ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

จากเกาะนาง ไปเป็น เกาะนาง_โดย ความผิดพลาดในการเว้นวรรคสู่การเปลี่ยนแปลงในการเรียกขาน

เกาะนางโดย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เกาะทางประวัติศาสตร์ในการตั้งฐานทัพเรือเพื่อเข้าช่วยเหลือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพระเจ้าพงษาสุระ โดยพระอัครมเหสี จากการจับกุมของ “ พระเจ้ากฤตนคร ” และตำนานสถานที่สิ้นพระชนม์ ของพระอัครมเหสี โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

เกาะนางโดย ตั้งอยู่ที่ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งนิเวศน์อนุรักษ์ทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ในอดีต เกาะนางโดยแห่งนี้ เคยเป็นเกาะกลางทะเล และเป็นฐานทัพเรือของเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งอดีตกาล

ก่อนหน้าที่เกาะนางโดย จะมีสภาพเป็นภูเขาหินขนาดเตี้ยในปัจจุบัน จากบันทึกในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช และภาพวาดในแผนที่เมืองนครศรีธรรมราชยุคโบราณ ได้วาดรูป “ เกาะนางโดย ” เป็นเกาะที่โดดเดี่ยวอยู่กลางทะเล ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทะเลรอบเกาะนางโดย จะตื้นเขินลงจนกลายเป็นพื้นที่ป่าชายเลน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์

การศึกษาด้านประวัติศาสตร์พบว่า เกาะนางโดยมีประวัติความเป็นมายาวนานราว พ.ศ.๑๗๐๐ มีความเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เพราะเชื่อว่าเกาะนางโดย มีความสืบเนื่องจากข้อความที่เขียนติดกันทำให้ผู้อ่านเอกสารสำคัญนี้นำเอาคำมาใช้เรียกเกาะแห่งหนึ่งที่อยู่หน้าเมืองนครศรีธรรมราชหรือศรีธรรมราชนคร หรือศรีธรรมราชมหานคร ตามชื่อที่เรียกกันตามตำนานทั้งสอง ข้อความในตำนานมีว่า “นางอัครมเหสีก็ตามพระยาไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง อันชื่อว่าเกาะนางโดยครั้งนั้นชวาก็ให้เจ้าเมืองผูกส่วยไข่เป็ดแก่ชวา… “คำว่าเกาะนางโดย” เขียนติดกัน นอกจากจะเว้นวรรคอ่านว่า “เกาะแห่งหนึ่งอันชื่อว่าเกาะนาง โดยครั้งนั้นชวาก็ให้เจ้าเมือง…” หากเว้นวรรคก็จะรู้ว่าชื่อดังกล่าวชื่อ “เกาะนาง” แสดงว่าเกาะที่อยู่หน้าเมืองนครศรีธรรมราชนี้ชื่อ เกาะนาง ส่วนจะมีมานานก่อนที่พระอัครมเหสีจะเสด็จไปหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ กล่าวไว้ หรืออาจจะเรียกเกาะนางเพราะมีพระนางที่เกี่ยวกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเสด็จไปประทับ หรือว่ามีสตรีที่มีความสวยงามไปอยู่ที่เกาะนี้มาก่อน

แต่ที่แน่นอนคือเมื่อปี พ.ศ.๑๗๐๐ เศษ นั้นมีการเกิดศึกสงครามระหว่างศรีธรรมราชนครกับชวา หรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน (หรือดินแดนที่เรียกว่าอาเจ๊ะ) ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชบางฉบับมีข้อความว่าพระชายาเสด็จไปที่เกาะนางโดยและไม่มีคำว่า “ครั้ง” ตามหลัง (คงจะเป็นฉบับคัดลอกที่อาจจะไม่ตรงต้นฉบับเสียทีเดียว)การสงครามในครั้งนั้นรบกันเป็นเวลานานในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน บริเวณปากอ่าวนคร อ่าวปากพนัง คูขวาง (ถนนคูขวาง) และบนแผ่นดินที่เป็นตัวเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และกินอาณาเขตไปถึงเขามหาชัย สถานที่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

การรบในครั้งนั้นไม่แพ้ชนะกันจึงมีการใช้กลอุบายโดยกองทัพชวาได้แต่งสาสน์ถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นคือ พระยาศรีธรรมโศกราช (บางแห่งใช้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) แห่งปทุมวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งความว่าจะขอเป็นไมตรี โดยจะยกพระธิดาให้ขอให้ออกไปรับที่ปากอ่าวนคร เมื่อออกไปรับพระธิดาเจ้าชวา พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็ถูกจับ พระอัครมเหสีหรือพระชายาทรงหาหนทางเพื่อช่วยพระองค์ด้วยการเจรจาต่อรอง ในครั้งนั้นพระนางเสด็จไปโดยทางเรือไปประทับที่เกาะแห่งหนึ่งซึ่งอยู่หน้าเมืองนครศรีธรรมราช (ตามตำนานบอกว่าเกาะนาง) ซึ่งอยู่ในหมู่ ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง ในปัจจุบัน เกาะนี้มีเกาะเดียวที่อยู่หน้าเมืองนครศรีธรรมราช และอยู่ใกล้กับปากอ่าวนคร และคงไม่ห่างไกลจากกองทัพเรือของชวา ในที่สุดการเจรจาสำเร็จโดยชวาขอให้ศรีธรรมราชนครส่งส่วยไข่เป็ดปีละ ๕ ล้านฟอง* เป็นเวลา ๑๐ ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงได้รับการปลดปล่อยมาครองเมือง

