ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

เจดีย์ที่หายไปของวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช … หายไปได้อย่างไร ? และ หายไปตอนไหน ?

พระวิหารหลวง อุโบสถ์ของวัดพระบรมธาตุนครสร้างครอบสิ่งใด เป็นเหตุแห่งที่มาของการสร้างพระประธานไว้กลางโบสถ์หรือไม่ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

พระวิหารหลวง แห่งวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอาคารทางศาสนสถานที่สำคัญของบ้านเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่ครั้งโบราณ อย่างน้อยในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นต้น ซึ่งพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ได้อยู่ในความทรงจำของผู้คนมาอย่างยาวนาน ในฐานะพระอุโบสถสำหรับอุปสมบทกุลบุตรชาวเมืองพระ และในฐานะพุทธสถาน สำหรับประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมือง

จากการค้นคว้าเอกสารโบราณ ชื่อ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และนำมาเรียบเรียงในหนังสือ “ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรม ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้ ” โดย อาจารย์เกรียงไกร เกิดศิริ ได้มีการระบุถึง “ พระเจดีย์ ” ที่เคยมีอยู่ใน “ พระวิหารหลวง ” ของวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ดังนี้

“พรมหาธาตุนั้นด้วยแล้ว ศรีมหาราชาสร้างพรวิหารฝายทักสินาพรมหาธาตุ เปนมรฎบล้อมแลก่อพรเจดีย์ ในพรวิหารลง….วาปิดท้องมาถึงอาศน แล้วกอพรพุทธรูปเปนดั้บสีด้าน ด้านลแปดพรองค์ เข้ากันเปน พรสามสิบสองพรองค์ พระพุทธปทานสีด้านๆ ละองค์เข้าเปนสามสิบหกพรองค์ จึงศรีมหาราชาสร้างนาญกส้วยไว้สำรับพรวิหาร ๆ นั้นชื่อพรวิหารหลวง ”

( พระมหาธาตุนั้นด้วยแล้ว ศรีมหาราชาสร้างพระวิหารฝ่ายทักษิณาพระมหาธาตุ เป็นมณฑปล้อม แลก่อพระเจดีย์ในพระวิหารลง……..วา ปิดทองมาถึงอาสน์ แล้วก่อพระพุทธรูปเป็นลำดับสี่ด้าน ด้านละแปดพระองค์ ( รวม ) เข้ากันเป็นสามสิบสองพระองค์ พระพุทธรูปประธานสี่ด้าน ด้านละองค์ ( รวม ) เข้าเป็นสามสิบหกพระองค์ จึงศรีมหาราชสร้าง นาญกส้วย ( นายกส่วย? )ไว้สำหรับพระวิหาร พระวิหารนั้นชื่อพระวิหารหลวง ( ผู้เขียนแปลงจากคำโบราณมาเป็นคำในยุคปัจจุบัน ) )

