ที่มา : โอม ชานตี, ขุนพังพการ วีระบุรุษผู้กอบกู้เมืองนคร ตอน ตักศิลามหาเวทยาลัย, ครั้งที่ ๑ (นครศรีธรรมราช : เสือผินการพิมพ์, ๒๕๖๔), หน้า ๕-๖.

รายละเอียด

ขุนพังพการ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ในยุคสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุ เป็นผู้ครองนคร หลังจากที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ ผู้เป็นพระเชษฐาเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๘๒๒ แล้ว พระเจ้าจันทรภาณุผู้เป็นอนุชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้เป็นพระเชษฐา เป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๒ แห่งนครศรีธรรมราช

หลังจากที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ ได้ทรงวางรากฐานบ้านเมืองได้มั่นคง และมีปึกแผ่นแน่นหนาสามารถรวบรวมเมืองบริวารทั้ง ๑๒ เมืองให้มีศูนย์กลางเดียวกัน โดยมีพระบรมธาตุเป็นศูนย์กลางของเมืองสิบสองนักษัตรแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๒ ได้ทรงมองการณ์ไกลที่จะขยายอำนาจเพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย ด้วยพระปรีชาสามารถในการบัญชาการรบของพระเจ้าจันทรภาณุ ประกอบกับกองทหารที่กล้าหาญและเจนการศึก ทัพของพระเจ้าจันทรภาณุจึงสามารถรวบรวมเมืองบริวารต่าง ๆ ในอาณาจักรศรีวิชัย ให้มาขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราชได้

ในบรรดาเมืองทั้งหลายของอาณาจักรศรีวิชัยที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเมืองนครศรีธรรมราชโดยดีนั้น คงเหลือแค่เพียงเกาะชวาเพียงดินแดนเดียวที่แม้จะทำทีเป็นสวามิภักดิ์ในเบื้องหน้า แต่ลับหลัง พวกชวาได้รวบรวมกำลังพลเพื่อเตรียมหาโอกาสที่จะเปิดศึกเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากนครศรีธรรมราชเสมอมา จนกระทั่งพระเจ้าจันทรภาณุเพลี่ยงพล้ำแก่อุบายของพวกชวา เมืองนครศรีธรรมราชจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกชวา ต้องส่งส่วยสาบรรณาการอยู่หลายปี จนกระทั่งขุนพังพการได้นำกำลังทหารเข้าโรมรันพันตูกับทหารชวาอย่างดุเดือด จึงสามารถเอาชนะกองทหารของชวาจนล่าถอยไปและแม้จะพยายามกลับมาโจมตีอีก ก็ไม่สามารถฝ่าด่านการป้องกันอันแข็งกล้าของกองทหารที่มีขุนพังพการเป็นแม่ทัพได้ ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นนครรัฐเอกราชตราบนานแสนนาน

นวนิยายเรื่องนี้ จะนำเสนอเรื่องราวของขุนพังพการนับตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องจากท้องนา เพื่อเข้าไปเรียนสรรพวิชากับพระอาจารย์ในตักศิลา จนกระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นทหารเพื่อปกป้องชายแดนฝั่งทะเล ด้วยความกล้าหาญและความจงรักภักดี พังพการวัยหนุ่ม จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เข้ามาทำงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๒ จนกระทั่งเมื่อเกิดศึกกับพวกชวา พังพการจึงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นขุนพังพการ เพื่อนำทหารออกต่อสู้กับกองทหารชวาจนได้รับชัยชนะ และนำกองทหารออกป้องกันการรุกรานของพวกชวาอีกหลายรอบ จนพวกชวาไม่กล้ายกกองทหารมารบกับเมืองนครศรีธรรมราชอีก ด้วยเกรงกลัวความแข็งแกร่งของทหารที่นำโดยขุนพังพการ

สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์
ประธานมูลนิธิศรีธรรมาโศกราช
ตุลาคม ๒๕๖๓