ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

การไหว้ครู – ครอบครู พิธีแห่งการแสดงความนอบน้อม รำลึกนึกถึงครู และการมอบตัวเป็น “ ศิษย์ ” ที่ปัจจุบันเริ่มผิดและบิดไปสู่พิธีกรรมการเข้าทรงเพื่อครอบครู (ตอนที่ ๑) โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

มูลเหตุที่ผู้เขียนต้องหยิบยกเรื่องไหว้ครู ทั้งพิธีกรรมและขั้นตอนที่ครบถ้วนสมบูรณ์มานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบนั้น เป็นเพราะในปัจจุบัน การไหว้ครูต่าง ๆ มีอันผิดเพี้ยน แปลกปลอมไปจากคติจารีตในยุคโบราณ ซึ่งการจัดพิธีไหว้ครูนั้น เป็นสิ่งที่ครูกำหนดขึ้นเพื่อรวมความแน่นแฟ้นระหว่างลูกศิษย์ในสำนักให้เหนียวแน่น อย่าได้แปรหัวใจไปเป็นอื่น และเพื่อแสดงความกตัญญู แสดงมุทิตาจิต ต่อครูที่มีชีวิตอยู่ และ ครูที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งตามจารีตโบราณนั้น การไหว้ครู จะจัดที่บ้านของครูผู้เป็นเจ้าสำนัก ผู้เป็นศิษย์ในสำนัก จะต้องมาร่วมไหว้กับครูจนกระทั่งครูได้เสียชีวิตลง ศิษย์เอกที่ครูได้ครอบมือ หรือ ครอบครูไว้ จึงจะมาทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธีต่อ จะมีเพียงแค่ศิษย์ที่ครูมอบหมายไว้เท่านั้น ที่จะสามารถเป็นพิธีกร หรือ เป็นเจ้าพิธีไหว้ครูได้ ส่วนศิษย์คนอื่น ๆ ในสำนัก ถ้าตามจารีต ธรรมเนียมนิยมแล้ว ถ้าหากครูไม่ประสิทธิให้ จะไม่สามารถประกอบพิธีไหว้ครูด้วยตนเองได้เลย

การประกอบพิธีไหว้ครู เป็นเรื่องของการแสดงความกตัญญู รำลึกคุณครูทั้งหมดในชีวิต เริ่มจากคุณบิดรมารดา มาถึงคุณครูผู้สอนวิชา รวมถึงคุณของเทพเจ้าผู้ให้กำเนิดวิชา และแสดงความกตเวทิตา หรือ การตอบแทนต่อผู้มีพระคุณทั้งหมดเหล่านั้น มิใช่เรื่องของการแสดงอภินิหาร หรือ การทรงเจ้าเข้าผี อย่างที่มีปรากฎอย่างกลาดเกลื่อนในปัจจุบัน

การประกอบพิธีไหว้ครูที่ดีนั้น ควรจะเป็นไปด้วยความสงบ ความนอบน้อม และ เป็นระเบียบเรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงกริยาและมารยาทของคนในสำนักว่าได้รับการอบรมสั่งสอนมามากเพียงใด และสะท้อนไปถึงผู้ที่เป็นครูอาจารย์ หรือเป็นเจ้าสำนักด้วยว่ามีนิสัย จริตใจคอเป็นอย่างไร ซึ่งการไหว้ครูนั้น เป็นพิธีที่เรียกความสามัคคีจากคณะศิษย์ เป็นพิธีภายในของสำนัก ซึ่งจะมีเพียงลูกศิษย์ ผู้ศรัทธาในสำนักนั้น ๆ และคนที่เจ้าสำนักเชิญไปเท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ งานพิธีไหว้ครู มิใช่งานที่เปิดให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนวิชาเข้าไปเที่ยว งานพิธีไหว้ครู มิใช่งานนิทรรศการแสดงโอ้อวดความยิ่งใหญ่ของสำนัก แต่เป็นงานที่แสดงถึงกตัญญู กตเวทิตาคุณเป็นสำคัญ ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่จะจัดพิธีไหว้ครูขึ้นมานั้น จะต้องทราบก่อนว่า ตนจัดเพื่ออะไร และ ยินดีหรือไม่ที่จะปฎิบัติต่อเนื่องทุกปี เพราะการไหว้ครูนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิษย์ในวิชาใดก็แล้วแต่ ถ้าหากได้จัดพิธีไหว้ครูขึ้นแล้ว จะต้องทำในปีต่อไปอย่าให้ขาด เป็นหน้าที่ต่อเนื่องของผู้ที่จัดพิธีไปตลอดชีวิต
การไหว้ครู ในประเพณีไทย คือการแสดงความนอบน้อม รำลึกนึกถึงครู ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ โดยมีที่มาจากธรรมเนียม “ คุรุทักษิณา ” ของชาวชมพูทวีป ที่จะมีการตอบแทนครูอาจารย์ ด้วยสิ่งของต่าง ๆ หรือ ทำภารกิจที่ครูอาจารย์มอบให้ โดยเมื่อธรรมเนียมนี้เข้ามาในอุษาคเณย์ ก็ได้มีการปรับ เปลี่ยน ให้เข้ากับคติความเชื่อของคนในพื้นถิ่น โดยจะนับถือว่า ครู เป็นเสมอบุพพการีคนที่สอง ที่จะต้องดูแล ทดแทนคุณไปจนกว่าจะตายจากกัน

ซึ่งการไหว้ครูของประเพณีไทยนั้น จะแยกกันไปตามสายวิชา เช่น นาฎศิลป์ เวชศาสตร์ โหราศาสตร์ สถาปัตยศาสตร์ ไสยศาสตร์ อักษรศาสตร์ ในแต่ละศาสตร์ หรือ แต่ละวิชานั้น จะไม่เกี่ยวข้องกัน จะมีการนับถือเทพเจ้าที่เป็นครูแตกต่างกัน และการไหว้ครูนั้น จะไหว้กันปีละหนึ่งครั้ง โดยไหว้ที่บ้านของอาจารย์ และเมื่ออาจารย์ตายลง ศิษย์ทั้งหลาย ก็ต้องไปไหว้ยังบ้านของศิษย์เอกที่ครูมอบมือ หรือ ครอบวิชาให้ ไม่สามารถจัดพิธีกันเองได้ ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาต