ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

การแต่งกาย นอกจากจะมีคุณในด้านการปกปิดร่างกายแล้ว ยังแสดงถึงฐานะ และอุปนิสัยของผู้สวม อีกทั้งยังสามารถบอกที่มา บอกเชื้อชาติได้ ว่ามาจากไหน ได้รับอารยธรรมมาจากที่ใด ซึ่งแต่ละชนชาติ หรือ แต่ละประเทศ ก็จะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำเป็นของตนเอง ดังที่ทราบกันมาแล้ว

สำหรับการแต่งกายของชาวศรีวิชัย มีบันทึกอยู่ในการเดินทางของหลวงจีนอี้จิง ซึ่งท่าน อ.ธรรมทาส พานิชได้นำมาเรียบเรียงไว้ว่า

“ ราษฎรชาวทะเลใต้นี้นุ่ง คัม – มัน ผืนยาวมาก เป็นผ้าผืนเดียวยาวถึง ๘ ฟุต ไม่มีการตัดเย็บหรือทำเป็นสะเอว ใช้ผ้าผืนใหญ่นั้นนุ่งพันส่วนใต้ของร่างกาย เป็นการนุ่งห่มง่าย ๆ อย่างนักปฎิบัติธรรม ส่วนการแต่งตัวจะปล่อยผมยาวประบ่า สวมหมวกทรงสูง เสียบขนนกไว้ตรงปลาย

ส่วนพวกทหารสวมเสื้อลายดอก นุ่งผ้าคล้ายกระโปรง คาดเอวด้วยเครื่องประดับ นายทหารจะถือหอกปลายแฉก แต่ทหารที่มียศรองลงมาจะถือหอกปลายแหลม นุ่งกางเกงขาสั้น และแม่ทัพจะอยู่บนหลังช้าง ในท่ายืนและดูทะนง น้าวคันธนู ”

ส่วนการแต่งายของชาวศรีวิชัย ตามที่กรมศิลปากรสันนิษฐานไว้ ก็ได้มีรายละเอียดดังนี้

ลักษณะการแต่งกายของหญิง

ผม เกล้ามวยสูงทำเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ สวมกลีบรวบด้วยรัดเกล้า ปล่อยชายปรกลง มาด้านหน้า บางทีมุ่นมวยเป็นทรงกลมเหนือศีรษะใช้รัดเกล้าเป็นชั้น ๆ แล้วปล่อยชายผมลงประบ่า ทั้ง 2 ข้าง หรือถักเปีย

เครื่องประดับ ประดับด้วยรัดเกล้า ตุ้มหูแผ่นกลมเป็นกลีบดอกไม้ ใส่กรองคอทับทรวง ใส่กำไรต้นแขนทำด้วยโลหะ หรือลูกปัดร้อยเป็นพวงอุบะ ใส่กำไลมือและเท้า

เครื่องแต่งกาย นุ่งผ้าครึ่งแข้งปลายบานยกขอบ ผ้าผืนเดียวบางแนบเนื้อคล้ายผู้ชาย ขอบผ้าชั้นบนทำเป็นวงโค้งเห็นส่วนท้อง คาดเข็มขัดปล่อยชายผ้าลงทางด้านขวา

ลักษณะการแต่งกายของชาย

ผม เกล้ามวยเป็นกระพุ่มเรียงสูง ด้วยเครื่องประดับ ปล่อยปลายผมสยายลงรอบศีรษะ เป็นชั้น ๆ บางทีปล่อยชายผมชั้นล่างสยายลงประบ่า

เครื่องประดับ ใส่ตุ้มหูเป็นเม็ดกลมใหญ่ คล้องสายสังวาลย์ คาดเข็มขัดโลหะใส่กำไล แขนและข้อมือ

เครื่องแต่งกาย นุ่งผ้าชายพกต่ำ ปล่อยชายย้อยเป็นกระหนก คาดเข็มขัดโลหะ

และจากหลักฐานการขุดพบเม็ดลูกปัดจำนวนมาก ใน อ.ท่าชนะ อ.ไชยา และ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ในบางพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลของ จ.พังงา ในพื้นที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร อาจพอทำให้เห็นความนิยมใส่เครื่องประดับของชาวศรีวิชัยในยุคนั้น ว่านิยมสวมสร้อยลูกปัดหิน และห้อยจี้ที่ทำมาจากหินมีค่า ยกเว้นเงิน อัญมณี และทองคำ ที่จะสงวนไว้ให้แก่บุคคลชั้นสูง

สำหรับในยุคศรีวิชัย การนุ่งโจงกระเบน หรือ การนุ่งผ้าแบบโธตีนั้น จะนุ่งกันเฉพาะบุคคลชั้นสูง เช่น มหาราช เชื้อพระวงศ์ เจ้าหัวเมือง หรือ พวกขุนนาง และอีกจุดสังเกตุของการแต่งตัวของชาวศรีวิชัย ก็คือ “ เทวรูปพระโพธิสัตว์ ” ที่ปรากฎหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน อาจพอเป็นเบาะแส ในการแต่งกายของบุคคลมีฐานะในยุคนั้นให้เราทราบได้บ้าง