ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : บุญเสริม แก้วพรหม
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช
ได้ปรากฏลายแทงบทหนึ่งว่า

“ตั้งดินตั้งฟ้า
ตั้งหญ้าเข็ดมอน
โมคลานตั้งก่อน
เมืองคอนตั้งหลัง
ข้างหน้าพระยัง
ข้างหลังโพธิ์มี
เจ็ดเจดีย์เก้าทวาร
สี่เลนจตุบาท”

โมคลานเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุนับพันปีมาแล้ว เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ ตั้งแต่สมัยพราหมณ์รุ่งเรืองในดินแดนคาบสมุทรไทยแห่งนี้

ปัจจุบันโมคลานเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าศาลา

อดีตแห่งการสร้างบ้านแปงเมือง

ดินแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ พลเมืองเป็นคนไทย เผ่าไทย ปรากฏประวัติตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า

สมัยเมื่อพระเจ้าศรีมหาราชาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จะทำการซ่อมแซมพระบรมธาตุได้ส่งคนมาทำนาที่ทุ่งกะโดน (ในตำบลท่าศาลาปัจจุบัน) ทุ่งหนองไผ่ (ในตำบลท่าขึ้นปัจจุบัน) ทำนารักษาพระที่วัดพนังตรา (วัดนางตราปัจจุบัน) และให้คนเข้าไปอยู่ที่บ้านกรุงชิง (ตำบลนบพิตำ) เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนแห่งนี้

ในปี พ.ศ. ๑๙๒๘ สมเด็จพระราเมศวร เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วกวาดต้อนครัวเรือนชาวเหนือมาไว้ที่นครศรีธรรมราช และเมืองอื่น ๆ ทางปักษ์ใต้ เหตุการณ์ครั้งนั้นสันนิษฐานว่าเมื่อเดินทางผ่านท่าศาลา ต้องมีคนส่วนหนึ่งตกค้างอยู่ในท้องที่นี้ เพราะมีภาษาพูดบางคำคล้ายคลึงกัน เช่น ‘ตอโพรก’ ในภาษาถิ่นใต้ตรงกับ ‘วันพรูก’ ในภาษาถิ่นเหนือ หรือ ‘พรุ่งนี้’ ในภาษาไทยกลาง

ในปีพ.ศ. ๒๒๒๗ นครศรีธรรมราชเกิดแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา เพราะไม่ยอมรับว่าพระเพทราชาเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องซึ่งสืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพมาปราบเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ล้อมเมืองอยู่ ๓ ปี จึงยึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ ผลของการสงครามครั้งนั้น ข้าราชการคนสำคัญของนครศรีธรรมราช
ได้อพยพผู้คนหลบหนีเข้ามาในพื้นที่อำเภอท่าศาลาปัจจุบัน คือไปตั้งอยู่ที่บ้านกรุงชิง บ้านจันพอ และบ้านโรงเหล็ก

สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏการตั้งบ้านเมืองโดยมีนายที่ปกครองหลายตำบล คือ ที่ไทยบุรี นายที่ชื่อ ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา ๑๒๐๐ ไร่ ที่นบพิตำ นายที่ชื่อ ขุนเดชธานี ที่กลายนายที่ชื่อขุนพิชัยธานีศรีสงคราม ที่ร่อนกะหรอ นายที่ชื่อ ขุนไชยบุร และที่วัดโมคลาน นายที่ชื่อขุนทัณฑ์ธานี

สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ได้ยกกองทัพมาปราบก๊กเจ้านคร (หนู) ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ในครั้งนั้น ผู้คนที่อยู่แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีปัจจุบัน คนในอำเภอฉวางปัจจุบัน รวมทั้งคนในเมืองนครศรีธรรมราช ได้อพยพหนีสงครามเข้าไปอยู่ในแถบตำบลนบพิตำ และกรุงชิง อำเภอท่าศาลาปัจจุบันด้วย

ในสมัยสงครามเก้าทัพ พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกทัพมาตีนครศรีธรรมราช โดยเดินทัพข้ามเขาหลวงเข้าเขตอำเภอท่าศาลาที่บ้านปากลง เจ้าเมืองนคร (พัด) ได้วางแผนตั้งรับทัพพม่าในเขตอำเภอท่าศาลาเป็นระยะ ๆ สนามรบที่สำคัญคือ บ้านชุมโลง (ในตำบลสระแก้วปัจจุบัน) บ้านป่าโหลน (ในตำบลท่าขึ้นปัจจุบัน) บ้านหัวพ่าน (ตำบลหัวตะพานปัจจุบัน) บ้านหน้าทับและบ้านปากพยิงปัจจุบัน

เมื่อครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองไทรบุรีเป็นขบถแข็งเมืองเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ยกทัพไปปราบ ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกทัพไปร่วมรบด้วย และได้กวาดต้อนผู้คนส่วนหนึ่งมายังอำเภอท่าศาลาปัจจุบันด้วย

และในสมัยรัชกาลที่ ๒ นี้ ชาวบ้านจากหลายท้องที่ได้อพยพหลบหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ‘หนีสัก’ เข้าไปหลบซ่อนตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกรุงชิงปัจจุบัน

การปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ส่วน คือ การปกครองในตัวเมือง และการปกครองท้องที่ ซึ่งในส่วนการปกครองท้องที่นั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น เมือง อำเภอ ตำบล แขวง และด่าน

การปกครองเมืองสมัยนั้น แบ่งออกเป็น ๑๐ เมือง เมืองไทยบุรีเป็นเมืองหนึ่งใน ๑๐ เมืองนั้น มีออกหลวงไทยบุรีศรีสงคราม ถือศักดินา ๑๒๐๐ ไร่ เป็นผู้ปกครอง โดยมีขุนราชบุรี ศักดินา ๔๐๐ ไร่ เป็นผู้ช่วย

ส่วนการปกครองอำเภอนั้น แบ่งเป็น ๑๐ อำเภอ มีอำเภอกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ปกครองโดย ขุนพิชัยธานีศรีสงคราม ศักดินา ๖๐๐ ไร่

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑล รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๑) นครศรีธรรมราชได้แบ่งเขตการปกครองเป็น ๙ อำเภอ อำเภอกลายเป็นอำเภอหนึ่งในการปกครองของนครศรีธรรมราช โดยมีนายเจริญ เป็นนายอำเภอคนแรก จนถึงพ.ศ. ๒๔๕๙ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลาย มาเป็นอำเภอท่าศาลาจนปัจจุบัน

สำหรับที่ตั้งอำเภอนั้น เริ่มตั้งที่ชายทะเลปากน้ำท่าสูง (บริเวณบ้านโรงภาษีปัจจุบัน) แล้วย้ายมาตั้งที่วัดเตาหม้อ (วัดชลธารามปัจจุบัน) และครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งในตลาดท่าศาลาปัจจุบันในที่สุด แต่จากคำบอกเล่าบางกระแสยืนยันว่า ที่ตั้งอำเภอกลายครั้งแรกอยู่ที่บ้านเนินโสภาปากน้ำกลายในตำบลกลายปัจจุบัน

(คำอธิบายภาพปก ภาพท่าศาลาจากมุมสูง โดยนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และ อุทัย แกล้วกล้า จากหนังสือสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗)

บทความจาก “ท่าศาลา จากเมืองโบราณ สู่เมืองมหาวิทยาลัย” ของบุญเสริม แก้วพรหม ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