ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ดำรงค์ หนูทอง
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วัดหรั่ง (วัดปะการัง) เป็นวัดที่มีโบราณสถานประเภทปะการัง ตั้งอยู่ในชุมชนโบราณ แต่เดิมเป็นวัดร้างมานาน ตั้งอยู่ที่บ้านถนนเหนือ หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ ๖ไร่ ๑ งาน ทิศใต้ห่างจากวัดบ่อโพง ๓๐๐ เมตร ทิศตะวันออกห่างจากวัดบ้านราม ๕ กิโลเมตร ทิศตะวันตกห่างจากวัดพระพุทธบาท ๔ กิโลเมตร วัดหรั่งอยู่ในเครือวัดกำแพงยาว บริเวณนี้มี ๖ วัดด้วยกันคือวัดบ่อโพง วัดเขาโป (ปู่) วัดเขาย่า วัดนางชี วัดกำแพงยาว และวัดหรั่ง

พระสุบิณ ญาติวิชโช เจ้าอาวาสวัดหรั่ง เล่าว่า ในตำนานกล่าวว่า วัดกำแพงยาวสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ สมัยพระเจ้าจันทภาณุศรีธรรมราช มีการพบ หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งเป็นโบราณสถานประเภทปะการังที่วัดกำแพงยาว บ่อโพง วัดเขาโป วัดเขาย่า และ วัดหรั่งโดยเฉพาะวัดหรั่งยังมี รูปสลักหินรูปคล้ายพญาครุฑ วานร และช้างปรากฏเป็นหลักฐาน

พระสุบิณ ญาติวิชโช เจ้าอาวาสวัดหรั่ง ผู้มาฟื้นฟูวัดหรั่งเล่าตำนานเกี่ยวกับวัดโบราณละแวกนี้ให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าจากเกาะสุมาตราได้บรรทุกเพชรนิลจินดา ถ้วนโถชาม โดยสารเรือสำเภามาสู่เมืองนครศรีธรรมราช มีคลื่นลมแรง พ่อค้าเหล่านั้นกลัวเรือจะอับปาง จึงได้แวะหาที่ปลอดภัย กล่าวกันว่าสมัยนั้นบริเวณด้านเหนือวัดบ่อโพง ยังเป็นผืนน้ำ เรือได้แวะมาจอดริมเขาด้านเหนือของวัด ปัจจุบันนี้ยังคงเรียกว่า “บ้านท้ายสำเภา”

เมื่อคลื่นลมสงบแล้วบรรดาพ่อค้าเหล่านั้นได้เดินทางต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมสร้างพระบรมธาตุ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางไปถึงได้มีการสร้างพระบรมธาตุเสร็จแล้ว พ่อค้าเหล่านั้นจึงได้เข้าเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเพื่อนำของมีค่าต่าง ๆ เข้าบรรจุในพระบรมธาตุ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมีพระราชดำรัสว่า ให้นำของเหล่านี้ไปสร้างวัดที่ใดที่หนึ่งตามที่เห็นสมควร และให้ก่อเจดีย์นำของมีค่าเหล่านั้นบรรจุไว้ พ่อค้าชาวเกาะสุมาตราและชวาจึงนึกถึงบริเวณที่ได้แวะพักตอนที่ถูกคลื่นลมแรง จึงเดินทางกลับมาตามเส้นทางเดิม และหาที่สร้างวัดบนเขาสูง ๕ เส้น ยาว ๒๐ เส้น ได้ก่อสร้างเจดีย์ด้วยอิฐถือปูนทรงลังกาแบบเดียวกับพระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราช มีความสูงประมาณ ๑๕ เมตร ฐานกว้างประมาณด้านละ ๘ เมตร ได้บรรจุของมีค่าไว้ภายในและตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดกำแพงยาว” ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

สภาพของวัดกำแพงยาวนั้นสร้างบนเนินเขา และลดหลั่นลงมาเป็นขั้น ๆ เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตและกลายเป็นวัดร้างมานาน มีซากเจดีย์เก่าด้วยอิฐสูงประมาณ ๑๐ เมตรตั้งอยู่บนเขาเป็นรูปทรงลังกา สันนิษฐานว่าคงสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันนี้ยังคงมีก้อนหินที่ก่อกำแพงมีความยาวมากและมีซากเจดีย์ที่หักพังไปตามกาลเวลาปกคลุมด้วยป่าไม้อยู่ทางทิศเหนือของวัดบ่อโพง

วัดเขาโป วัดเขาย่า วัดนางชี ยังคงเหลือแต่ซากปรักหักพังพบเห็นร่องรอยการขุดค้นสมบัติ ตามแนวเนินเขาปกคลุมด้วยต้นไม้ ส่วนวัดหรั่งยังมีหลักฐานประติมากรรมรูปสิงห์ รูปสัตว์ปรากฏให้เห็น

“ที่วัดหรั่งบริเวณนี้เป็นชุมชนโบราณมีบ่อน้ำใสสะอาดไม่เคยขาดชาวบ้านทุกตำบลมาเอาน้ำจากบ่อที่วัดหรั่งใช้อุปโภคบริโภควัดหรั่งมีบ่อน้ำจืดที่ใสสะอาดมากเล่ากันว่าหมาตักน้ำ (หมาจาก) ตกลงไปในบ่อน้ำที่วัดหรั่งลอยไปโผล่ที่วัดบ่อโพง ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ่อโพงมาถึงทุกวันนี้” ท่านเจ้าอาวาสอธิบาย

แหล่งโบราณคดีที่วัดหรั่ง ซึ่งเป็นโบราณสถานประเภทปะการังที่มีการค้นพบในอดีต ซึ่งมีการสร้างประติมากรรมหลากหลายชนิดด้วยปะการัง วัดหรั่งจึงเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้สืบต่อไป

การเดินทางไปวัดหรั่ง จากทางหลวงสายนครศรีธรรมราชสงขลา ถึงตลาดดอนแคไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร ถึงวัดหรั่งซึ่งห่างจากวัดบ่อโพงประมาณ ๓๐๐ เมตร

ข้อมูลจำเพาะ แหล่งโบราณคดีที่พบโบราณสถานประเภท “ปะการัง” ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
แหล่งโบราณที่ปรากฏการใช้ปะการังในการก่อสร้างและนำมาตกแต่งเป็นโบราณวัตถุต่าง ๆ

๑. วัดกำแพงยาว ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีนี้ พบปะการังที่ตัดเป็นก้อนเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างร่วมกับอิฐและหิน นอกจากนี้ก็ยังพบโบราณวัตถุที่ทำด้วยปะการัง ดังนี้
๑.๑ ฐานเสา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๒ ซม. หนา ๒๐ ซม. มีรูรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง
๑๒ ซม. ยาว ๒๒ ซม. อยู่ตรงกลาง
๑.๒ ชิ้นส่วนประติมากรรมไม่ทราบรูปแน่ชัด มีความกว้าง ๒๔ ซม. ยาว ๑๒ ซม. หนา ๑๑ ซม. (หน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช : ๒๕๒๖)

๒. วัดเขาโป (ปู่ ) ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีนี้ พบโบราณสถานลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมสร้างด้วยปะการัง โดยมีอิฐและหินเป็นองค์ประกอบในการก่อสร้างด้วยทางด้านล่างของโบราณสถานซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขา มีกำแพงที่สร้างด้วยปะการังล้อมรอบนอกจากนี้ยังพบวัตถุโบราณที่ทำด้วยปะการังคือ
๒.๑ ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ เช่น ส่วนของปล้องไฉน ฐานเสา
๒.๒ กำไลปะการัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๒.๓ ซม. หนา ๒ ซม.
๒.๓ ประติมากรรมรูปสัตว์ ทำเป็นรูปเต่า ๒ ชิ้น ชิ้นแรกขนาดกว้าง ๑๘ ซม. ยาว ๒๑ ซม. ตรงกลางมีการเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๖ ซม. ส่วนชิ้นที่๒ ทำเป็นรูปหัวเต่าสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๑๑ ซม. ยาว ๒๐ ซม. ตรงกลางเจาะรูรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๗ ซม. บริเวณที่เจาะรูตรงกลางนั้นจากการสัมภาษณ์ผู้ที่ขุดได้ พบว่ามีพระขนาดเล็กอยู่ภายใน (หน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช ๒๕๒๖)

๓. วัดบ่อโพง ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านหลังของวัดบ่อโพงซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ได้พบประติมากรรมทำจากปะการังแกะสลักเป็นเศียรพระพุทธรูปที่มีปูนขาวโบกทับอยู่ และเสมาปะการังที่คงเหลือเฉพาะส่วนฐานวางอยู่รอบ

๔. วัดหรั่ง (วัดปะการัง) อยู่ห่างออกไปจากวัดบ่อโพงประมาณ ๓๐๐ เมตร แหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุที่ทำจากปะการังดังนี้
๔.๑ ประติมากรรมรูปสิงห์อยู่ในลักษณะกึ่งยืน แต่ลักษณะของลวดลายลบเลือนชำรุดมากจนไม่สามารถศึกษาได้อย่างแน่ชัด
๔.๒ ประติมากรรมรูปสัตว์ลักษณะคล้ายช้าง อยู่ในอาการนั่ง บนส่วนหัวทำเป็นรูปคล้ายนาค สภาพลบเลือนและชำรุดมาก

(คำอธิบายภาพปก รูปสลักหินปะการัง พบที่วัดหรั่ง ตำบลบ้านราม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ่ายโดย ปวันรัตน์ สุขศรีแก้ว ในสารนครศรีธรรมราช)

จากบทความ “แหล่งโบราณคดีที่วัดหรั่ง อำเภอหัวไทร” ของดำรงค์ หนูทอง ในสารนครศรีธรรมราช