ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานเนื่องในพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของอาณาจักรตามพรลิงค์ และเป็นรัฐในสมาพันธรัฐศรีวิชัย ที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา แกนกลางของวัดคือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถูปขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยผสมผสานรูปแบบด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมจากความเชื่อในพุทธศาสนามหายานและเถรวาทจากศิลปะปาละแห่งอินเดีย ศิลปะศรีวิชัยจากอินโดนีเซีย และศิลปะลังกาจากโปโลนนาลุวะ เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิม มาสู่อาณาจักรตามพรลิงค์และดินแดนอื่น ๆ ในคาบสมุทรไทยซึ่งเคยนับถือพระพุทธศาสนามหายานอยู่แต่เดิม ขณะเดียวกันก็มีการผสมผสานเข้ากับศาสนาพราหมณ์ ทั้งไวษณพนิกายและไศวนิกายที่ชาวอินเดียนำเข้ามา จนเป็น “ตัวแบบ” และขยายคุณค่าไปยังอาณาบริเวณอื่น โดยเฉพาะดินแดนคาบสมุทรมลายู รวมทั้งดินแดนภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะสุโขทัยอันเป็นผลให้ประชาชนชาวไทยเกือบทั่วทั้งประเทศนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการแสดงถึงการแลกเปลี่ยนคุณค่าทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในภูมิภาคข้างเคียงมายังคาบสมุทรไทย โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน

สิ่งที่โดดเด่นยิ่งก็คือสถาปัตยกรรมการสร้างสถูปเจดีย์ เพราะใช่แต่เพียงสร้างตามแบบแผนสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงลังกาเท่านั้น แต่ยังนำปรัชญาทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการออกแบบ ดังเช่น ช้างปูนปั้นรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์จำนวน ๒๒ เชือก สื่อความหมายถึงอินทรีย์ ๒๒ (สภาวะที่เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน) ฉัตรวลี ๕๒ ชั้น สื่อความหมายถึงเจตสิก ๕๒ (อาการหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต) และพระพุทธรูปปางลีลา ๘ องค์ สื่อความหมายไปถึงอริยอัฏฐังคิกมรรค ๘ (ทางอันประเสริฐ) ซึ่งเป็นหลักธรรมอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา ส่วนลานประทักษิณชั้นบนขององค์พระเจดีย์ มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่สี่มุม สื่อความหมายถึงพระพุทธเจ้าในภัทรกัป บัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมที่อยู่ระหว่างองค์ทรงระฆังกับฉัตรวลี ประดับด้วยพระพุทธรูปปางลีลาเรียงเป็นทักษิณาวัตร เรียกว่า “พระเวียน” สื่อความหมายถึงมรรค ๘ เป็นต้น นอกจากนี้จุดเด่นด้านกายภาพของปูชนียสถานแห่งนี้ก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงรักษาความแท้และความครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่แรกสร้างเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไว้ได้ รูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้รับอิทธิพลศิลปะลังกาตามแบบอย่างพุทธศิลป์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุด รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้มีการพัฒนาโดยปรับลดส่วนความกว้างลง ทำให้องค์ระฆังเพรียวขึ้น รูปลักษณ์ที่ปรากฏจึงแตกต่างจากศิลปะลังกา ถือเป็นการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมที่ประสบความสำเร็จในการออกแบบอย่างดียิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่เจดีย์ทรงระฆังนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วในดินแดนไทย

ในด้านความเชื่อพระบรมธาตุเจดีย์นี้ยังเป็นศูนย์รวมความเชื่อ ประเพณีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาพระพุทธองค์เป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” รวมถึงการถวายความศรัทธาด้วยเครื่องพุทธบูชา และวรรณกรรมของกวี ในรูปแบบ “วรรณกรรมชาพระธาตุ” ที่มีมายาวนานและต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมซึ่งมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นแกนกลางของความศรัทธา นอกจากมีส่วนในการสร้างสรรค์วิถีชีวิต ความเชื่อ ขนบประเพณี และแนวคิดในหลักปรัชญาของศาสนานี้แล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดการรังสรรค์ศิลปกรรมเพื่อศาสนาที่งดงามและหลากหลาย ตกทอดมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันแสดงถึงภูมิปัญญาของประเทศไทยที่มีอารยธรรมสูงไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งถือได้ว่า “คุณค่าโดดเด่นเป็นสากล” โดยแท้

เกณฑ์ที่ใช้นำเสนอเป็นมรดกโลก

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้รับการอนุรักษ์และทำนุบำรุงมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรและจังหวัดนครศรีธรรมราชเล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของแหล่งมรดกวัฒนธรรมแหล่งนี้ จึงได้เสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกเพื่อขอบรรจุไว้ในบัญชีมรดกโลกเบื้องต้น (Tentative List) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ และยูเนสโกได้บรรจุในบัญชีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ ด้วยหลักเกณฑ์ข้อ ๒ ข้อ ๔ และข้อ ๖ แต่ละเกณฑ์มีรายละเอียดและเหตุผลดังนี้

