ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#ท่าวัง พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญภายในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ชุมชนสถานีรถไฟ ตลาดสดเทศบาล ( ตลาดคูขวาง ) สี่แยกคูขวาง ย่านวัดวังตะวันตก – วัดวังตะวันออก ชุมชนท่าโพธิ์ ชุมชนวัดใหญ่ชัยมงคล โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ตลอดจน สนามกีฬานครศรีธรรมราช และ โรงพยาบาลนครินทร์ บริเวณตำบลท่าวัง เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีการลงทุนเปิดกิจการต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก ถึงแม้นครศรีธรรมราชจะมีการขยายขอบเขตความเจริญออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ แต่ท่าวัง ก็ยังคงเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คน ที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย

แต่ความเป็นมาของท่าวัง กลับมีเพียงไม่กี่ท่านที่ทราบถึงที่มาที่ไป เหตุใดจึงถูกขนานนามว่า “ ท่าวัง ” ซึ่งความเป็นไปได้ของที่มาคำว่า “ ท่าวัง ” มีสาเหตุดังต่อไปนี้

๑. ท่าวัง มาจากวังจระเข้ ที่มาของกระแสนี้ มาจากหนังสือบุดโบราณ ที่วาดแผนที่ภายในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุถึงลำคลองท่าวังไว้ในชื่อของ ท่าวังจระเข้ หากพิจารณาจากลำคลองท่าวังแล้ว จะพบว่าคลองท่าวังเป็นคลองน้ำลึกตลอดทั้งสาย คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีจระเข้ แต่ภายหลังคาดว่า เมื่อมีผู้คนอาศัยกันมากขึ้น จระเข้ก็คงจะอพยพย้ายไปกบดานที่อื่น จนทำให้ผู้คนตัดคำว่า จระเข้ออก เหลือเพียง แค่ท่าวังเฉย ๆ

๒. ท่าวัง มาจากวังของเจ้าเมือง ที่มาของกระแสนี้ มาจากในหนังสือ “ น้อมรำลึก ” ที่รวบรวมงานเขียนของ อดีต สส.น้อม อุปรมัย สมาชิกผู้แทนราษฎร ๔ สมัย ของเมืองนครศรีธรรมราช ได้เขียนที่มาที่ไปของ “ ท่าวัง ” เอาไว้ในหนังสือ ความว่า

“ ส่วนคำว่า “ ท่าวัง ” นั้น ความจริงตั้งอยู่ตรงหน้าวังของเจ้านครพัดมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นท่าเรือที่เกิดขึ้นทีหลังท่าโพธิ์ แต่เมื่อท่าโพธิ์ค่อย ๆ หมดสภาพเป็นท่าเรือไปเพราะตลิ่งงอกมาดังกล่าวแล้ว ทำให้ความสำคัญเลื่อนมาอยู่ที่ “ ท่าวัง ” เพราะตั้งอยู่ที่หน้าวังของคนสำคัญของบ้านเมือง คนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศจึงรู้จักท่าวังเป็นอย่างดี มีเรือเดินสมุทรมาจอดถ่ายสินค้าที่ท่าวังแทนท่าโพธิ์ด้วย และยิ่งบัดนี้ ( พ.ศ. ๒๕๒๐ ยุคที่พิมพ์หนังสือ ออกมา ) ชุมนุมชนขยายออกไปตามแนวถนนราชดำเนินเข้าสู่ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมด แต่ต้นกำเนิดของท่าวังนั้นคือตรงหน้าวังเจ้าอุปราชพัด คือตรงที่เป็นวัดท่าโพธิ์ ( ใหม่ / วัดท่าโพธิ์วรวิหาร ) เดี๋ยวนี้นั่นเอง สำหรับชาวต่างถิ่น ถ้าพูดถึงท่าวังเดี๋ยวนี้ ส่วนมากหมายถึงชุมนุมชนที่อยู่ในบริเวณสี่แยกโดยรอบออกไปทางทิศเหนือ หาได้หมายถึงที่ซึ่งอยู่หน้าวัดท่าโพธิ์ใหม่ไม่ แม้ตัวสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ก็ยังถือว่าอยู่ที่ท่าวัง ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากท่าวังจริง ๆ ( คือที่หน้าวัดท่าโพธิ์ใหม่ ) เกือบ ๒ กิโลเมตร ”

ท่าวัง อาจมีที่มาที่ทับซ้อนกัน เนื่องจากสายคลองท่าวังเป็นคลองน้ำลึก มีแหล่งจอดเรืออยู่หลายสถานที่ ซึ่งในอดีต คงจะเป็นวังน้ำที่จระเข้ชุมเหมือนที่มีระบุอยู่ในหนังสือบุดโบราณ ต่อมาเมื่อมีการค้าขายที่ชุกชุม ผู้คนมาตั้งถิ่นฐานสองฝั่งคลองกันมากขึ้น กลุ่มจระเข้ที่มีอยู่เดิมก็หายไป เหลือเพียงคำว่า “ ท่าวัง ” เมื่อภายหลังเจ้าอุปราชพัด บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช ( หนู ) ได้ตั้งวังขึ้นที่บริเวณวัดท่าโพธิ์วรวิหารในปัจจุบัน จึงทำให้คำว่า “ ท่าวัง ” ได้บริบูรณ์เติมเต็มในความหมาย ถึงภายหลัง เจ้าอุปราชพัด จะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และได้เลิกวัง ตั้งเป็นวัดแล้วก็ตาม แต่คำว่า “ ท่าวัง ” ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ตราตรึงของเมืองนครศรีธรรมราช