ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : เอื้อม อุบลพันธุ์ และ นะมา โสภาพงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

‘ทุ่งสง’ มาจากไหน ?
เป็นไปและเป็นมาอย่างไรในอดีต

พื้นที่ที่ตั้งอำเภอทุ่งสงในปัจจุบันนี้ ปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า ประมาณศักราช ๑๕๘๘ ปีมะเมีย เจ้าศรีราชา บุตรพระพนมวังและนางเสดียงทองเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเมืองนครร้างอยู่ เนื่องจากเกิดไข้ยมบนในเมือง คนหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า

เมื่อเจ้าศรีราชาได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว ก็ได้ยกช้าง ม้า รี้พลมาจากเมืองเวียงสระเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองนคร จัดการซ่อมแซมบ้านเมือง พระบรมธาตุ และวัดวาอาราม จึงแต่งคนออกไปสร้างป่าเป็นนาในตำบลพระเจ้าแดงชะมาย คือ พื้นที่บริเวณตำบลชะมายปัจจุบัน เข้าใจว่าคงตั้งบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยนั้น

จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งพระยาสุธหทัยออกมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้จัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชผู้ใหญ่ ผู้น้อยขึ้นครบตามตำแหน่ง ปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งชำระใหม่ ครั้งรัชกาลที่ ๒ จุลศักราช ๑๑๗๓ ได้ความว่า พื้นที่อำเภอนี้เคยเป็นแขวงขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ๔ แขวง หรือ ๔ ที่ มีนายที่ปกครอง คือ
ก. ขุนแก้ววังไกร ที่นายแก้ว
ข. หมื่นอำเภอ นายที่ทุ่งสง
ค. ขุนกำแพงธานี นายที่ชะมาย
ง. หมื่นโจมธานี นายที่นาบอน

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้มีการปกครองแผนใหม่ เป็นมณฑล เมือง จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน จึงได้รวบรวมพื้นที่ ๔ แขวง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เรียกว่า ‘อำเภอทุ่งสง’ แบ่งการปกครองออกเป็น ๒๒ ตำบล ขึ้นอยู่ในเขตปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

อำเภอทุ่งสงมีพื้นที่ปกครองกว้างขวางมาก ไม่สะดวกในการปกครอง จึงได้แยกตำบลลำทับ ให้ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแยกตำบลท่ายาง ตำบลกุแหระ ตำบลทุ่งสัง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอหนึ่งเรียกว่า ‘กิ่งอำเภอกุแหระ’ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กิ่งอำเภอท่ายาง’ แล้วยกฐานเป็นอำเภอเปลี่ยนเป็น ‘อำเภอทุ่งใหญ่’ คงเหลือในการปกครองของอำเภอทุ่งสงเพียง ๑๖ ตำบล

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้แยกตำบลนาบอน ตำบลทุ่งสง และตำบลนาโพธิ์บางส่วนเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า ‘กิ่งอำเภอนาบอน’

ต่อมาได้แยกตำบลนาโพธิ์ในหมู่ที่ ๑, ๓, ๗, ๘ และ ๙ ไปเป็นตำบล ‘เขาขาว’ และแยกตำบล ‘บางขัน’ หมู่ที่ ๑, ๒, ๕ และ ๗ เป็นตำบล ‘ลำนาว’

ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง เดิมตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาลตำบลปากแพรก ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ตัวที่ว่าการอำเภอทั้ง ๒ แห่ง คงตั้งอยู่ในตำบลปากแพรกตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสอำเภอทุ่งสง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จจากเมืองตรังโดยกระบวนช้าง ผูกเครื่อง จัดริ้วขบวนตามธรรมเนียมเก่าของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลกะปาง ตำบลที่วัง ไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ และครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เสด็จเยี่ยมมณฑลปักษ์ใต้ ทรงให้ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชทานพระแสงราชศาสตราสำหรับเมือง และจัดตั้งกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จประพาสน้ำตกโยง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลถ้ำใหญ่ และเสด็จทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่อำเภอทุ่งสง

คำว่า ‘ทุ่งสง’ สันนิษฐานว่ามาจากที่ตั้งของอำเภอทุ่งสง เป็นพื้นที่ราบลุ่มทุ่งกว้างอยู่ระหว่างเขา มีคลองใหญ่เป็นต้นน้ำแม่น้ำกันตัง (ฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน) และมีทางเกวียนเชื่อมต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช (ฝั่งตะวันออกอ่าวไทยหรือทะเลจีนใต้) จึงเป็นชุมทางของกองคาราวานสินค้าจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือทะเลอันดามันกับฝั่งทะเลตะวันออกหรือทะเลจีนใต้ พ่อค้าจากอาหรับและจากเมืองจีนจะนำสินค้าขึ้นบกที่เมืองนครหรือเมืองตรัง แล้วเดินบกมาพบกันที่นี่ เพื่อส่งสินค้าแลกเปลี่ยนกัน จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘ทุ่งส่ง’ ในสำเนียงภาษาไทยถิ่นภาคกลาง ที่ออกเสียงอย่างภาษาไทยถิ่นใต้ว่า ‘ทุ่งสง’
อธิบายภาพปก “ชุมทางทุ่งสง จากปกสารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗”

จากบทความ “อำเภอของเรา : อำเภอทุ่งสง” ของ เอื้อม อุบลพันธุ์ และ นะมา โสภาพงศ์ ในนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๗