ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

หลังจากเหตุการณ์ การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ทำให้บ้านเมืองแตกออกเป็นกลุ่ม เป็นก๊กต่าง ๆ โดยประกาศอาณาเขตในท้องถิ่นของตน ผู้ที่ด้อยกว่า ก็จะอ่อนน้อมแก่ผู้ที่แข็งแรงกว่า ไม่มีกลุ่มใดที่คิดการจะกอบกู้แผ่นดินให้รอดพ้นจากผู้รุกราน จึงเป็นเหตุให้ กลุ่มทัพของพระยาตาก ได้รวบรวมไพร่พลขึ้น เพื่อที่จะขับไล่ศัตรูออกจากบ้านเมือง โดยนำกลุ่มกำลังไปทางตะวันออก ครอบครองหัวเมืองฟากบูรพาเป็นฐานกำลังหลัก แล้วจึงนำทัพเข้าตีป้อมวิไชยประสิทธิ์ ก่อนที่จะสามารถเอาชนะกองทัพอังวะที่เฝ้ากรุงเก่าและขับไล่กองทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นไป ทำให้แผ่นดินลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างสามารถรวมตัวกันได้อีกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงประกาศกรุงธนบุรีศรีสมุทรเป็นเมืองหลวง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ พระองค์ก็ได้ทรงนำไพร่พลรวบรวมดินแดนให้เข้ามาเป็นแผ่นดินเดียวกัน แม้ว่าในระยะแรก จะมีสงครามกับทัพอังวะประปรายอยู่บ้าง แต่ศึกหลัก คือการรวบรวมแผ่นดิน พระองค์ทรงสามารถปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ที่มีกรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวอยู่ที่เมืองพิมายและโคราชได้สำเร็จ รวบรวมแผ่นดินของหัวเมืองใหญ่ทางอีสานกลับมาสู่ความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

หลังจากสิ้นชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมที่ยังคงแข็งกล้าในขณะนั้น ก็มีชุมนุมพระยาพิษณุโลก ( เรือง ) แห่งเมืองพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ( มหาเรือน ) แห่งเมืองสวาคบุรี ที่มีอำนาจอิทธิพลในทางเหนือ และ ชุมนุมเจ้านคร ( พระปลัดหนู ) แห่งเมืองนครศรีธรรมราชทางใต้ ที่ยังคงสมบูรณ์ด้วยการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความเจริญที่ยังไม่ถูกทำลายจากทัพอริศัตรู

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประชุมขุนนางใหญ่น้อยทั้งปวง เพื่อจะหารือการรวบรวมแผ่นดินแล้ว จึงทรงเลือกที่จะ “ รวมแผ่นดิน ” ในทางใต้เสียก่อน เพราะถ้าหากรวบรวมหัวเมืองทางใต้สำเร็จ กรุงธนบุรีที่ทรงสร้าง ก็จะมีแนวหลังที่มั่นคง มีหัวเมืองที่สนับสนุนในด้านต่าง ๆ และ สามารถฟื้นฟูการพระศาสนา ศิลปวัฒนธรรมที่ถูกทำลายไปให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ดังนั้นแล้ว เป้าหมายหลักของพระองค์ จึงทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ ที่จะรวมแผ่นดินทางใต้ ให้จงได้ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้ พระยายมราช พระยาเพชรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์ และ พระยาจักรีแขก ยกทัพจำนวน ๕,๐๐๐ คน ลงไปทางบก เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชให้สำเร็จ

กองทัพกรุงธนบุรี ยกทัพลงมาในทางใต้ ในเดือน ๑๑ ปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สามารถเกลี้ยกล่อมเอาเมืองปะทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา และ เมืองท่าทอง อันเป็นเมืองขึ้นเดิมของเจ้านครหนู เป็นเมืองภายใต้ขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรีได้ โดยเจ้าเมืองทั้งสี่ ต่างยอมอ่อนน้อมแก่พระยายมราชแต่โดยดี

ข่าวการรุกรานของทัพธนบุรีได้ทราบถึงเมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครหนู ในขณะนั้น จึงแต่งกองทัพออกไปต่อต้านที่ท่าหมาก และเขาหัวช้าง ( อยู่ใน อ.บ้านนาสาร ในปัจจุบัน ) กองทัพสี่พระยาได้ยกพลข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้าม นำทัพบุกทางแขวงท้องที่ลำพูน แต่เพราะความไม่สามัคคีของแม่ทัพนายกอง หรือเป็นเพราะความไม่ชำนาญในภูมิประเทศ ได้ทำให้กองทัพที่นำโดย พระยาจักรี พระยาเพชรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์ต้องเสียทีแก่กองทัพเมืองนคร พระยาเพชรบุรี และ พระยาศรีพิพัฒน์เสียชีวิตในสมรภูมิ ขุนลักษมาณา บุตรชายของพระยาจักรีแขกถูกทหารฝ่ายนครจับเป็นเชลย กองทัพธนบุรีในขณะนั้น จึงต้องถอยกลับไปยังเมืองไชยา ฐานที่มั่นสำคัญก่อน