หลังจากนี้ไม่นานพระเจ้าศรีธรรามโศกราช องค์นี้สินพระชนม์พระอนุชาครองราชย์ต่อและเกิดโรคห่า (ในตำนานเรียกไข้ยมบน) ระบาดทั่วไป พระอนุชาพารี้พลประชาชนส่วนหนึ่งหนีโรคห่าไปที่ลานสกา (ปัจจุบันมีการกล่าวถึงเรื่องวังโบราณลานสกา) ส่วนพระอัครมเหสีหรือพระชายาก็เสด็จหนีโรคห่าไปอยู่ที่เกาะนางที่เคยประทับเมื่อครั้งทรงเจรจาต่อรองกับกองทัพชวา แต่พระนางก็ต้องสิ้นพระชนม์ด้วยโรคห่าพร้อมด้วยพระทารกและข้าราชบริพาร เกาะนางแห่งนี้จึงมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์โบราณคดี เมืองนครศรีธรรมราช

(อ้างอิง รายงานการวิจัย “การศึกษาเกาะนางโดยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม” คณะผู้วิจัย รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้วิจัย ชลาพันธุ์ จันทร์ขุน สมใจ อู่ทอง ผศ.ยุพดี ธรรมชาติ ผู้ช่วยวิจัย)

จากเรื่องราวในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุว่า “ เกาะนางโดย ” แห่งนี้ เป็นฐานทัพเรือที่ “ พระอัครมเหสีของพระเจ้าพงษาสุระ ” เสด็จมาช่วยพระสวามี จากการจับกุมของ “ พระเจ้ากฤตนคร ” พระราชาแห่งอาณาจักรสิงหัสส่าหรี ซึ่งเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตอนปลาย เป็นช่วงที่อาณาจักรศรีวิชัยถึงคราวอ่อนแอถึงขีดสุด จนต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชวายาวนานถึง ๑๕ ปี ก่อนที่จะได้ขุนศึกพื้นเมืองที่ชื่อว่า “ พังพะการ ” มาช่วยกอบกู้บ้านเมืองกลับคืนเป็นอิสระมาได้
เกาะนางโดย กลายเป็นเกาะร้างกลางทะเลมายาวนานถึง ๘๐๐ ปี ปราศ จากผู้มาพำนักอาศัย จนกระทั่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงมีผู้คนเข้าไปจับจองพื้นที่สำหรับอาศัยเป็นชุมชน จึงทำให้เกาะนางโดย ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และเป็นสถานที่เหมาะแก่การสักการะ แสวงบุญที่สำคัญอีกแห่งของเมืองนคร

สำหรับเกาะนางโดย และ วัดเกาะนางโดยแห่งนี้ มีสิ่งสำคัญประจำดังนี้คือ

๑. พระพุทธธรรมธรชินราช บรมศาสดา ศรีนครมงคล พระพุทธรูปประธานของวัดเกาะนางโดย ที่ได้รับพระราชทานจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชประสงค์ ให้เชิญพระพุทธธรรมธรชินราช ฯ องค์นี้มาประดิษฐานที่วัดเกาะนางโดย เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ราษฎรชาวคลองน้อย ตลอดจนชาวปากพนังทั้งปวง

๒. ศาลเจ้าแม่เกาะนางโดย ตั้งอยู่บนเกาะนางโดย ศาลนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง พระอัครมเหสีของพระเจ้าพงษาสุระ ที่ได้ทรงมาประทับยังเกาะนางโดยแห่งนี้ เพื่อช่วยพระสวามีให้รอดพ้นจากพวกชวา และได้เป็นสถานที่สิ้นพระชนม์ของพระนาง จึงมีการสร้างศาลบูชาขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เจ้าแม่เกาะนางโดย เป็นที่นับถือของชาวบ้านละแวกเกาะนางโดยอย่างมาก ใน วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑ ของทุก ๆ ปี จะเป็นวันกำหนดเฉลิมฉลองเจ้าแม่

๓. มณฑปพระพุทธบาทบนยอดเกาะนางโดย พระพุทธบาทบนยอดเกาะนางโดย ได้ถูกสร้างขึ้นโดย อ.น้อม อุปรมัย อดีต สส. ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้นำเอารอยพระพุทธบาทจากเขาขุนพนม มาประดิษฐานยังยอดเกาะนางโดย เพื่อเป็นที่สักการะของชาวบ้าน และเป็นสิริมงคลแก่ผู้คนทั้งหลายในแถบนั้น

นอกจากนี้ เกาะนางโดย ยังมีถ้ำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากหินปูนตามธรรมชาติ ได้แก่ ถ้ำน้ำ ถ้ำลอด ถ้ำพระ และ ถ้ำถ้วย โดยเฉพาะถ้ำถ้วย เป็นถ้ำที่มีการพบโบราณวัตถุ เป็นเครื่องถ้วยโบราณ จำนวนมาก จนกระทั่งปากถ้ำปิดลง เนื่องจากการทับถมของพื้นดิน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปสำรวจถ้ำถ้วยได้อีกต่อไป

เกาะนางโดย เกาะสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ยังมั่นคง เป็นพยานหลักฐานทางธรรมชาติที่ยังคงอยู่ เพื่อบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ถึงวีรกรรม ของพระอัครมเหสีผู้เป็นแม่เมือง ผู้ปกป้องบ้านเมืองจนถึงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

* ไข่เป็ดนั้นในยุคดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างกองทัพเรือ เนื่องจากต้องใช้ไข่ขาวของไข่เป็ดมาทาใบเรือซึ่งจะทำให้มีความทนทานมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน — ผู้เขียน