ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : เมธาวี แก้วสนิท และ กรกฎ จำเนียร
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ชวนมาส่องฉากเกี้ยวพาราสีของนกพิทิด
ผ่านการละเล่นพื้นบ้านชาวนบพิตำ

“รำโทนนกพิทิด” เป็นการละเล่นพื้นถิ่นของตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาหลวง ที่เคยเป็นดินแดนคอมมิวนิสต์มาก่อน

รำโทนนกพิทิดเป็นการละเล่นพื้นบ้านของตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับการเผยแพร่วัฒนธรรมมาจากภาคกลางในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นเครื่องบันเทิงใจในยามที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ทหารใช้รำโทนมาสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน

ผู้คิดค้นรำโทนนกพิทิด ได้แก่ ครูแนบ ล่องลือฤทธิ์ ครูโรงเรียนวัดเปียนได้รับวัฒนธรรมการละเล่นนี้จากในเมือง แล้วเอามาเผยแพร่ในตำบลกรุงชิง โดยท่านมีพื้นฐานด้านการรำมโนราห์และหนังตะลุง จึงได้คิดท่ารำและเนื้อร้องขึ้นเป็นร้อย ๆ เพลง โดยอิงธรรมชาติและวิถีชีวิตของตำบลกรุงชิง ทั้งนี้ ท่ารำจะมีลักษณะสอดคล้องกับเนื้อร้อง ลักษณะเนื้อร้องจะสั้น ๆ นักร้องหรือผู้ร้องมักร้องเป็นภาษาใต้ทองแดง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบด้วย โทน ฉิ่งและฉาบ โดยมีเพลงเอกคือ เพลงนกพิทิด ซึ่งบทเพลงและท่ารำเลียนแบบนกพิทิดหรือนกทึดทือ นกในตระกูลนกฮูก นกเค้าแมว ที่มีลักษณะเกี้ยวพาราสีกันระหว่างตัวผู้และตัวเมีย เน้นความตลกขบขันในทำนองสนุกสนาน ถือเป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยม และทำให้การละเล่นนี้ได้ชื่อว่า “รำโทนนกพิทิด”

เพลงนกพิทิด

พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด ค่ำคืนนี้กี่ทีละพี่ทิด
ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก
นกพี่ทิดร้องดังงืดมอ งืดมอ
พี่ทิดรักน้องตรงไหน พี่ทิดรักน้องตรงไหน
พี่ทิดรักน้องที่หน้าผาก พี่ทิดรักน้องที่หน้าผาก
ที่หน้าผากละก็รักไม่ได้ หยับลงใต้สักหิดก่อนที
พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด ค่ำคืนนี้กี่ทีละพี่ทิด
ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก
นกพี่ทิดร้องดังงืดมอ งืดมอ
พี่ทิดรักน้องตรงไหน พี่ทิดรักน้องตรงไหน
พี่ทิดรักน้องที่หน้าอก พี่ทิดรักน้องที่หน้าอก
ที่หน้าอกละก็รักไม่ได้ หยับลงใต้สักหิดก่อนที
พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด ค่ำคืนนี้กี่ทีละพี่ทิด
ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก นกพี่ทิดร้องดังงืดมอ งืดมอ
พี่ทิดรักน้องตรงไหน พี่ทิดรักน้องตรงไหน
พี่ทิดรักน้องที่สะดือ พี่ทิดรักน้องที่สะดือ
ที่สะดือละก็รักไม่ได้ หยับลงใต้สักหิดก่อนที
พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด พีทีพีทีพีทิด ค่ำคืนนี้กี่ทีละพี่ทิด
ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก ตะละแล้น ตะละแล้น แต้นติก
นกพี่ทิดร้องดังงืดมอ งืดมอ

การแสดงรำโทนนกพิทิดในบทเพลงนกพิทิด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รำโทนนกพิทิดได้รับความนิยมน้อยลง ในตำบลกรุงชิงยังมีเพียงกลุ่มผู้สูงอายุสืบทอดเป็นหลัก และมีคุณครูในโรงเรียนฝึกหัดเยาวชนอยู่บ้าง แต่เยาวชนเองเมื่อเติบใหญ่ก็ทิ้งถิ่นฐานไปเรียนต่อที่อื่น จึงไม่ได้สืบทอดต่ออย่างเป็นรูปธรรมมากนัก

โครงการวิจัยการสร้างสรรค์การรำโทนนกพิทิดเพื่อสื่อสารและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้จัดเวทีการสนทนากลุ่มของ ๓ กลุ่มหลักภายในชุมชน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มครูและเยาวชนระดับประถมศึกษา และกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรม และสถาบันการศึกษาเป็นกำลังเสริม การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุป คือ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยกระดับการรำโทนนกพิทิดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยว โดยจะมีการรื้อฟื้นรำโทนนกพิทิดในลักษณะดั้งเดิมขึ้นมา และสร้างสรรค์การรำโทน นกพิทิดในลักษณะร่วมสมัย

บรรยากาศการจัดเวทีสนทนากลุ่มของชุมชน
จากเวทีสนทนากลุ่ม จึงเกิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์รำโทนนกพิทิดเพื่อส่งเสริมการ
ท่องเที่ยวชุมชนขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา และทำให้เกิดเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนี้

