ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

พระเจ้าจันทรภาณุมหาราชที่ยิ่งใหญ่แห่งศรีวิชัย พระองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน มีจริงหรือไม่ ความจริง ความเชื่อ เรื่องราว เรื่องเล่า หรือฟัง ๆ กันมา ทุกเรื่องนั้นต้องว่ากันด้วยหลักฐาน และข้อเท็จจริง พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้สร้างมหาเจดีย์ยอดทองคำที่ยิ่งใหญ่แห่งนครศรีธรรมราช นักรบผู้กล้าเคลื่อนทัพจากนครศรีธรรมราชนับหมื่นฝ่ามหาสมุทรเข้าตีลังกา (ศรีลังกา) ผู้เปลี่ยนแปลงด้านศาสนาพุทธแบบมหายานสู่แบบเถรวาท ที่ทุกวันนี้เรายังคงยึดมั่นในการนับถือกันมา และคุณูปการอีกมาย ทุกเรื่องนั้นต้องว่ากันด้วยหลักฐาน และข้อเท็จจริง

พงศาวลี แห่ง พระเจ้าจันทรภาณุ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

พระเจ้าจันทรภาณุ มหาราชผู้ปกครองดินแดนคาบสมุทรอันเกรียงไกร ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมทะเลทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะในท้องทะเลฝ่ายอันดามัน พระองค์ค่อนข้างมีปฎิสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางตะวันตกมากกว่าตะวันออก ไม่ว่าจะในด้านการศาสนา ด้านการสงคราม หรือแม้แต่ทางด้านความสัมพันธ์ในเชิง “ เครือญาติ ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะกล่าวในที่นี้

สำหรับการสืบสันตติวงศ์ของพระเจ้าจันทรภาณุนั้น ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะบอกไปทางเดียวกันในทำนองว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่อพยพมาจากที่อื่น แล้วมาตั้งบ้านเมืองขึ้นที่ภาคใต้ แต่ที่มาของพระองค์ บางตำนานระบุว่ามาจากอินทรปัตถ์ บางตำนานก็ระบุว่าอพยพมาจากอินเดีย ซึ่งการสืบสันตติวงศ์ที่ผู้เขียนจะยกนำมาเสนอนี้ มาจากหนังสือ “ ทักษิณรัฐ ” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้มีข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้นำงานเขียน ทางประวัติศาสตร์ของ “ ศาสตราจารย์ ดร. ส.ประนะวิธาน ” ( Senarat Paranavitana ) นักโบราณคดียุคบุกเบิกของศรีลังกา นำมาเป็นข้อมูลในหนังสือทักษิณรัฐของท่าน ซึ่งข้อมูลที่เรียบเรียงโดย ศ.ดร. ส.ประนะวิธาน ที่เขียนในหนังสือ THE CEYLON AND MALASIA นั้น ได้บันทึกเกี่ยวกับ “ ลำดับสายพระโลหิต ” ของพระเจ้าจันทรภาณุไว้อย่างเด่นชัด จนสามารถสืบสาวได้ถึงชั้นพระอัยกา ทั้งฝ่ายพระราชบิดา และฝ่ายพระราชมารดา และสามารถไขปริศนาได้ว่า ทำไมพระเจ้าจันทรภาณุ ทรงกล้ายกทัพข้ามมหาสมุทรไปโจมตีลังกาถึงสองครั้ง และเหตุใดจึงทรงมีปฎิสัมพันธ์กับบ้านเมืองในฝั่งตะวันตกมากเป็นพิเศษ

การสืบลำดับสันตติวงศ์ของพระเจ้าจันทรภาณุในฝ่ายพระราชบิดานั้น ศาสตราจารย์ ส. ประนะวิธาน ได้กล่าวว่า พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมีพระราชบิดาพระนามว่า “ พระเจ้ามาฆะราชา ” หรือ “ พระเจ้ากลิงควิชัยพาหุ ” เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงโปโลนนารุวะ ซึ่งพระเจ้ามาฆะราชาเอง ก็ทรงเป็นพระราชโอรสของ “ มหาราชสูรยนารายณ์ที่ ๕ ” กับพระนางสาวังกะสุนทรี ซึ่งมหาราชสูรยนารายณ์ที่ ๕ พระองค์ทรงเสวยราชย์สมบัติอยู่ที่ศรีวิชัย ซึ่งมหาราชสูรยนารายณ์ที่ ๕ นั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของมหาราชปรลัมพัตร ซึ่งอาจเป็นพระองค์เดียวกับ มหาราชศรีมัตไตรโลกยราช ฯ ผู้สถาปนาพระนาคปรกวัดเวียง และอาจหมายถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้ลูก ตามที่เขียนไว้ในศิลาจารึกดงแม่นางเมืองก็เป็นได้

