ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

“นครมีท่า-ตรังมีนา-สงขลามีบ่อ” สำนวนโบราณที่บอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินภาคใต้ฝั่งตะวันออกนี้ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า “เรื่องปากท้อง” ของผู้คน เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อสร้างบ้านแปงเมือง ดังประกอบเข้ากับอีกสำนวนว่า “แค่บ่อ แค่ท่า แค่นา แค่วัด”

ท่าชี เป็นหนึ่งในหลายท่าน้ำที่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในปัจจุบัน แต่อาจเป็นเพียง ‘ท่า’ เดียว ที่หลงเหลือกลิ่นอายความเป็นอารยชนของเมืองนครศรีธรรมราช

ปัจจุบันแม้จะไม่มีร่องรอยความเป็นท่าน้ำแล้ว แต่ท่าชีก็ฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ประหนึ่งไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงยืนต้นต้านลมแรง แม้โลกเปลี่ยนแปลงแต่นัยยะสำคัญของท่าชียังไม่เคยเปลี่ยนไป

ท่าชี แวดล้อมไปด้วยแหล่งโบราณสถานสำคัญ ซึ่งหากลำดับตามคติความเชื่อแล้วอาจถือได้ว่าเป็น ‘ใจเมือง’ ในชั้นแรก ๆ ด้วยว่ามี ‘สถานพระเสื้อเมือง’ เป็นที่เคารพสักการะในฐานะเทวดาอารักษ์ ‘เสื้อ’ ภาษาโบราณแปลว่า ‘ผี’ พระเสื้อเมืองจึงหมายถึง ‘ผีบ้าน ผีเมือง’ ซึ่ง ‘ผี’ ในที่นี้ ดั้งเดิมมีความหมายเดียวกับ ‘เทวดา’

การนับถือผีนี้ เป็นความเชื่อแรกสุดของมนุษยชาติ เป็นระบบความคิดที่นักวิชาการหลายท่านยอมรับว่าเป็น ‘ศาสนา’ ของคนพื้นถิ่นก่อนรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรวมถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้น การเป็นสถานที่ที่มีการเคารพนับถือด้วยคติความเชื่อดั้งเดิม จึงอาจเชื่อได้ว่าต้องมีความสัมพันธ์กับความเป็นพื้นถิ่นก่อนการสถาปนาเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองแห่งพระพุทธศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ท่าชี ยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คือ “ฐานพระสยมภูวนาถ” กรมศิลปากรกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ สันนิษฐานว่าละแวกดังกล่าว เคยเป็นแหล่งชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิม โดยมีฐานพระสยม ฯ เป็นเทวาลัยประกอบศาสนกิจ ปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙

การเป็นชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิมแต่โบราณนี้เอง เป็นที่มาของชื่อ ‘ท่าชี’ ด้วยว่า ‘ชี’ คำนี้ มาจาก ‘ชีพราหมณ์’ ผู้ถือพรตบวชในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ ท่าชีเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ตลาดท่าชี’ การเปลี่ยนรูปจากชุมชนศูนย์กลางทางศาสนาพราหมณ์มาเป็นชุมชนการค้าท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้กลิ่นอายความเป็นท่าชีสูญสิ้นไป เพราะทุกเช้า เรายังสามารถเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ทยอยกันเดินทางไปทำบุญตักบาตร สักการะขอพรพระเสื้อเมือง และบูชาพระสยมภูวนาถกันไม่ขาดสาย

ท่าชี จึงอาจเป็นภาพโดยย่อของคติไทยได้อย่างดี เพราะภายในสถานที่เดียวสามารถเห็นความสัมพันธ์กันของระบบความเชื่อทั้งศาสนาผี พราหมณ์ และพุทธ ฯ

(คำอธิบายปก : ภาพบรรยากาศยามเช้าย่านท่าชี ขอบพระคุณความเอื้อเฟื้อจากเพจ “ถนนตักบาตร ตลาดท่าชี”)