เป็นพระเสื้อเมือง
– พระเทวโพธิสัตว์อักโษภยะ ธาตุน้ำ ทิศบูรพา คือ พญาชิงชัย เป็นพระทรงเมือง
– พระเทวโพธิสัตว์รัตนสัมภวะ ธาตุดิน ทิศทักษิณ คือ พญาสุขุม เป็นพระพรหมเมือง
– พระเทวโพธิสัตว์อมิตาภะ ธาตุไฟ ทิศประจิม คือ พญาหลวงเมือง เป็นพระบันดาลเมือง

ปฎิมากรรมพระเทวโพธิสัตว์ทั้ง ๔ ในศาลบริวาร ที่รู้จักกันดีในนามของ ศาลพระจตุโลกเทพ เปรียบเสมือนกับผู้คุ้มครองทั้งสี่ทิศของเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากท้าวจตุโลกบาลแล้ว ก็ยังมีพระจตุโลกเทพ ที่เป็นผู้ช่วยที่สำคัญของพระหลักเมืองนคร หรือ องค์ราชันดำจตุคามรามเทพ ในการดูแลด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ

๑. พระเสื้อเมือง มีหน้าที่ในการปราบปรามอริราชศัตรู ทำลายอุบาทว์จัญไร สิ่งที่เป็นเภทเป็นภัยทั้งหลายให้มลายสูญไป ให้พรช่วยเหลือในด้านการปราบปราม การเอาชนะในการประชันขันแข่ง คอยดูแลความสงบสุขของบ้านเมืองมิให้เกิดภัยแผ้วพาล เปรียบได้กับสมุหกลาโหม กรมเวียง ที่มีหน้าที่ปกป้องบ้านเมือง

๒. พระทรงเมือง มีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวเมือง คอยปกป้องรักษาเมืองมิให้ถูกศัตรูทำลายจากทั้งภายนอกและภายใน ให้พรในเรื่องความยุติธรรม การสาบานตน การให้วาจาสัจ ช่วยเหลือแก่ผู้ได้ยากในเรื่องคดีความ เปรียบได้กับสมุหนายก กรมวัง ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเมือง

๓. พระพรหมเมือง มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องความอุดมสมบูรณ์ เรื่องฝนฟ้า การทำนาไร่ รวมถึงความยุติธรรม และการช่วยเหลือผู้คนด้วยหลักพรหมวิหารสี่ ให้พรในเรื่องการทำไร่นา ทำมาหากินโดยสุจริต เรื่องฝนฟ้าตามฤดูกาล เปรียบได้กับ พระเกษตราธิบดี กรมนา ที่มีหน้าที่บำรุงพืชพรรณธัญญาหาร เลี้ยงชาวเมือง

๔. พระบันดาลเมือง มีหน้าที่ดูแลด้านการก่อสร้าง การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ทรัพย์สินเงินทอง การคลัง การค้าขาย ให้เจริญรุ่งเรือง สร้างชีวิตชีวาให้แก่บ้านเมือง มีการแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรี จนสร้างความมั่งคั่งแก่บ้านเมือง ให้เกิดความวิวัฒนาสถาพร ให้พรแก่ผู้ค้าขาย บรรดานายช่างสาขาต่าง ๆ นักเรียนนักศึกษา ให้สร้างความก้าวหน้า มั่งคั่ง มั่นคงแก่บ้านเมือง เปรียบได้กับ พระโกษาธิบดี กรมคลัง ที่มีหน้าที่ดูแลการค้าขาย

พระหลักเมือง
ประมุขสูงสุดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมือง เปรียบได้กับพระมหากษัตริย์ ที่ได้ปกครองบ้านเมืองให้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในเผ่าพันธุ์ เกิดสติปัญญา ความสามารถ อำนาจวาสนา โชคลาภที่จะนำพาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภยันตรายทุกรูปแบบ ให้บังเกิดสิ่งที่เป็นศุภมงคล ความเจริญ ความสวัสดีมีชัยแก่บ้านเมืองสถานเดียว พระหลักเมืองนั้นจะให้พรในทุกด้านที่เป็นไปในทางสุจริต และไม่เกินแรงกรรมเท่านั้น จึงจะประสบผลสำเร็จ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ที่อยู่ที่ตรงกลางช่องประตูของหลักเมืองนคร นั่นคือ เทพยดาประจำทิศ ที่อยู่เป็นพยานในศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ว่าท่านจะอธิษฐานสิ่งใด ก็ย่อมเป็นที่รับรู้ของเหล่าเทพยดาทุกชั้นภพ ทุกสารทิศ เพราะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ถูกออกแบบมาให้เป็น “ สนามพลังจักรวาล ” ที่อยู่บนโลกมนุษย์รองรับพลังงานจากฟากฟ้าอันเป็นทิพย์ หลั่งไหลมาสู่โลก ปรุงแต่งเข้ากับระบบธาตุในโลก ตามกฎของวิชาโพธิจิต ที่ผู้บรรลุรู้แจ้งเห็นญาณ จะสามารถบังคับ บันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ได้ตามใจนึก สมกับฉายาขององค์ราชันดำปฐมวงศ์สุวรรณปุระที่ถูกเรียกขนานนามกันว่า “ ศรีมหาราชพังพระกาฬ ” พระหลักเมือง ผู้มีชัยเหนือกาลเวลา

ดังนั้น การสักการะหลังเมืองนครศรีธรรมราช ให้ถูกต้องตามหลักพุทธมหายานของชาวศรีวิชัยชวากะแล้ว ท่านควรจะสักการะเทพยดาในศาลจตุโลกเทพก่อน โดยเรียงลำดับตามทักษิณาวัตร เริ่มจากศาลพระบันดาลเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง แล้วจึงขึ้นไปสักการะพระหลักเมืององค์ประธาน อธิษฐานขอพร ถวายเครื่องบูชาด้วยน้ำใจที่บริสุทธิ์ แล้วจึงไปลั่นระฆังที่อยู่ประจำมุมทั้งสี่ของศาลหลักเมือง เพื่อบอกกล่าวต่อท้าวจตุโลกบาลเทพยดาทั้งสี่ทิศ ให้สิ่งที่ขอไป ประสบความสัมฤทธิ์ผลให้เร็ววัน