เมื่อนำเอาลำดับสันตติวงศ์ของพระเจ้าจันทรภาณุในข้างต้นมาพิจารณา จะพบว่า พระราชบิดาของพระเจ้าจันทรภาณุ ทรงสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากมหาราชแห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ ผู้ปกครองชวากะรัฐ ( ศรีวิชัย ) โดยสืบมาทาง มหาราชปรลัมพัตร ผู้เป็นพระปัยกา ( ทวด ) มหาราชสูรยนารายณ์ที่ ๕ ผู้เป็นพระอัยกา ( ปู่ ) สืบมาจนถึงพระเจ้ามาฆะราชาผู้เป็นพระราชบิดา ( พ่อ ) และในส่วนของสันตติวงศ์ของฝ่าย พระนางสาวังกะสุนทรี ผู้เป็นพระอัยกี ( ย่า ) ของพระเจ้าจันทรภาณุนั้น ศาสตราจารย์ ศ. ประนะวิธาน ได้ค้นคว้าจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของศรีลังกา แล้วพบว่า พระนางสาวังกะสุนทรี ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้านิสสังกะมัลละ พระมหากษัตริย์ลังกาผู้เป็นราชบุตรเขย ของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ ซึ่งพระเจ้านิสสังกะมัลละ ทรงมีพระนางสุภัทรา พระราชธิดาของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ เป็นพระมเหสี ซึ่งในทางลังกา ระบุว่าพระเจ้านิสสังกะมัลละ เดิมพระนามว่า กิตติสังกะ พระองค์ได้เดินทางมาจากชวากะรัฐ (ศรีวิชัย) เพื่อมารับราชการในราชสำนักสิงหล แต่ด้วยความที่พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ และทรงมีพระปรีชาสามารถ จึงได้มีโอกาสอภิเษกสมรสกับพระนางสุภัทรา และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งลังกา

จากข้อความในข้างต้น จะสรุปได้ว่า พระเจ้ามาฆะราชา ทรงมีเชื้อสายสิงหล มาจาก พระนางสาวังกะสุนทรี ผู้มีลำดับเป็น พระอัยกี ( ย่า ) ของพระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมีพระเจ้านิสสังกะมัลละ พระมหากษัตริย์สิงหลผู้ยิ่งใหญ่ เป็นพระปัยกา ( ทวดชาย ) และ พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงสืบเชื้อสายจากพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ มาทางพระนางสุภัทรา ผู้เป็นพระปัยกี ( ทวดหญิง ) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดพระเจ้าจันทรภาณุ จึงทรงมีความผูกพันกับกรุงสิงหล หรือ เกาะลังกาอย่างมาก ด้วยเหตุเพราะพระเจ้าจันทรภาณุนั้น ทรงสืบสันตติวงศ์ฝ่ายลังกา มาจากพระราชบิดาคือ พระเจ้ามาฆะราชานั่นเอง จึงทำให้พระองค์ทรงมีสิทธิ์ที่จะอ้างการปกครองเหนือดินแดนลังกาทวีปทั้งปวง

ส่วนการสืบสันตติวงศ์ของพระเจ้าจันทรภาณุในฝ่ายพระราชมารดา ศาสตราจารย์ ส. ประนะวิธาน ได้ระบุตามบันทึกพงศาวดารฝ่ายลังกาว่า พระราชมารดาของพระเจ้าจันทรภาณุ มีพระนามว่า “พระนางปัญจาณดีเทวี” เป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งแคว้นปาณฑัย ( ปาณฑัย ในปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้สุดของอินเดีย มีพื้นที่ตั้งแต่ นครมถุไรไปจนถึงตันชาวูร์ ) ซึ่งพระราชบิดาของพระนางปัญจาณดีเทวีนั้น ผู้เขียนยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะเป็น พระเจ้าศรีมาระวรมัน สุนทระ ปาณฑยะ ผู้ฟื้นแคว้นปาณฑัยในยุคหลัง หรือจะเป็น พระเจ้าศรีมาระวรมัน กุละเศขระ ปาณฑยะที่ ๑ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองปาณฑัยถัดจากพระเจ้าสุนทรปาณฑัยกันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะบังเอิญนัก ที่บันทึกของทางลังกากล่าวว่า พระราชมารดาของพระเจ้าจันทรภาณุเป็นพระราชธิดาของเจ้าอาณาจักรปาณฑัย จะไปตรงกับข้อความหนึ่งในหลักศิลาจารึกวัดเวียง ( หลักศิลาจารึกที่ ๒๔ ) ที่กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภาณุว่า “ ตินิปุณะ ปญจาณฺฑวํสาธิปะ ” ในข้อความนี้ได้มีการแปลความไว้ว่า “ ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือราชวงศ์ทั้งหมด ” จากการวิเคราะห์ โดย ศาสตราจารย์ มานิต วัลลิโภดม เมื่อนำข้อมูลที่ ศาสตราจารย์ ส.ประนะวิธาน มาเทียบเคียงแล้ว ท่านได้ระบุความหมายของข้อความนี้ใหม่เป็น “ อธิบดีของปัญจาณฑวงศ์ ” ซึ่งมีความเป็นไปได้และมีความหมายตรงที่ศิลาจารึกต้องการจะบอกกล่าว

