ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ประวัติโดยย่อ พ่อขุนศรีศรัทธาองค์ต้น พระองค์เป็นพระโอรสของพระนางนวลทองสำลี ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า พระนางนวลทองสำลีนั้นชื่นชอบการร่ายรำเป็นอย่างมาก และได้ทรงนิมิตเห็นการร่ายรำ ๑๒ ท่า เมื่อตื่นบรรทมมาก็ได้ร่ายรำท่าทั้ง ๑๒ ท่า และเป็นที่โปรดปรานเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเกิดเหตุที่พระนางนวลทองสำลีได้ทรงพระครรภ์ขึ้นมาเอง และด้วยเหตุที่กระทำนั้นผิดกฎมณเฑียรบาล จึงทำให้พระนางนวลทองสำลีต้องพระอาญาถูกเนรเทศด้วยการลอยแพออกจากเมืองเวียงบางแก้ว (ปัจจุบันคือที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง) ซึ่งแพนั้นได้ลอยไปติดเกาะกะชัง ( ปัจจุบันคือเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา) และเมื่อครบถ้วนถึงกาลประสูติ พระนางนวลทองสำลีได้ทรงประสูติพระเทพสิงหร บนเกาะกะชัง (เกาะใหญ่) จนกระทั่งพระเทพสิงหรได้เจริญวัยขึ้น พระนางนวลทองสำลีก็ได้สอนการร่ายรำให้ เมื่อพระเทพสิงหรเติบโตถึงวัยหนุ่ม จึงได้ทูลลาพระนางนวลทองสำลีไปยังบ้านเมืองของพระอัยกา (เจ้าพญาสายฟ้าฟาด) โดยมี พรานทิพย์เป็นผู้ช่วยเหลือ พระเทพสิงหรได้ใช้การร่ายรำที่พระมารดาสอน ใช้ร่ายรำแลกข้าวปลาอาหาร จนมีชาวบ้านช่วยเหลือ และบอกหนทางไปยังเมืองเวียงบางแก้ว ประจวบเหมาะกับมีสัปปบุรุษจากในวังนำเอาเรื่องที่พระนางศรีมาลา (พระอัยกี) ทรงประชวรมาบอก ว่าถ้าใครรักษาอาการประชวรได้จะมีรางวัลให้ พระเทพสิงหลจึงตัดสินพระทัยเดินทางไปยังเวียงบางแก้ว หลังจากที่ร่ายรำจนเสร็จสิ้น พระนางศรีมาลาที่ได้เห็นท่ารำก็พลันหายจากอาการประชวร และพญาสายฟ้าฟาดก็ได้ทราบว่าพระเทพสิงหรคือพระนัดดาของพระองค์ จึงรับเข้าสู่พระราชวังทั้งพระราชทานเครื่องทรงให้ อันประกอบไปด้วย เทริด สำหรับสวมศีรษะ สังวาล และ ปีกนกแอ่น ทับทรวง รัดต้นแขน และ กำไล ดอกจันทน์ปิดด้านหลัง (ประจำยาม) พร้อมแต่งตั้งให้เป็น ขุนศรีศรัทธา เป็นหัวหน้านักรำหลวงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดการรำโนราให้อยู่คู่กับเวียงบางแก้ว และการร่ายรำโนราที่พระเทพสิงหรได้เป็นผู้รำนั้น ก็ได้รับการสืบทอดลงมาจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ ทุก ๆ ท่านสามารถเดินทางไปสักการะขอพรในสิ่งที่ตัวท่านตั้งใจไว้ จากพ่อขุนศรีศรัทธาองค์ต้นได้ที่เวียงบางแก้ว (วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เมืองแห่งการกำเนิด เกิดโนรา ได้ทุก ๆ วัน