๑. เพลงประวัติรำโทนนกพิทิด

เพลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการศึกษาความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการทราบประวัติความเป็นมาของรำโทนนกพิทิดของตำบลกรุงชิง นักท่องเที่ยวเสนอให้มีเพลงที่บ่งบอกความเป็นมาของการละเล่นหรือการแสดงประเภทนี้ เพลงดังกล่าวสามารถนำมารำต่อจากเพลงไหว้ครู ก่อนจะนำเข้าสู่เพลงอื่น ๆ ต่อไป
หลายสิบปีผ่านมาแต่เก่าก่อน (ซ้ำ)
การรำโทนมีมาแต่โบราณ
จอมพล ป. อยู่ในช่วงสงคราม (ซ้ำ)
เป็นตำนานรำโทนของไทย
จะกล่าวถึงครูแนบ ล่องลือฤทธิ์ (ซ้ำ)
เป็นคนคิดประดิษฐ์ท่ารำโทนให้
นกพิทิดอยู่ในดงพงไพร (ซ้ำ)
ครูแนบแต่งให้เป็นท่ารำโทน
นกพิทิด มีตัวผู้ ตัวเมีย (ซ้ำ)
มาคลอเคลียแบบสุภาพอ่อนโยน
เป็นแบบรำของการรำโทน (ซ้ำ)
เป็นจังหวะจะโคนของชาวบ้านสืบมา
ป๊ะ โท่น โท่น โท่น โท่น
ป๊ะ โท่น โท่น โท่น โท่น
(ซ้ำทั้งหมด)

๒. เพลงป่าประ

ต้นประเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอนบพิตำ จากการวิจัยพบว่ามีป่าประผืนใหญ่อยู่ในอำเภอนบพิตำ และปรากฏอยู่ในคำขวัญของอำเภอนบพิตำที่ว่า “น้ำตกกรุงชิง ต้นประสวยยิ่ง เด่นจริงคลองกลาย แร่ธาตุป่าไม้ ค่ายลูกเสือจังหวัด เมืองประวัติโบราณ” นอกจากนี้ อำเภอนบพิตำได้มีการกำหนดจัด “วันประแตก” เป็นประจำทุกปี เพลงที่ได้รับการสร้างสรรค์จะได้ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและใช้ในเชิงการตลาดเพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากประด้วย
ป่าประ ป่าประ ป่าประ (ซ้ำ)
ลูกประแห่งกรุงชิง
แดนถิ่นที่มีป่าประ
ใบแดงเหมือนแสงสุริยะ (ซ้ำ)
เอกลักษณ์ดอกประอุทยานเขานัน
มีลูกออกมาเต็มต้น (ซ้ำ)
เมื่อยามสุกหล่นผู้คนเก็บกัน
ผืนสุดท้ายอยู่ในแผ่นดินไทย (ซ้ำ)
มีหลายพันไร่อยู่ในกรุงชิง
หยามลูกประมีปีละครั้ง (ซ้ำ)
มีประทอด ประมัน ประฉาบ และประดอง
ขอเชิญทุกคนมาลิ้มลอง (ซ้ำ)
ประมัน ประดอง ของดีแห่งกรุงชิง
(ซ้ำทั้งหมด)

๓. เพลงมาเที่ยวกรุงชิง

ด้วยการวิจัยดังกล่าวต้องการสร้างสรรค์การรำโทนนกพิทิดซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน และเป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ จึงควรมีการสร้างสรรค์เพลงที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลกรุงชิงที่บ่งบอกถึงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของกรุงชิง
มาต๊ะ มาต๊ะคนดี มาเที่ยวกับพี่ไปที่น้ำตก
พันตาล กรุงชิง กรุงนาง
น้ำตกสุดทางก็คือคลองผด
ยามเช้า คอยเฝ้าแลหมอก (ซ้ำ)
เมื่อยามแดดออก ชาดสวยถูกอก
เขาเหล็ก จังโหลน เขาเหลี้ยม
ทิวทัศน์ยอดเยี่ยม พี่ไม่ขี้หก
ลอดถ้ำหงส์ ล่องแก่ง คลองกลาย
สนุกเหลือหลาย น้ำไม่สกปรก
มาต๊ะหนุกหนานแน่นอน (ซ้ำ)
เชิญมาพักผ่อน พี่ไม่ขี้หก
มา…… มา มา มา มาต๊ะ
เชิญทุกคนมา มาที่กรุงชิง
ทุกอย่างนั้นมีจริง ๆ
มาเที่ยวกรุงชิง
ทุกคนปลอดภัย
มาต๊ะ มาเที่ยวกรุงชิง (ซ้ำ)
มาต๊ะ ๆ มาเที่ยวกรุงชิง
(ซ้ำทั้งหมด)

ภายหลังการจัดกิจกรรมการสร้างสรรค์รำโทนนกพิทิดโดยชุมชนมีส่วนร่วม ทำให้มีการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมนี้แก่เยาวชนมากขึ้น ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนบ้านปากลง นักเรียนโรงเรียนนบพิตำวิทยา และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ชุดการแสดงยังได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “ประ” พืชเศรษฐกิจสำคัญของตำบลนบพิตำ เพื่อสร้างความน่าสนใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น และรำโทนนกพิทิดยังมีพื้นที่ในการแสดงเพิ่มมากขึ้น เช่น การแสดงในพิธีเปิดวันประแตกของอำเภอนบพิตำ พิธีเปิดกีฬานบพิตำเกมส์ ประจำปี ๒๕๖๒ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว จะมีการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่ายเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้รำโทนนกพิทิด เพื่อประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นการละเล่นรำโทนนกพิทิดของชาวตำบลกรุงชิงสืบไป

จากบทความ “รำโทนนกพิทิด การละเล่นพื้นบ้านกรุงชิง :
สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน” โดย เมธาวี จำเนียร กรกฎ จำเนียร ทองพูล มุขรักษ์ และศศิพัชร บุญขวัญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ยงยุทธ ปาณะศรี วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวรรณา เทพณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านรำโทนนกพิทิด ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