ถ้าหากความหมายของคำว่า “ ปญจาณฺฑวํสาธิปะ ” เป็นไปตามที่ ศาสตราจารย์มานิต ได้แปลความเสียใหม่ว่า “ อธิบดีของปัญจาณฑวงศ์ ” แล้ว นั่นย่อมแสดงว่า พระเจ้าจันทรภาณุ ทรง “ แสดงสิทธิ์ ” เหนือราชบัลลังก์ในแผ่นดินของพระราชมารดาด้วย ถ้าหากลองไล่ลำดับสันตติวงศ์ของพระเจ้าจันทรภาณุแล้ว พบว่าพระองค์ทรง “ มีสิทธิ์ ” ที่จะครอบครองราชบัลลังก์ถึงสามแห่ง คือ ศรีวิชัย ( ชวากะ , กลิงคะรัฐ ) , ลังกา ( โปโลนนารุวะ ) และ ปาณฑัย ( มะถุไร ) ซึ่งถ้าหากพระเจ้าจันทรภาณุ ทรงครอบครองดินแดนทั้งสามได้สำเร็จ คงไม่ต้องคาดคิดเลยว่าพระองค์จะทรงยิ่งใหญ่ขนาดไหน และอาจเป็นเพราะสายพระโลหิตของพระองค์ ที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวข้องกับดินแดนที่ยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ จึงทำให้อาณาจักรอื่น ๆ ในอุษาคเณย์ไม่กล้าที่จะเข้ามาท้าทายพระราชอำนาจ เว้นเสียแต่พระพนมทะเลศรี หรือ พระเจ้าอู่ทองในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ที่กล้ายกทัพมาต่อสู้กับพระเจ้าจันทรภาณุ

จะเห็นได้ว่า ด้วยเหตุที่พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมีเชื้อสายสำคัญของอาณาจักรทั้งสาม คือ ศรีวิชัย ( ชวากะรัฐ , กลิงคะรัฐ ) สิงหล ( โปโลนนารุวะ ) และ ปาณฑัย ได้ทำให้พระองค์ทรงดำเนินการ ที่จะครอบครองดินแดนทั้งสองทางตะวันตกไว้ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ จนเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุในสงคราม ชวากะ – สิงหลทั้งสองครั้ง ซึ่งการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนที่ตนมีเชื้อสายในการปกครองนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะในยุโรปเอง ก็มีการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ในกรณีเดียวกับพระเจ้าจันทรภาณุ จนก่อให้เกิดเหตุของสงคราม เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิรด์ ที่ ๓ แห่งอังกฤษ ที่พระองค์ทรงอ้างสิทธิ์ทางฝ่ายพระราชมารดาในการทำสงครามกับฝรั่งเศส จนยืดเยื้อเป็นสงครามร้อยปี หรือ การสู้รบในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ระหว่างพระเจ้าเฟลีเป ที่ ๕ แห่งสเปน ที่ได้รับการสนับสนุนโดย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๑ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสงครามการอ้างสิทธิ์ครองบัลลังก์ในดินแดนที่เกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตของพระราชาในดินแดนต่าง ๆ นั้น ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป และมีเกือบทุกอาณาจักรในโลก

ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจันทรภาณุ นอกเหนือจากความสามารถที่ปรีชายิ่งของพระองค์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้พระองค์ “ ทรงกล้า ” ที่จะพิชิตดินแดนฟากตะวันตกอันไกลโพ้น นั่นคือ “ สายพระโลหิต ” ที่สามารถอ้างสิทธิ์การปกครองเหนือสิงหล และ ปาณฑัย ทำให้พระองค์กล้าที่จะยกไพร่พลเรือนหมื่นบุกลังกาโดยปราศจากความลังเล และด้วยสายสัมพันธ์ทางพระราชวงศ์ ระหว่างพระเจ้าจันทรภาณุ และพระราชวงศ์พื้นเมืองของสิงหละ กับ ปาณฑัย ได้ทำให้พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมีอิทธิพลอย่างมากบนลังกา จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในน่านน้ำอันดามันอันไพศาล