ด้วยความไม่พร้อมเพรียงกันในการสงครามเป็นต้นเหตุ ทำให้พระยายมราชทำฎีการ้องฟ้องความไปยังเมืองหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงทรงวินิจฉัยว่า ถ้าปล่อยให้กองทัพที่พระองค์ส่งไปทางใต้ทำการศึกเพียงลำพัง ไม่ว่าอย่างไรจะต้องเสียทีแก่เจ้านครหนูแน่ พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำทัพจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน มาทางเรือ โดยมาหยุดแวะพักที่เมืองไชยา แล้วโปรดแต่งตั้งให้พระยายมราช พระยาจักรีแขก และ พระยาพิไชยราชา นำทัพบุกเข้าโจมตีค่ายที่ท่าหมากและเขาหัวช้างในทางบกให้แตก ส่วนพระองค์จะทรงยกทัพโจมตีเมืองนครทางเรือ แล้วทรงกำหนดให้กองทัพบกทัพเรือเข้าตีกระหนาบเมืองนครโดยพร้อมเพรียงกัน เสร็จแล้วทรงออกทัพเดินทางไปยังเกาะสมุย อาศัยมวลหมู่เกาะกลางทะเลอ่าวไทยเป็นฐานทัพเรือลับ

เจ้านครหนูไม่ได้ทราบข่าวการยกพลทัพเรือของกองทัพธนบุรี จึงได้ไม่ระมัดระวังในทางน้ำ เป็นช่องโหว่ให้กองทัพธนบุรียกทัพเรือเข้ามาทางปากพญา เจ้านครหนู ได้แต่งตั้งให้อุปราชจันทร์ หรือ คุณชายฤทธิ์ เป็นแม่ทัพออกต้านทัพข้าศึกที่ท่าโพธิ์ แต่เพราะกำลังพล และฝีมือในการศึกที่ด้อยกว่า ทำให้ค่ายท่าโพธิ์แตก ทัพเมืองนครครึ่งหนึ่งถูกทำลาย เป็นเหตุให้ เจ้านครหนู พร้อมด้วยครอบครัว หลบหนีไปพึ่งการคุ้มครองของสุลต่านแห่งปัตตานี ทำให้เมืองนคร ถูกกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียึดครองอย่างง่ายดาย ใน วันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๓๑๒

ส่วนด้านทัพบกของกรุงธนบุรี เมื่อทัพเมืองนครขาดกำลังเสริม ค่ายที่ท่าหมาก และ เขาหัวช้างก็แตกโดยลำดับ พระยาทั้งสามได้เร่งนำทัพมาบรรจบให้ทันตามพระราชบัญชา แต่เพราะการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ทัพบกของธนบุรี ช้ากว่ากองทัพเรือถึง ๘ วัน พระยาจักรีแขก พระยาพิไชยราชา พระยายมราช เข้ากราบทูลรายงานความผิดพลาด สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงทำภาคทัณฑ์แก่ พระยาจักรีแขก และ พระยาพิไชยราชา ให้ไปจับกุมตัวเจ้านครหนู พร้อมครอบครัวจากเมืองปัตตานีมาให้ได้

พระยาจักรีแขก และ พระยาพิไชยราชาได้ยกทัพเรือไปตามเจ้านครหนูถึงเมืองเทพา ได้ส่งสาส์นแก่สุลต่านเมืองตานี ว่าบัดนี้ทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาถึงเมืองสงขลาแล้ว ถ้าไม่ยอมส่งเจ้านครหนูกับครอบครัวกลับมา จะบุกเข้าโจมตีโดยไม่มีการเจรจาใด ๆ ทำให้สุลต่านเมืองตานี และเจ้าหัวเมืองโดยรอบยอมส่งตัวเจ้านครหนู และ ครอบครัวให้แก่พระยาจักรีแขก ในวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ อีกทั้งหัวเมืองในแหลมมลายู ยังยอมอ่อนน้อมต่อกรุงธนบุรี ในฐานเมืองประเทศราชอีกด้วย

การศึกรวบรวมหัวเมืองทางใต้ได้จบลงภายในระยะเวลา ๑ ปี ๑ เดือน กรุงธนบุรี มีชัยชนะเด็ดขาดเหนือหัวเมืองทางใต้ทั้งปวง เมื่อเสร็จศึก และจัดการหัวเมืองทางตอนใต้เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งพระทัยที่จะยกทัพกลับ แต่เพราะช่วงเดือน ๑๒ ในทางใต้เป็นฤดูมรสุม ทำให้ต้องทรงหยุดประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชนานถึง ๓ เดือนเป็นอย่างต่ำ แล้วจึงทรงยกพลนิวัติกรุงธนบุรี

และในช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชนี่เอง พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมพระบรมธาตุ และฟื้นฟูบูรณาการเมืองนคร ให้เป็นหัวเมืองสำคัญของพระองค์อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทมาตลอดรัชกาล และเมื่อพระองค์ได้ทรงนิวัติยังกรุงธนบุรี พระองค์ก็ทรงได้ตั้ง พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ให้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช สืบสานพระราชนโยบายที่พระองค์วางไว้ถึง ๗ ปี

จะเห็นได้ว่า การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเสด็จลงใต้มาเพื่อรวมแผ่นดินนั้น พระองค์ทรงได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ถึงขนาดต้องทรงยกทัพมาด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพัฒนา ทั้งด้านพระศาสนา ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านวัฒนธรรม ในเมืองนครศรีธรรมราชจนเฟื่องฟู และได้นำเอาศิลปวิทยาการที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองนคร กลับไปยังกรุงธนบุรี เพื่อฟื้นฟูศิลปวิทยาในทางกรุงให้เจริญ รุ่งเรือง สืบไป