ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ที่ใช้ประกอบในการแสดง เช่น หนังตะลุง โนรา หรือแม้แต่กระทั่งใช้ในพิธีกรรม ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ทั้ง ๕ ชนิด คือ กลองทัด ทับ ( โทน ) โหม่งคู่ หรือ โหม่งฟาก ปี่ และ ฉิ่ง ซึ่งเครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลมาจาก “ ปัญจวาทยะ ” หรือ ปัญจตุริยะ ของชาวชมพูทวีป ที่แต่เดิม ได้ประโคมเครื่องดนตรีทั้ง ๕ ชนิดนี้ ในการแห่แหนเทพเจ้าในเทวาลัยของเหล่าพราหมณ์ ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาคของเอเชียอาคเนย์ ใช้ประกอบทั้งในการแสดงชนิดต่าง ๆ ตลอดจนขบวนแห่แหนในหลาย ๆ ประเภท ให้บังเกิดความครื้นเครงอีกด้วย

สำหรับเครื่องดนตรีในภาคใต้ทั้ง ๕ ชิ้นนั้น ถูกจัดอยู่ใน “ เบญจดุริยางค์ ” หรือ ปี่พาทย์เครื่องเบา สำหรับประกอบการแสดงพื้นเมือง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีขั้นรากฐานของการแสดงละคร เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ พอจะเทียบกับ ปัญจะตุริยะ ของทางอินเดียได้ ดังนี้

ตะตะ หรือ กลองหน้าเดียว เทียบได้กับ กลองทับ ของเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้

วิตตะ หรือ กลองขึงทั้งสองหน้า ถ้าในวงกาหลอ คือ กลองแขก หรือ กลองชวา ถ้าหากเป็นเครื่องดนตรีในการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ จะเทียบได้กับ ทับ ที่มีคู่กัน ๒ ลูก

สุษิระ หรือ เครื่องดนตรีประเภทเป่า เทียบได้กับ ปี่ และ ขลุ่ย ชนิดต่าง ๆ ซึ่งในภาคใต้ จะนิยมปี่ใน ใช้เป่าสำหรับการแสดงมากกว่าปี่ชนิดอื่น

อวนัทธะ หรือ เครื่องดนตรีประเภทโลหะ เทียบได้กับ โหม่งคู่ หรือ โหม่งฟาก ของเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้

ฆนะ หรือ เครื่องดนตรีประเภทควบคุมจังหวะ เทียบได้กับ ฉิ่ง หรือ แกระ ของเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้
ประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีพื้นเมืองในภาคใต้นั้น สันนิษฐานว่าได้เข้ามาพร้อมกับเหล่าคณะนักดนตรีชาวอินเดียใต้ ที่บรรเลง “ ปัญจวาทยะ ” หรือ “ ปัญจตุริยะ ” สำหรับเฉลิมฉลองในพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งคณะนักดนตรีเหล่านี้ได้เข้ามาในสุวรรณภูมิเมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นอย่างสูง ก่อนจะเข้ามากระจายตัว จากหัวเมืองชายฝั่งทะเล ไปยังทั่วภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ดูแล้ว ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจ