ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

เวียงบางแก้ว นคราแห่งแรกของชาวพัทลุง ได้เริ่มการสถาปนาขึ้นเป็นเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ โดยรากฐานของชาวเวียงบางแก้วนั้น มาจากกลุ่มชนชาวเมืองสทิงพาราณสี ( พื้นที่ตั้งแต่ อ.ระโนด – อ.สิงหนคร จ.สงขลา ) หรือที่เรียกกันว่า “ ชาวแผ่นดินบก ” ซึ่งพัฒนาการแรกเริ่มของชาวสทิงพระนั้น เริ่มพัฒนาเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ โดยมีหลักฐานปรากฏเป็นโบราณวัตถุเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ และโบราณสถานเป็นพระเจดีย์ถึงสามแห่งในจังหวัดสงขลา คือ พระเจดีย์ วัดเจดีย์งาม อ.ระโนด , พระเจดีย์ วัดจะทิ้งพระ อ.สทิงพระ พระเจดีย์เขาน้อย อ.สิงหนคร อีกทั้งมีซากอาคารหินโบราณ ที่วัดสูงเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ที่ยืนยันถึงรากฐานความเก่าแก่ของบ้านเมือง สันนิษฐานว่า กลุ่มชนส่วนใหญ่ในเมือง นับถือศาสนาพราหมณ์ไศวะนิกาย และ ไวษณพนิกายควบคู่กัน มีอิทธิพลของพุทธศาสนาอยู่บ้าง

เมืองสทิงพาราณสี เจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าทางตะวันออกของสหพันธรัฐศรีวิชัย ที่สามารถเชื่อมเอาเส้นทางการค้าทางทะเล ระหว่างกลุ่มอาณาจักรทางมหาสมุทรอินเดีย เช่น สิงหล , อาหรับ และกลุ่มนครรัฐทางตอนใต้ของอนุทวีปอินเดีย และ กลุ่มอาณาจักรทางตะวันออก เช่น อาณาจักร พระนคร , มหาอาณาจักรจีน เป็นต้น ซึ่งผลพวงจากความเจริญทางการค้าขาย ทำให้มีประชาชนมากขึ้น พื้นที่ตัวเมืองเกิดการขยายตัว จนส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง

เพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าขายและขยายอาณาเขตการปกครอง พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองกรุงสทิงพาราณสีในยุคนั้น จึงได้สถาปนาเอาชุมชนโคกบางแก้วสร้างเป็นเมืองขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นโคกเมืองบางแก้วเป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ ปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานคือ ซากโบสถ์พราหมณ์ที่อยู่ทางตะวันออกขององค์พระเจดีย์ของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ประเมินอายุไว้ไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓

การสถาปนาเวียงบางแก้ว มีปรากฏในตำนานนางเลือดขาว ซึ่งแทรกอยู่ในพงศาวดารเมืองพัทลุงได้กล่าวถึงการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว โดยพระนางเลือดขาว และ พระยากุมาร พร้อมกับกลุ่มควาญช้าง ที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอาณาจักรสิงหล (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน) มายังเมืองเวียงบางแก้ว ซึ่งอายุการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วนั้น มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔

ส่วนในตำนานโนรา ได้กล่าวถึงเจ้าพญาสายฟ้าฟาดแลพระนางศรีมาลาผู้เป็นพระมเหสี ทรงปกครอง เวียงบางแก้ว จนให้กำเนิดพระนางนวลทองสำลี ต่อมาเมื่อพระนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศออกจากเมือง และได้ให้กำเนิดขุนศรีศรัทธา ต่อมาขุนศรีศรัทธาได้เดินทางกลับมายังเมืองของพระอัยกา คือ เจ้าพญาสายฟ้าฟาด และได้เผยแผ่ศิลปะการแสดงโนราให้แพร่หลายไป ซึ่งสันนิษฐานว่า เจ้าพญาสายฟ้าฟาด ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาเวียงบางแก้ว โดยพระองค์ทรงปกครองทั้งเมืองสทิงพาราณสี เวียงบางแก้ว จรดไปยังเมืองท่าในทิศทางตะวันตกอย่างปลันดาและปากแม่น้ำตรัง แม้ว่าเรื่องราวของพญาสายฟ้าฟาดจะเป็นมุขปาฐะที่มีการเล่าสืบกันมากันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ แต่สันนิษฐานว่ายุคของ เจ้าพญาสายฟ้าฟาด คงจะเกิดขึ้นก่อนการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อย่างน้อยก็ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓

พัฒนาการของเวียงบางแก้ว มีที่มาจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เริ่มจากชุมชนพราหมณ์ริมทะเลสาบ มาสู่เมืองท่าสำคัญของทะเลสาบ ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ เวียงบางแก้วได้เจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่า และเจริญอีกครั้งในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ เมื่อพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่ แม้ว่าในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและอาณาจักรมากมาย แต่เวียงบางแก้วและสทิงพาราณสีก็ได้รับผลกระทบไม่มาก สามารถปรับตัวให้เข้ากับศูนย์กลางแห่งใหม่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้

เวียงบางแก้ว ดำรงความเป็นเมืองท่าค้าขายมายาวนานหลายร้อยปี ย่อมต้องมีความรุ่งเรืองสลับกับความโรยราเป็นประปรายแต่ยังคงสภาพความเป็นบ้านเมืองมาจนถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญ และบทบาททางการปกครองจึงตกไปอยู่กับเมืองสทิงพาราณสี ที่ฟากตะวันออกของทะเลสาบทั้งในด้านการศาสนา หรือ ในด้านการเมือง โดยเจ้าเมืองพัทลุง มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองสทิงพาราณสี ในพงศาวดารเมืองพัทลุง กล่าวถึงพระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองพัทลุงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ร่วมกับพระเถระนามอโนมทัสสี ในการก่อสร้างพระเจดีย์บนเขาพระโค ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขาพิพัทธ-สิงห์ การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายไปทั่ว และได้ทำให้พระสงฆ์ มีบทบาทในการปกครองพื้นที่ตอนกลางของภาคใต้

จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในน่านน้ำเอเชียอาคเนย์ เมื่อนครรัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ และ นครรัฐสุลต่านแห่งยะโฮร์ เรืองอำนาจด้วยการควบคุมช่องแคบมะละกา ทำให้อิทธิพลของนครรัฐปลายแหลมมีอิทธิพลต่อแผ่นดินทางตอนบนมากขึ้น อีกทั้งนครรัฐสุลต่านทั้งสองยังได้เลี้ยงกองกำลัง “ โจรสลัด ” ไว้สำหรับบุกปล้นบ้านเมืองคู่แข่ง หรือ ข่มขู่เรือสินค้า ซึ่งการรุกรานของโจรสลัดที่มาจากช่องแคบมะละกานั้น ถูกบันทึกอยู่ในพงศาวดารเมืองของพัทลุงและมีข้อความอยู่ในบันทึกเรื่องราวบ้านเมืองนครศรีธรรมราช โดยในพงศาวดารเมืองพัทลุง ได้กล่าวถึงการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารู หรือ กองทัพโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์ไว้ว่า

“ ต่อมาออกหลวงเยาวราชมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นอาเจะอารูมารบเสียเมืองแก่อาเจะอารู ๆ กวาดครัวไป ทราบความถึงกรุงโปรดเกล้า ฯ ให้แผดงศรีราชปัญญาถือท้องตราออกมาเอาตัวเจ้าเมืองกรมการ ออกหลวงเยาวราชเจ้าเมืองเกรงกลัวพระราชอาญาจึงกินยาตายเสีย ได้แต่ขุนศรีชนาปลัดกับครอบครัว จำตรวนเข้าไปกรุงให้ลงพระราชอาญาจำตรวนขังไว้ ”

การรุกรานโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์ ที่มีบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุงภาคดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าเป็นการโจมตีในระลอกแรกและการสู้รบในครั้งนั้นคงจะร้ายแรงมาก ถึงขนาดหลวงเยาวราชผู้เป็นเจ้าเมืองต้องอัตวินิบาตรกรรม เพื่อหลบหนีความผิดและการรุกรานของโจรสลัด ส่วนในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีระบุถึงเหตุการณ์ที่โจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์เข้าโจมตีเมืองไว้ มีความว่า

“ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระยาสุพรรณเป็นปลัด ( เกิด )ศึกอารู้ยกมาตีเมือง แล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า ”

สันนิษฐานในคำว่า “ อารู้ ” ในตำนานพระธาตุนครฯ กับ “ เจ๊ะอารู ” ในพงศาวดารเมืองพัทลุงเป็นสิ่งที่ตรงกันหากวิเคราะห์ ตามบันทึกจะพบว่าเมืองนครศรีธรรมราชสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ แต่พัทลุงไม่อาจรักษาเมืองไว้ จนทำให้พระทิพราชาปลัดเมืองต้องรวบรวมผู้คนลงไปขับไล่กองทัพโจรสลัด

จากการเทียบเวลาที่เกิดขึ้น เรื่องราวการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารู หากอ้างอิงจากตำนาน พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชา ( เจ้านครอินทร์ ) – สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะในช่วงเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาเกิดข้อพิพาทกับเจ้าชายปรเมศวรในเรื่องการครองเมืองมะละกาอยู่พอดี จึงอาจสันนิษฐานว่าการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารู อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากข้อขัดแย้งระหว่างกรุงศรีอยุธยา – เมืองมะละกา กองทัพฝ่ายอาเจะห์ ส่งกองโจรสลัดเข้าปล้นเมืองสำคัญของฝ่ายอยุธยา เพื่อตัดกำลังไม่ให้ยึดครองมะละกาได้สำเร็จ

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจประการหนึ่ง คำว่า “ เมืองพัทลุง ” ตามบันทึกตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชและพงศาวดารเมืองพัทลุง มิใช่เมืองพัทลุงที่ตั้งในบริเวณปัจจุบัน แต่หมายถึงเมืองสทิงพระและเมืองเวียงบางแก้ว ซึ่งการรุกรานครั้งแรกของโจรสลัดเจ๊ะอารู ได้สร้างความเสียหายให้แก่เมืองสทิงพระและเวียงบางแก้วเป็นอย่างมาก ถึงขนาดต้องมีการขอกัลปนาใหม่จากทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เพื่อยืนยันสิทธิในการครอบครองที่ดินและการปกครอง ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานว่ากองทัพโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์จะสร้างความเสียหายไว้เท่าไหร่ แต่คาดว่ากรมการเมืองในยุคสมัยนั้น คงจะพอฟื้นฟูบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้เมืองสทิงพระและเมืองเวียงบางแก้วยังคงสภาพความเป็นเมืองอยู่

หลังจากเวียงบางแก้วที่ซบเซาลงจากการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางการปกครอง ก็ได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เนื่องจากพระเถระนาม พระสามีอินทร์ ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ให้เป็นเจ้าคณะลังกาป่าแก้ว ในสมณศักดิ์ “ พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี ศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิต พิพิธรัตนราชวรวงษ์พงษ์ภักดีศรีสากยบุตร อุประดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ” ปกครองวัดทั้งในพื้นที่หัวเมืองพัทลุงและพื้นที่บางส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนเมืองตรัง มีบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุงภาคดึกดำบรรพ์ว่า พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี ฯ ปกครองวัดทั้งหมด ๒๙๘ วัด โดยมีศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้ว และ วัดสะทังใหญ่ โดยมีระบุในพงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า

“ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าอินท์ไปอุปสมบทเปนภิกษุ ณ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วก็เข้าไปกรุงครั้งนั้นที่กรุงมีศึกมาล้อมเมืองอยู่ พระสามีอินท์เข้ารับอาสาขอม้าตัวหนึ่งกับคน ๕๐๐ บวชเปนปะขาวออกทำเวชมนต์ให้ข้าศึกงวยงงมีความกลัวกลับไป พระสามีอินท์มีความชอบ จึงเอากระบวนวัดแลพระพุทธรูปที่ได้เลิกพระสาสนา วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง ขึ้นถวายขอพระราชทานเบิกญาติโยมสมัคพรรคพวกให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระสามีอินท์เปนที่พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี ศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิต พิพิธรัตนราชวรวงษ์พงษ์ภักดีศรีสากยบุตร อุประดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง โปรดให้มีตราพระบรมราชโองการเบิกญาติโยมแลไร่นาส่วยสาอากรชาวกุฎีศิลบานทานพระกัลปนาให้ขาดออกจากส่วยหลวง พระราชทานแก่พระครูอินทโมฬี ฯ แลห้ามเจ้าเมือง ปลัดเมือง กรมการเมือง ลูกขุนมุลนาย โดยตราพระราชกฤษฎีกาอุทิศไว้ให้เปนข้าพระทั้ง ๒ อาราม ให้ตายายบิดามารดาพระครูอินทโมฬี ฯ เปนนายประเพณีแลดำรัสเหนือเกล้า ฯ แด่ พระยาศรีภูริปรีชาธิราชมหาเสนาบดีศรีสาลักษณ์ กรมพระกลาโหมให้เบิกจากพระคลังหลวงเปนสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองมอบให้แก่พระครูอินทโมฬี ฯ กับโปรดให้เบิกวัดทั้งแขวงเมืองนครศรีธรรมราชแลเมืองพัทลุง ๒๙๘ วัดมาขึ้นแก่วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง คือ วัดคูหาสรรค์ ๑ อารามพิกุล ๑ วัดสทิงมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ ๑ วัดพระเจดีย์งาม ๑ วัดชะแม ๑ วัดกลาง ๑ วัดพะเจียก ๑ วัดโรงน้อย ๑ วัดโรงใหญ่ ๑ วัดพะตาล ๑ วัดเหียงพง ๑ วัดพระครูไชยพัท ๑ วัดตำเสา ๑ วัดสนามไชย ๑ วัดโตนดหลาย ๑ วัดพังยาง ๑ วัดชะแล้ ๑ วัดแจระ ๑ วัดพระนอนปากบางแก้ว ๑ วัดพยา ๑ วัดแหลม ๑ วัดพระพุทธสิหิงค์ที่ตรัง ๑ วัดพระงามที่ตรัง ๑ เปนต้น ทั้งนี้ขึ้นแก่วัดสทังวัดเขียนบางแก้วแลหมู่หัวสิบหัวงานตามท้องพระตำรานี้ ก็ให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นี้ทั้งสิ้น ”

ต่อมาราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เกิดกองทัพโจรสลัดจากนครรัฐยะโฮร์ ( อุฌงคตนะ โจรสลัดจากปลายแหลม ) เข้ารุกรานเมืองสทิงพาราณสี เวียงบางแก้ว และนครศรีธรรมราช ซึ่งเหตุการณ์ได้ถูกบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า

“ ต่อมาออกเมืองคำได้เปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นมีศึกอุชํงคํตํนํ ( บางแห่งเรียก ” อุยงตะนะ ” หรือ สลัด ) มาตี เสียเมืองแก่ข้าศึกออกเมืองคำหนีรอดไปได้ ข้าศึกกวาดได้แต่ครอบครัวกรมการแลสมณะชีพราหมณ์ราษฎรข้าพระโยมสงฆ์ได้ไปแก่อชํงคํตํนํเปนอันมากแลเผากุฎีวิหารบ้านเรือนราษฎรเสียสิ้น ครั้งนั้นเจ้าเมืองหาเปนโทษไม่ด้วยศึกเหลือกำลัง โปรดเกล้า ฯ ให้เปนเจ้าเมืองดังก่อนให้เกลี้ยกล่อมส้องสุมราษฎรที่กระจัดพลัดพลายอยู่นั้น เข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา จัดการรักษาบ้านเมืองต่อไป ”

การรุกรานของกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะ ได้สร้างความเสียหายชนิดร้ายแรงแก่เมืองสทิงพาราณสีและเมืองเวียงบางแก้ว ถึงขั้นเผาทำลายบ้านเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า ความเป็นบ้านเมืองของสทิงพาราณสีและเวียงบางแก้วคงจะสิ้นสุดลงในยุคนี้ ซึ่งในขณะเดียวกัน ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุถึงการรุกรานของโจรสลัดจากนครรัฐยะโฮร์เอาไว้ว่า

“ เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคะตนะให้ลักปหม่าน่า ( ลักษะมาณา ) แม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระยา ข้าศึกรุกเข้าถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป ”

สงครามระหว่างเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะ ยังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด ยังมีสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพทั้งสองเมืองไว้ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า

“ เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคะตนะยกมา พระยา ( พระยารามราชท้ายน้ำ ) ก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร และแต่งเรือหุ้มเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวันเจ็ดคืน ขุนพันจ่าออกหักทัพกลางคืน ( ข้า ) ศึกแตกลงเรือ ( ข้า )ศึกเผาวัดท่าโพธิ์เสีย พระยา ( พระยารามราชท้ายน้ำ ) ถึงแก่กรรม พระยาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ ในพระธรรมศาลา ”

หากยึดศักราชตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างนครศรีธรรมราช ( อยุธยา ) – กองทัพโจรสลัดยะโฮร์ ( อุชงคะตนะ ) ได้สิ้นสุดลงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งในยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมืองพัทลุงได้มีศูนย์กลางปกครองที่เมืองสิงหนครที่ปกครองโดยสุลต่านสุไลมานแล้ว จึงสันนิษฐานว่า เมืองเวียงบางแก้ว คงจะล่มสลายตั้งแต่ปีศักราช ๒๑๔๑ แล้วเจ้าเมืองพัทลุงท่านถัดมา คือ ขุนเสนาปลัดเมืองได้ย้ายผู้คนไปยังตำบลคูหาสวรรค์ แล้วจึงก่อกำเนิดการตั้งบ้านเมืองพัทลุงแห่งใหม่ที่ควนพระรถ ก่อนที่จะย้ายไปตั้งมั่นที่หุบเขาไชยบุรีอีกนานนับร้อยปี

เวียงบางแก้ว นคราอันเก่าแก่แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวได้ว่าเป็นเมืองพี่น้องคู่กับเมืองสทิงพาราณสีในฝั่งแผ่นดินบก ถือกำเนิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีความเจริญในฐานะเป็นเมืองท่าภายในทะเลสาบสงขลา ควบคุมเส้นทางการค้าขายระหว่างตะวันตกและตะวันออกเอาไว้ เวียงบางแก้วรับเอาอารยธรรมในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ก่อนจะมาเป็นพุทธธานีในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยการสนับสนุนของกรุงศรีอยุธยา เวียงบางแก้ว ได้กลายเป็นเมืองที่ปกครองโดยพระสงฆ์ มีวัดบริวารนับร้อยวัดขึ้นตรงต่อวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว แต่ความเจริญรุ่งเรืองของเวียงบางแก้วก็ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากการรุกรานของกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะ หรือ กองทัพจากนครรัฐยะโฮร์ ได้ยกทัพมาปล้นเมืองเวียงบางแก้วและเมืองสทิงพระพินาศ จนไม่สามารถกลับฟื้นฟูสภาพความเป็นเมืองได้อีก

ถึงแม้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ( พระเจ้าเสือ ) จะมีการแต่งตั้ง พระครูอินทรเมาฬีศรีญาณสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุประดิษเถร เจ้าคณะป่าแก้วเพื่อฟื้นฟูเวียงบางแก้วในฐานะศูนย์กลางศาสนาอีกครั้ง เนื่องจากศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมืองได้ย้ายไปอยู่ชัยบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเขียนบางแก้วไปมาก จึงทำให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทางเมืองหลวงศูนย์กลางได้ติดพันรบพุ่งกับอาณาจักรอังวะ จึงทำให้เวียงบางแก้วขาดการส่งเสริม ทั้งจากเมืองหลวง และจากเมืองพัทลุงที่มีการตั้งในที่ต่าง ๆ เอง จนทำให้เวียงบางแก้วรกร้างลงนับร้อยปี จนมีการบูรณะอีกครั้ง ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดเขียนบางแก้ว จึงกลับมาในสภาพความเป็นวัดอีกครั้งสืบมาจนถึงปัจจุบัน