ที่มา : https://web.facebook.com/ThaiPerformancePracticeResearch…
ผู้เขียน : พรรัตน์ ดำรุง
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

“โนรา” ศิลปะการรำ ร้องของชาวใต้ ที่คนกรุงเทพ ฯ อาจจะได้ชม ได้เห็น ไม่ว่าจะชมกี่ครั้งก็ยังติดตา-ตรึงใจด้วยความลีลาที่เข้มแข็ง สง่างาม เสียงปี่-กลอง ที่เร้าใจด้วยจังหวะกระชับ รวดเร็ว ไม่ละมุนอ่อนโยนแบบนาฏศิลป์ไทยที่คุ้นเคย ลีลาของโนรา และ เสียงขับร้องสำเนียงใต้ สื่อสารความแตกต่าง และพละกำลังที่เข้มแข็งของศิลปิน

โนราเป็นศิลปะการร่ายรำของไทยรูปแบบที่ 2 ที่ได้รับการเสนอชื่อไปยัง UNESCO เพื่อขึ้นบัญชี เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ (ICH) ในปี 2564 ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand

โนรา เป็นศิลปะการแสดงที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนใต้ การร่ายรำและขับร้องโนราเป็นแบบแผนเฉพาะของครูโนราในสายตน มีรากสืบทอดจากความเชื่อ ประเพณีการสืบสานถ่ายทอด คัดกรองที่ชัดเจน เป็นพิธีกรรมที่เชื่อมบุคคล กับบรรพชนของตน และมีเครือข่ายแห่งศรัทธาที่มีต่อครูหมอโนราที่ถือว่าเป็นบรรพชนของตน พิธีกรรมโนราโรงครูอันเป็นพิธีกรรมการแสดงในหมู่ผู้ที่มีเชื้อสายโนรา ยังคงปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกปี หรือทุกสามปี ตามที่ได้มีสัญญากัน

เดิมการสืบทอดโนรานั้นเป็นการสืบทอดกันในระหว่างครอบครัว และในชุมชนชาวพุทธ รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา และยังพบบ้างในพื้นที่ที่ชาวพุทธอยู่รวม ๆ กันกับชุมชนมุสลิม ปัจจุบันโนราเป็นศาสตร์ ความรู้ที่สอน ถ่ายทอดกันทั้งในชุมชนและในการศึกษาสมัยใหม่ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัย

ในวันนี้ศิลปะของโนราเป็นสัญลักษณ์ ของชุมชนไทย ที่นับถือศาสนาพุทธในหลายรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง ศิลปะของโนรา ในการเป็นพิธีกรรมที่ใช้ในการสื่อสาร กับบรรพชน หรือเป็นกลวิธีในการรวบรวมผู้คนที่มีศรัทธา มีชาติพันธุ์เดียวกัน และการเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็ง ดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นศรัทธาและความหวัง เป็นพลังให้ผู้มีศรัทธาและนับถือปฏิบัติ

ประวัติเรื่องราวของโนรา ถ่ายทอดผ่านตำนานท้องถิ่น การบอกเล่าของครูผู้ถ่ายทอด และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นำมาประกอบกัน แต่ที่สำคัญมาก อาจไม่มีใครพูดถึง ได้แก่ การสืบสานถ่ายทอด ศิลปะ-ทักษะ-ภูมิรู้ของการร้อง รำไว้ในเนื้อในตัว (embodiment) ของศิลปินโนราแต่ละสาย ที่มีการร่ายรำ ขับร้องในพิธีกรรมมีแบบแผน

ในความแตกต่าง ตำนานเกี่ยวกับครูต้นของโนรายังแพร่หลายแม้แตกต่าง การค้นหา “ครูต้น” โนรา ผู้อยู่ในตำนาน ให้เกิดเป็น “รูปจำลอง” ที่ผู้คนสามารถยึดเหนี่ยว เป็นภาพแทนความศรัทธาจึงเกิดขึ้น ชาวพัทลุงได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสร้าง รูปจำลองของ พระยาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา นางนวลทองสำลีและขุนศรีศรัทธา ไว้บริเวณพระบรมธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโนราหลายภาคส่วน อาทิเช่น วัดเขียนบางแก้วที่เป็นเจ้าของสถานที่ ตัวแทนพระสงฆ์ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ -คณะพราหมณ์- และเหล่าศิลปินโนราในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงผู้คนที่มีศรัทธา และ ผู้สืบเชื้อสายโนราจากหลายจังหวัดเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ด้วยความเคารพนับถือ ศรัทธา ต่อบรรพบุรุษโนรา บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา

มีการรวมตัวของศิลปินโนราชั้นครู ได้แก่ มโนราห์ อรุณ ศ.เอิบอวบศิลป์ (เจ้าพิธี), โนราบุญทิพย์ สุริยะจันทร์ (ลูกโนราครื้นช่างทอง), มโนราห์อ้อมจิตร เจริญศิลป์, โนราธรรมนิตย์ สงวนศิลป์, โนราศุภชัย ศ.สาโรช, โนราพัฒน์ นาคเสน, มโนราห์สำเนาว์ บูรณะ, มโนราห์เฉลิมพล แฉล้มเพชร, และโนราคนสำคัญในพื้นที่คนรุ่นใหม่ โนราเกรียงเดช ขำณรงค์ โนราไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย โนราก้องฟ้า ราชศิลป์ โนรากร เมืองตรัง โนราสอง ทำนองศิลป์ มโนราห์ มาริสา เสน่ห์ศิลป์

ในความแตกต่าง-ของ ตำนานเกี่ยวกับครูต้นของโนรา ตำนานเหล่านี้ยังแพร่หลาย การค้นหา “ครูต้น”โนรา ผู้อยู่ในตำนาน ให้เกิดเป็น “รูปจำลอง” ที่ผู้คนสามารถยึดเหนี่ยว เป็นภาพแทนความศรัทธาจึงเกิดขึ้น ในวันที่ ๒๐-๒๑ ก.พ. ๖๔ ชาวพัทลุงได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสร้างขึ้น

พรรัตน์ ดำรุง
เครดิตภาพ : เพจ โนรา