ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ยามเมื่อถึงกาลทำบุญสารทเดือนสิบ ท่านมักจะเห็นพ่อแก่แม่เฒ่า หรือ ชาวบ้านที่มีอายุทูนตะกร้า หรือ กระเชอกรวยขนมลาสูง ๆ นำไปถวายวัด โดยรูปทรงของขนมลาในกระเชอจะนิยมทำเป็นรูปพระเจดีย์ หรือ พระสถูป เพื่อแสดงความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ซึ่งตะกร้าหรือกระเชอขนมลา ที่เป็นกรวยสูง ๆ เราจะรู้จักกันดีในนาม “ หมฺรับ ”

คำว่าหมฺรับ บางท่านให้คำนิยาม มาจากคำว่า “ สำรับ ” ซึ่งภายในหมฺรับ ประกอบไปด้วยสองส่วนสำคัญ คือ ส่วนของขนมเดือนสิบ และในส่วนของข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งในแต่ละส่วน ประกอบไปด้วย

ขนมเดือนสิบ ประกอบด้วย

๑. ข้าวพอง ข้าวเหนียวทอด รูปทรงเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบ้าง เป็นแผ่นวงกลมบ้าง ตามความเชื่อ ให้บรรพบุรุษใช้แทนแพ เพื่อข้ามห้วงมหรรณพ หรือ ห้วงสังสารวัฎ

๒. ขนมลา ขนมลาถูกแบ่งย่อยไปตามกรรมวิธีอีก ๒ ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีความหมายแตกต่างกันอีก ได้แก่
๒.๑ ขนมลาแผ่น หรือ ลาเช็ดทะ ขนมลาชนิดนี้เกิดจากการนำแป้ง ผสมไข่แดงและน้ำตาลโรยลงบนกระทะที่ร้อนให้เป็นเส้น ๆ ทับกันจนเป็นแผ่น ขนมลาชนิดนี้ แทนเครื่องนุ่งห่มของบรรพบุรุษ
๒.๒ ขนมลาลอยมัน ขนมลาชนิดนี้มีกรรมวิธีคล้ายคลึงกับลาเช็ดทะ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นการโรยแป้งลงไปในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ แล้วพับให้เป็นครึ่งวงกลม ซึ่งขนมลาลอยมัน แทนหมอนหนุนของบรรพบุรุษ

๓. ขนมดีซำ หรือ ขนมเจาะหู หากดูเผิน ๆ จะคล้ายกับโดนัท แต่ขนมดีซำจะทำจากแป้งปั้นให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลาง ก่อนที่จะนำไปทอดให้สุก ขนมดีซำ มีความเชื่อว่าแทนเงินตราสำหรับบรรพบุรุษใช้สอย

๔. ขนมไข่ปลา หรือ ขนมกง ทำจากถั่วเขียวบดกวนกับน้ำตาลปึกและกะทิ นำมาคลึงเป็นเส้น ทำเป็นรูปวงรี แล้วบีบหัวบีบท้าย ก่อนที่จะนำไปชุบแป้งมัน หรือ แป้งข้าวเจ้าแล้วนำไปทอดให้สุก ขนมไข่ปลา หรือ ขนมกง ในความเชื่อ แทนเครื่องประดับของบรรพบุรุษ

๕. ขนมสะบ้า หรือ ขนมบ้า ทำจากแป้งผสม หัวมัน น้ำตาล ไข่ไก่ เกลือ นวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นแผ่นกลม ๆ นำมาคลุกกับงาแล้วจึงนำไปทอดให้สุก ในความเชื่อ ขนมสะบ้า แทนลูกสะบ้าให้บรรพบุรุษเล่นทอยกันสนุกสนาน

นอกจากขนมเดือนสิบหลัก ๆ ที่มี ๕ หรือ ๖ ชนิดดั่งที่ ๆได้กล่าวมาแล้ว ในหลาย ๆ พื้นที่ จะนิยมเสริมขนมบางอย่างเข้าไปด้วย เช่น ขนมเทียน ( ขนมเทียนพื้นเมืองของภาคใต้ จะนิยมห่อใบตองเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสั้น ๆ แต่มีการใส่ไส้ไม่ต่างจากขนมเทียนตามประเพณีจีน ) , ข้าวต้มใบพ้อ เป็นต้น ซึ่งนอกจากภายในหมฺรับจะมีขนมแล้ว ยังมีเครื่องบริโภคประเภทอาหารแห้งอื่น ๆ อีก เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ขมิ้น เกลือ พริกแห้ง ไม้ขีดไฟ ฯลฯ รวมถึงที่ไม่ขาดเลยคือห่อธูปเทียน บางหมฺรับก็ใส่หมากพลู และยาเส้นใบจากลงไปด้วย นัยว่าให้บรรพบุรุษได้สูบได้ใช้ระหว่างทางกลับปรภพ แต่ถ้าหากพิจารณาในด้านการใช้สอยแล้ว พบว่าบรรพชนของเราท่านเป็นผู้เข้าใจวัด ในยามที่เกิดมรสุม หรือเกิดภัยธรรมชาติที่พระภิกษุในวัดไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ ญาติโยมที่เป็นชาววัด หรือเด็กวัด จะนำ เอาข้าวสารอาหารแห้งในหมฺรับมาหุงหาทำอาหาร พร้อมกับนำขนมเดือนสิบซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมแห้ง มาถวายพระภิกษุ ซึ่งขนมบางอย่างสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานแรมเดือน เช่น ขนมลา ถ้าหากนำมาโรยน้ำตาลแล้วเก็บไว้ในที่มิดชิด จะสามารถเก็บรักษาไว้หลายเดือน

หมฺรับ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการอุทิศบุญให้บรรพชนเพียงประการเดียว แต่ยังเป็นการเอื้อเฟื้อต่อพระภิกษุในยามที่พระไม่สามารถออกบิณฑบาตอีกด้วย ตามสภาพฤดูกาลของภาคใต้เมืองฝนแปดแดดสี่แล้ว ในบางครั้ง ในบางพื้นที่ การบิณฑบาตก็เป็นเรื่องลำบากและเสี่ยงภัย บรรพชนเราในอดีต จึงได้ถวายเครื่องยังชีพในรูปแบบของหมฺรับ ให้ชาววัดและเด็กวัดได้ประกอบอาหารถวายพระภิกษุแก้ขัด จนกระทั่งฝนฟ้าสงบลง จึงออกกระทำภัตตกิจตามปกติ การเกื้อกูลกันระหว่างคฤหัสถ์และวัดในอดีต เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาดำรงยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน