ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ชาลี ศิลปรัศมี
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

‘ท่อม’ กับวิถีชีวิตคนใต้
ใครสอนให้เอ็งเรียก ‘กระท่อม’ หาไอ้ทิด ??

หลังจากวันนี้มีข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎร โหวตผ่านร่างกฎหมาย ปลดล็อคพืช ‘กระท่อม’ ให้พ้นจากสถานะของการเป็นยาเสพติด แอดมินขอนำเสนอบทความที่เขียนขึ้นก่อนที่จะมีการดำเนินการดังกล่าว ของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เคยพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือสารนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งหยิบเอาคำในบทความซึ่งฟังดูแล้วอาจจะฉวัดเฉวียนนี้ มาตั้งเป็นชื่อเรื่องข้างต้น ลองอ่านกันดูครับ

ประเด็นแรกมติชนพาดหัวข่าวว่า “ชาวใต้ฮึ่มทวงสิทธิ์เคี้ยวกระท่อม” กระท่อม –hut – ทั้งหลังคนปักษ์ใต้เอาเข้าปากเคี้ยวอย่างสบายใจ กระท่อมคือที่อยู่อาศัย คนภาคกลางว่า คนปักษ์ใต้เอาไปเคี้ยวเล่น แค่ใช้คำคนภาคกลางก็ผิดแล้ว

ใครสอนให้เอ็งเรียกกระท่อม ?? หาไอ้ทิด

ชาวกรุงออกเสียงคำเดียวไม่ได้

จากสาเหตุที่ปุ่มเหงือกและฐานเสียงในปากของคนภาคกลางผิดกับชาวภาคใต้ที่มีปรัชญาความเชื่อภูมิปัญญาหนักแน่นกว้างไกลมาจากความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนคนภาคอื่นและจังหวัดอื่นในประเทศไทย คนปักษ์ใต้จึงมีภาษาเป็นของตนเองเป็นระบบภาษาคำโดดเรียกว่า ภาษาศรีวิชัย (ไชยา ชวา นครศรีธรรมราช) เช่น ท่อม ท้อน ดี หนาน ทะ บอก หลาด ตอ คนกรุงเทพออกเสียงลูก – โดด – ไม่เป็นไม่ได้จึงต้องใส่อุปสรรคนำหน้าคำเดิมเป็น กระท่อม กระท้อน กระดี่ ขนาน กระทะ กระบอก สลาด – ตลาด สะตอ

คนปักษ์ใต้ไม่ได้เรียกผิด เพราะเป็นภาษาคำโดด ภาษาศรีวิชัย

แต่กลับถูกคนกรุงเทพกล่าวหา ว่าผิด อะไรวะ พี่น้อง !!

ยิ่งกว่านั้นหากไม่มีโอกาสใส่ “กระ” หรือ “สะ” กลับไปตั้งชื่อใหม่ แล้วกล่าวหาว่าคนปักษ์ใต้เรียกผิด ชัดเลย ว่าคนภาคกลางชอบหาเรื่องเพื่อน ?? เช่นคำว่า เหล็กขูด คนกรุงเทพเรียกว่า กระต่าย มันเป็นกระต่ายตรงไหน มาถึงตรงนี้ขออนุญาตเล่าเรื่องอิทธิฤทธิ์ของเหล็กขูดสักหน่อย เหตุเกิดที่วัดโบราณที่สุดของเมืองนคร คือ วัดบูรณาราม หรือวัดโบราณารามแถวท่าวัง ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ครูสอนนักเรียนบนศาลาวัด ครูผู้ชายประมาณ ๕๐ ปีเศษใช้ให้เด็กชายคนหนึ่งไปเอาเหล็กขูดที่โรงครัวมาให้เพราะใกล้เที่ยงแล้ว ครูจะขูดมะพร้าวซาวข้าวซึ่งเป็นอาหารปกติแบบพื้นบ้าน ที่ไม่มีอะไรกินแล้วต้องกินเช่นนั้น เด็กตอบว่า “หากครูไม่อยากไป ก็ลองเรียกมันมาหาซิ”

“เอาอย่างนั้นหรือ” ครูตอบ แล้วนักเรียนก็เรียนกันตามปกติต่อไปสักพัก แต่ครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ฉับพลันนั้นนักเรียนทั้งหมดก็ส่งเสียงดังขึ้นพร้อมกัน วิ่งพรูออกมาจากที่เรียนนับร้อย เพราะ…………………..

เหล็กขูด ๔ – ๕ ตัวมันกำลังเดินจากโรงครัวของวัดผ่านพื้นทรายอันร้อนระอุมาหาครูที่แอบยืนอยู่ข้างประตู !!

ครูสมัยก่อนเขาเป็นครูจริง – จริง แม่แต่เหล็กขูดก็เดินทางมาสมัครเป็นศิษย์

จบข่าว.

หรือชาวกรุงเทพเห็นเหล็กขูดเดินได้ จึงเรียกเหล็กขูดว่า กระต่าย เพราะท่าทางคล้ายกระต่ายเวลามันเดินนี่คือ สาเหตุ!!

เอ้าแล้วกัน แล้วดันด่าคนกรุงเทพอยู่ตั้งนาน ??

ดังนั้น คำว่า “ท่อม” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดหนึ่งประจำภาคใต้กลับกลายคำเป็น กระท่อม อย่างน่าตกใจและสยดสยอง เมื่อไปใช้ในประโยคที่ว่าชาวใต้ฮึ่มทวงสิทธิ์เคี้ยว “กระท่อม”

ผู้เขียนในฐานะเทือกเขาเหล่ากอชาวปักษ์ใต้โดยตรง มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เหลนเจ้ากรมช้างกลางที่ยังเหลืออยู่ขอตอบแทนประชาชนปักษ์ใต้ทุกคนว่า คนใต้ไม่ใช่ยักษ์ที่ปากกว้างจนเคี้ยวกระท่อมทั้งหลัง เอ้อ เหนื่อยพูดกับคนต่างเผ่าพันธุ์ต่างภาษาแล้วไม่รู้เรื่องพูดยาก

ใครเคี้ยวกระท่อม !!

ความไม่ยอมรับภาษาของเขา

คนกรุงเทพเอาภาษาของเขาแต่กลับไม่ใช้โดยตรงกลับเอาไปปรุงแต่งให้เหมาะสมกับลิ้นการออกเสียงของตน ทำให้ภาษาศาสตร์สับสนจากภาษาเดิม แม้จะดีที่เกิดภาษาใหม่คำใหม่ แต่ข้อเสียคำเหล่านั้นเพี้ยนไปจากเดิมคำเสียง และความหมายของคำ เช่น

ปลาแดก ของชาวอิสารแดกแปลว่า ดอง หมายถึง ปลาดองเกลือจนเปื่อยแรมปีแล้วเอามากินทั้งน้ำทั้งเนื้อประกอบอาหารตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการใช้ใส่เป็นผงชูรสตัวนำขอตำบักหุ่ง– ตำมะละกอใส่ดีปลี – พริก หัวเทียม ส้มมะนาว มะละกอสับเป็นเส้นกินกับข้าวเหนียวนึ่งซึ่งเป็นอาหารประจำมื้อของภาคอิสาณ

แล้วคนกรุงเทพก็ทำหน้าที่เป็นฤาษีแปลงสาร เอาคำใหม่และความหมายใหม่ที่เพื้ยนอย่างสับสนไปเป็น

ปลาร้า ตำบักหุ่งก็เป็นส้มตำ

ความหมายของปลาร้า หมายถึงปลาดุก ปลาบอก หมักเกลือ บ่มน้ำตาลไว้เกือบเดือนแล้วมาตากแดดจนแห้งหรืออบเป็น ปลาร้า เวลากินใช้ทอด ปิ้งหรือทำให้สุกโดยใช้ไฟ เห็นไหมว่า ปลาร้า ของคนกรุงเทพต่างกับปลาร้าของคนปักษ์ใต้และปลาแดกของชาวอิสาณ แต่หากชาวกรุงเทพเรียกอย่างใด คนภาคอื่นที่วัฒนธรรมอ่อนด้อยกว่ามีอำนาจทางการเมืองการปกครองน้อยกว่า เพราะถูกกรุงเทพปกครองก็ต้องยอมตามทั้งๆที่ไม่ใช่

ลองให้ชาวกรุงเทพเคี้ยว “กระท่อม” ให้ดูสิ !!

ใบท่อมยาเสพติดกับความอิสระทางจิตใจ

ใบท่อมมีหลากหลายชนิดทั้งใบเล็ก กลาง ใหญ่ เหมือน SME ที่ทักษิณตั้งไว้ ใบท่อมเป็นสมุนไพรหรือพืชเป็นยากินแก้หวัด กินให้มีแรงอึดในการทำงานตรากตรำทนแดดตากฝน เช่น ทำหัวนา แลควาย แลวัว ไม่หิวข้าว ไม่เหนื่อยง่าย ไม่เพลีย หลับช้า คนปักษ์ใต้ใช้กินมานานนับพันปีตั้งแต่มีท่อม บางครั้งก็ใช้ห้ามเลือดเช่น จอบบาด มีดบาด คันไถเฉียดเฉี่ยวแผลไม่ใหญ่ก็คายท่อมที่กำลังเคี้ยวอยู่ปนน้ำลายเหนี่ยวๆปิดปากแผลเอาไว้ ฉีกชายผ้าถุงหรือผ้าขาวม้ารัดไว้ห้ามเลือดก็หยุดเห็นไหมว่า มากประโยชน์ “อเนกประสงค์” หรือแมลงสัตว์กัดต่อย งูกัด ก็พ่นใบท่อมที่เคี้ยวอยู่ในปากใส่แผลหรือพ่นใส่หน้าเพื่อนที่ไม่ชอบขี้หน้าในวงเหล้า ว่าเข้านั่นรัฐบาลมักจะมีผู้มากรู้มากเรื่อง จึงกำหนดให้ใบท่อมเป็นยาเสพติด เพราะนักกฎหมายการเมืองมักเอาผลประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์เหมือนกับกัญชา และยาฉีดหญ้าให้ตายเมื่อโลกเปลี่ยนไป ความคิดก็เปลี่ยนไปด้วย กัญชาของผิดกฎหมายก็กลายเป็น “ยา” สาธารณะ ต่อไปทั้งท่อมและ ยาบ้า (ม้า) คงจะเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายเข้าสักวันเพราะการมีชีวิตอยู่ของสังคมจะต้องมีตัวเลือกๆ มากๆ

ความไม่เข้าใจไม่ยอมรับพื้นถิ่นคือปัญหาความขัดแย้ง
“กรุงเทพคือประเทศไทย” ส่วนมากเรามี ความคิดเช่นนี้กรุงเทพฯระดับกระทรวงจะมองจังหวัดคือ ตัวแทนของชุมชนภูมิภาคสั่งอะไรก็สั่งมาที่จังหวัด แต่ตัวแทนของจังหวัดกลับเป็นตัวแทนของกระทรวง ไม่มีอำนาจสิทธิขาดในการแก้ปัญหาแบบผู้ว่า CEO ในสมัยทักษิณที่แก้ปัญหาได้ทุกประเด็นปัญหา ก็ถูกถอนอำนาจคืนไปส่วนกลางในความเป็นจริงประชาชนยังถูกทอดทิ้ง กล่าวกันว่าตำรวจเจอใครพกใบท่อม ๑ ใบ ถูกปรับ ๕๐๐ บาทเท่ากับขับมอเตอร์ไซค์ แล้วไม่สวมหมวกกันน็อค แทนที่จะสร้างวินัยจราจรให้ประชาชนถามประชาชนดูสิเขาพอใจไหมปรับแค่ ๒๐๐ บาท ก็พอเพราะยาง ๓ กิโลร้อย

ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่อธิบายได้และปฏิบัติไม่ได้ของผู้รับผิดชอบงานต่อประชาชน ไม่ว่า ตำรวจ ครู ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล ต่อบทบาท อำนาจ หน้าที่ที่กระทำทุกวันยังทำกันแบบระบบราชการ One way ประชาชนรู้สึกว่าถูกปกครอง ประชาชน ยังไม่รู้สึกว่า มีใครฟังความรู้สึกของประชาชน เช่น องค์การท้องถิ่น กระจายเสียงปาวๆ ให้ประชาชนฟังทุกวัน แต่ไม่เคยมีประชาชนไปพูดเสียงตามสายให้หน่วยงานราชการฟังบ้างว่า ตนเดือดร้อนอย่างไร

ต้นท่อมอายุ ๕๐ ปี ๑๐๐ ปี ในบ้านในสวน วันดีคืนดีทหารหรือ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ไปตัดฟันของเขาโดยอ้างว่า ผิดกฎหมายใครผู้ออกกฎหมายก็ออกเพื่อบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น ทำไมไม่ถามประชาชนก็เหมือนกับวันดีคืนดีนักวิชาการก็ไปแยกวัดกับโรงเรียนออกจากกันเลยฉิบหายกันทั่วประเทศ หรือวันดีคืนไม่ดีก็ไปห้ามเด็กเรียนหนังสือในปอเนาะ ไม่ให้เรียนภาษายาวี โดยนักวิชาการไม่รู้ว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามถูกสอนว่า ในชีวิตหนึ่งต้องอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านให้ออก หากอ่านไม่ออกถือว่าเป็นบาป ดังนั้นการเรียนภาษาอาหรับในปอเนาะหลังเลิกเรียนจึงเป็นข้อต้องปฏิบัติทางศาสนา

การสอนศาสนาเปรียบเทียบต้องสอนกับคนไทยทุกคน และถือว่าเป็นวิชาบังคับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะประเทศไทยมีหลายศาสนา ผู้คนในแต่ละศาสนาต้องล่วงรู้ความคิดความเชื่อของผู้คนที่ต่างศาสนาจากเราแต่ต้องเคารพความเป็นชาติไทยร่วมกัน กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ มีหลักสูตรศาสนาเปรียบเทียบสอนให้คนในสังกัดของคุณบ้างหรือเปล่าจ๊ะ จะได้รู้เท่าทันกันกับคนอื่น

เหมือนกับชาวกรุงเทพฯ ส่วนมากที่คิดว่า ภาษาของตนเองถูกต้องคนปักษ์ใต้ผิดที่พูดคำโดด โดยไม่เคยรู้มาก่อนว่า ภาษาปักษ์ใต้เป็นภาษาคำโดด ภาษาคำเดียวเพราะปักษ์ใต้มีหลายเผ่าพันธุ์อย่างมีศักดิ์ศรีมาก่อนเมื่อตกลงกันได้ว่า คำนี้คำเดียวดีที่สุดและทุกเผ่าพันธุ์เข้าใจตรงกันเลยตกลงใช้คำนั้นคำเดียว !! โดยไม่ต้องมีอุปสรรคและปัจจัยของบริบทคำมาเสริมเติมแต่งให้รกรุงรัง ดังภาษาภาคกลาง
ดังนั้น ใบท่อม จึงไม่ใช้ใบพืชกระท่อมที่ นสพ.ภาคกลางใช้ คราวนี้ก็มาถึงเรื่องน่าขำ อำเภอคลองท่อมในจังหวัดกระบี่ เมื่อไรคนกรุงเทพฯจะไปเปลี่ยนให้ใช้ชื่อใหม่ว่า อำเภอคลองกระท่อมจ๊ะ พี่จะรอดูฝีมือ ฮา.

เวลาย่ำค่ำวันหนึ่งของปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เด็กชายวัยรุ่น ม.๒ สวมเสื้อยืดสีขาวแจ๊คเก็ตดำ สวมกางเกงยีนส์ “พรืด พรืด” ผ่านหน้าตำรวจจราจรมาด้วย ฮาร์เลย์ เดวิดสันสีดำ มะเมื่อมความเร็วเพิ่งเริ่มต้น ผู้เขียนโบกมือให้หยุด แกหยุดทันทีด้วยมาดเท่ ผู้เขียนถามว่า

“เมื่อตะกี้ตำรวจเรียกให้เธอหยุดทำไมไม่หยุด” แกตอบว่า

“ผมมีสิทธิ์ไม่ตอบ” แล้วผมก็มองเห็นว่า แกหัวเราะ ระดับเสียงหัวเราะตัวโน๊ตเดียวกันกับผม – ผู้เขียน

“แล้วครูเรียกให้หยุด ทำไมจึงหยุดทันที” คำตอบของแกทำให้ผมตกใจ เพราะแสดงว่า แกเป็นเด็กฉลาดจริงๆ แกตอบว่า

“การที่ผมหยุด ก็คือคำตอบว่า ทำไมผมต้องหยุดเมื่อครูเรียก” ผู้เขียนเข้าไปตบอกเสื้อยืดที่ป่องออกมาเล็กน้อยแล้วถามว่า

“เท่าไร” หมายถึง จำนวนของใบท่อม ว่ากี่กำ? แต่แกกลับตอบว่า

“๓๐๐ บาทถ้วน”

๑๐ ใบเท่ากับ ๑ แบะ ๕ แบะ เท่ากับ ๑ กำคิดแบบพลู

“รีบไปรีบมา อย่าหยุดให้ใครกลางทางเด็ดขาด มั่นใจเต็มร้อยนะ แล้วอย่ากลับทางเดิม” ผู้เขียนยังพูดไม่ทันจบดี แกยิ้มกว้างขวาง ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ดูเหมือนว่า จะทะยานออกจากที่ก่อนส่งเสียงคำรามอย่างน่ากลัว

บทความนี้ไม่ได้เป็นบทความแห่งคุณธรรม แต่เป็นบทความภาพฉายขึ้นจอหนังซีนีมาสโคปให้ผู้อ่านรู้และเห็นว่า ในฐานะผม – ผู้เขียน ผู้ฉายหนังต้องฉายทุกภาพที่อยู่ในฟิล์มให้ผู้ชมได้ดูและเดินทางกลับบ้านด้วยความคิดคำนึงหลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้ว.

ใบท่อม – พืชสมุนไพร ต้นไม้ชนิดหนึ่งของพงไพร แห่งภูผาหลวง !!

ขอบพระคุณภาพจาก https://www.sanook.com/home/27717/