เกณฑ์ข้อ ๒

การแสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนด้านคุณค่าของมนุษย์ตามเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยี ศิลปสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นสัญลักษณ์สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม หรือพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์จากภูมิภาคเอเชียใต้ (โดยเฉพาะจากประเทศศรีลังกา) มาสู่ดินแดนศรีวิชัย ตามพรลิงค์ และดินแดนคาบสมุทรมลายูซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามหายานอยู่แต่เดิม ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาสายนี้ คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและพระเจ้าจันทรภาณุผู้ปกครองตามพรลิงค์ ทรงรับและอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทตามแบบลังกา มาเป็นศาสนาประจำรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยใช้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นหลักในการเสริมส่งและบ่มเพาะวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงบนคาบสมุทรไทย

องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่ออกแบบบนพื้นฐานคุณค่าทางศิลปสถาปัตยกรรมจากดินแดนหลายภูมิภาคของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ส่วนฐานของเจดีย์ อันประกอบด้วยฐานเขียง วิหารทับเกษตร หัตถีปราการ (ช้างล้อม) เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา ศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ส่วนกลางของเจดีย์ อันประกอบด้วยองค์ระฆัง ฐานบัว เจดีย์ทิศ บัลลังก์ และบันไดทางขึ้น เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ ศิลปะลังกา และศิลปะศรีวิชัย ส่วนยอดของเจดีย์ อันประกอบด้วยเสาหาน พระเวียน (สาวกลีลา) ปล้องไฉน ปลียอด และพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา ศิลปะมอญ และศิลปะพม่า ในการนี้ช่างท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ได้บรรจงบูรณาการความงามของศิลปะเหล่านี้ลงในงานสถาปัตยกรรมสร้างเจดีย์ให้บังเกิดความงดงามกว่าต้นแบบดั้งเดิม

ขณะเดียวกันในการวางผังที่ตั้งและผังภูมิทัศน์ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ผู้สร้างได้เลือกพื้นที่บนหาดทรายชายทะเล ซึ่งเป็นที่ราบนอกเมือง ที่มีความยาวกว่า ๑๐ กิโลเมตร มีพืดเขาสูง (คือภูเขาหลวง) และลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ซึ่งคติของพราหมณ์หรือฮินดูถือเป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” เมื่อสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้น บริเวณนี้จึงกลายเป็นจุดเด่นและหมุดหมายให้ผู้คนที่สัญจรจากต่างชาติต่างถิ่นเข้ามาสักการะได้โดยสะดวกทั้งทางบกและทางเรือ

ผลการสร้างสถูปเจดีย์พระบรมธาตุองค์นี้ รวมทั้งการออกแบบภูมิทัศน์ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้ส่งให้เกิดการถ่ายแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ไปยังวัดอื่น ๆ ทั้งในภาคใต้และภาคเหนือตอนล่าง เช่น วัดเจดีย์งาม วัดจะทิ้งพระ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) วัดพังกก จังหวัดสงขลา วัดเขียนบางแก้ว วัดวัง จังหวัดพัทลุง วัด พระธาตุสวี จังหวัดชุมพร วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และวัดพระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ผลของการแลกเปลี่ยนและผสมผสานคุณค่าและวัฒนธรรมของผู้คนในแถบถิ่นนี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ได้ทำให้ปรัชญาของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้รับการขยายให้กว้างในดินแดนอื่น เช่น ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ จนเป็นผลให้ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้หันมารับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

เกณฑ์ข้อ ๔

เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร กลุ่มสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

สถาปัตยกรรมที่จัดว่าโดดเด่นที่สุดของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารคือ พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้น ด้วยความศรัทธาจึงทำให้เกิดการถ่ายแบบหรือจำลองแบบไปสร้างยังที่ต่าง ๆ จำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือเจดีย์ในวัดวาอารามหลายแห่งในภาคใต้ที่มีประวัติการสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เจดีย์บางองค์ในกรุงศรีอยุธยาที่อาจเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเจดีย์ ความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาในพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้า ฯ ให้จำลองพระบรมธาตุเจดีย์มาสร้างไว้ที่ด้านใต้ของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งยังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีภาพพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระปฐมเจดีย์ด้วย

การจำลองแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไปใช้ มิได้หมายความว่าต้องมีขนาดและรูปแบบที่เหมือนกับต้นแบบทุกประการ แต่ได้แสดงลักษณะเด่นของพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อนำไปถ่ายทอด แม้ว่าเจดีย์ที่จำลองหรือถ่ายแบบมาอาจมีรูปแบบที่แตกต่างบ้าง แต่องค์ประกอบหลักที่ต้องมีเสมอ คือฐานประทักษิณสูง มีช้างล้อม เป็นทรงกลมเน้นองค์ระฆังที่มีขนาดสูงใหญ่ การถ่ายแบบหรือจำลองแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไปสร้างยังที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างจากต้นแบบมากเพียงใด ย่อมสะท้อนถึงทัศนะของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมากเพียงนั้น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจึงเป็นตัวอย่างเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ในคาบสมุทรมลายู ซึ่งแสดงถึงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก

เกณฑ์ข้อ ๖

มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิดหรือความเชื่อต่องานศิลปกรรม และวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารยังเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของประชาชนในภาคใต้อย่างต่อเนื่องหลายศตวรรษ จากจารึกและเครื่องพุทธบูชาที่มีจำนวนมากทำให้เห็นว่าวัดพระพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับความศรัทธาและการใส่ใจจากผู้คนทุกชนชั้นในสังคม เห็นได้จากประเพณีที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณรายรอบพระบรมธาตุเจดีย์ เช่น การแห่ผ้าขึ้นธาตุในเดือนสามและเดือนหก การยกหมฺรับในเดือนสิบ และการลากพระในเดือนสิบเอ็ด ยิ่งกว่านั้นพระบรมธาตุเจดีย์ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโคลงกลอนและศิลปะการแสดงในภูมิภาคนี้มายาวนาน ทำให้พิจารณาว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีชีวิตยาวนานที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิธีกรรมในการสร้างบุญกุศลที่ถือว่าเป็นงานพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” หมายถึงการนำผ้าผืนยาวขึ้นไปพันห่มรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของทุกปี อาทิ วันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งในท้องถิ่น จากภูมิภาคอื่นของประเทศไทย และทั่วโลก ได้เดินทางเข้ามาสักการะพระบรมธาตุเจดีย์โดยการจัดขบวนนำผ้าพระบฏแต่ละผืนมาต่อเรียงกันอย่างยาวเหยียด เพื่อนำไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนจำนวนนับแสนคนเข้าร่วมพิธีทุกปี สะท้อนถึงความศรัทธาที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนที่สืบทอดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน

การใช้วัฒนธรรมการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นสื่อกลางรวมแรงศรัทธาของมหาชนเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา แทนการใช้อำนาจทางอาณาจักรของผู้ครองนคร น่าจะเป็นคำตอบที่ดีแก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีว่า เหตุใดภาคใต้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่รุ่งโรจน์มาหลายพุทธศตวรรษ จึงไม่มีศาสนาสถานที่มีขนาดโอฬาริก อย่างเช่นที่บุโรพุทโธ หรือนครวัด ทั้งนี้เพราะบรรดาเครื่องบูชาพระบรมธาตุที่เป็นสิ่งของสูงค่าและหลากหลายมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พฤติกรรมการปฏิบัติบูชาต่าง ๆ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันล้วนเกิดแด่ศรัทธาอันบริสุทธิ์ใจตามพลังมโนคติของแต่ละคน มิได้เกิดเพราะถูกบังคับกดขี่แต่อย่างใด จริงอยู่แม้ว่าการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มิได้จำเพาะแต่พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้เท่านั้น แต่ก็ไม่มีแห่งใดที่จะฝังลึกอยู่ในศรัทธาปสาทะของชาวพุทธได้เหนียวแน่นและพิสดารเท่าที่นี่ การแสดงออกทางความคิดเช่นนี้ เป็นการหลอมรวมสัญลักษณ์อันเป็นธรรมชาติของคนในพื้นที่ แรงบันดาลใจทางศาสนา และความสามารถในการบริหารจัดการของเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งก่อให้เกิดบรรทัดฐานหรือมาตรฐานในการรักษาและขยายศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางไปทั่วทุกพื้นที่ ทั้งในศตวรรษนี้และศตวรรษต่อ ๆ ไป

ด้วยความศรัทธาของมหาชนที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นประธานของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จึงทำให้เกิดการถ่ายแบบหรือจำลองไปสร้างยังที่อื่น ๆ จำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือเจดีย์ในวัดวาอารามหลายแห่งในภาคใต้ที่มีประวัติการสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สถาปัตยกรรมเจดีย์ในกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเจดีย์โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีช้างล้อม ความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชยังเป็นแรงจูงใจสำคัญให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้า ฯ ให้จำลองพระบรมธาตุเจดีย์มาสร้างไว้ที่ด้านใต้ของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งยังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งการปรากฏภาพพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระปฐมเจดีย์ด้วย

คำอธิบายปก “ขบวนผ้าสีเหลืองและผ้าพระบฏที่ผู้คนจำนวนหมื่นจำนวนแสนหลั่งไหลเข้ามายังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงย่ำค่ำในวันประกอบพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ภาพเช่นนี้มีให้เห็นเป็นประจำทุกปี ที่มา : https://www.google.co.th/search?q=แห่ผ้าขึ้นธาตุ+นครศรีธรรมราช+2559&biw=1366&bih

จากบทความ “ร้อยเรื่องเมืองนคร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ของ ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์” ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๙