จากข้อความดังกล่าว ยังพอบ่งบอกร่องรอยเบาะแส การก่อพระเจดีย์ในพระวิหารหลวง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่เหลือร่องรอยเห็นแล้วก็ตาม และจาก การสืบอายุการสร้างพระวิหารหลวง ปี พ.ศ. ๒๑๗๑ สันนิษฐานว่า พระวิหารหลวง คงจะเริ่มสร้างในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ( พ.ศ. ๒๑๕๕ – ๒๑๗๑ ) ได้มีการสร้างวิหารยอดมณฑปครอบพระเจดีย์ ในตำแหน่งที่เป็นพระวิหารหลวงในปัจจุบัน มาแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระเจ้าเชษฐาธิราช ( พ.ศ.๒๑๗๑ – ๒๑๗๓ ) ในยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงอยุธยาตอนกลาง “ พระวิหารหลวงในปัจจุบัน ” ยังคงมีพระเจดีย์เป็นประธานของวิหารที่เป็นทรงมณฑป ซึ่งพระเจดีย์องค์ประธานนั้น รายล้อมด้วยพระปฎิมาองค์ประธานด้านล่ะ ๑ องค์ และ พระปฎิมาองค์บริวารด้านละ ๘ องค์ รวมเป็น ๓๖ องค์ การสร้างพระเจดีย์กับพระปฎิมาที่มีอาคารครอบในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการสร้างพุทธสถานจากลังกา เรียกกันว่า “ ถูปาฆาระ ” หรือในภาษาลังกาว่า “ วฎะทาเค ” มีตัวอย่างให้เห็นที่ เจดีย์ถูปาราม เมืองอนุราธะปุระ ที่ วิหารวฎะทาเค เมืองโปโลนนารุวะ และที่ ถ้ำดัมบุลลา ( วัดราชมหาวิหาร ) เมืองดัมบุลลา ประเทศศรีลังกา สันนิษฐานว่า ในยุคของเจ้าศรีมหาราชา มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ได้นำเอาแผนผังการสร้างพุทธสถานอย่างลังกา เข้ามาก่อสร้างในบริเวณพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ดังจะเห็นเช่น วิหารโพธิ์ลังกา หรือ พระโพธิมณเฑียร ที่นำรูปแบบการบูชาพระศรีมหาโพธิ์ ที่วัดกัลยาณีราชมหาวิหาร ประเทศศรีลังกามาเป็นต้นแบบ หรือ วิหารพระภิเนกษกรมณ์ ล้วนแต่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทางลังกาทั้งสิ้น

แล้วพระเจดีย์ที่กล่าวมาในบทความนี้หายไปได้อย่างไร? และ หายไปตอนไหน?

คำตอบอาจอยู่ในการบูรณะต่อเติมพระวิหารหลวงในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ – ๒๓๘๒ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ ) และรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๓ ) ได้มีการบูรณะและสร้างพระวิหารหลวงอย่างยิ่งใหญ่ โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวร ฯ ผู้ครองตำแหน่งวังหน้า ( พระมหาอุปราช ) เมื่อครั้งยังทรงเป็น “ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ” กำกับการกรมพระกลาโหม พระองค์ได้มีบทบาทต่อการเมืองการปกครองในเมืองนครศรีธรรมราชหลายอย่าง เช่น การผลักดันชายน้อย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ให้เป็นเจ้าพระยานคร ฯ อย่างเต็มตัว รวมถึงการปรับปรุงระบบการปกครองในท้องที่เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นแผ่นดินมาตุภูมิของพระองค์ และคงจะไม่เหนือความคาดหมายนัก ถ้าหาก “ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ” จะทรงส่งช่างฝีมือมาก่อสร้างพระวิหารหลวงเสียใหม่ โดยได้ “ รื้อ หรือ ดัดแปลง ” พระเจดีย์ในพระวิหารหลวงเป็นพระประธาน ( พระศายกมุณีศรีธรรมราช ) เพื่อใช้สำหรับเป็นพระอุโบสถ และพระวิหารหลวงประจำเมือง ซึ่งในข้อสันนิษฐานจุดนี้ ได้มีข้อบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อคราวเสด็จเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ว่า เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ) ได้กราบทูลเรื่องราวการก่อสร้างพระวิหารหลวงว่า “ ทำเมื่อครั้งเจ้าคุณปู่ กรมศักดิ์เป็นแม่การ ” เจ้าคุณปู่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ( น้อย ) และกรมศักดิ์ที่กล่าวมา คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้ทรงกรมราชการพระกลาโหมในยุครัชกาลที่ ๒ ซึ่งต่อมาเป็นพระมหาอุปราชในยุครัชกาลที่ ๓ นั่นเอง

ส่วนสาเหตุของการแปลงพระเจดีย์ประธานในพระวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้น ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุใด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษากันต่อไป ว่าสาเหตุของการแปลงพระเจดีย์ประธาน มาเป็นพระพุทธรูปนั้นเกิดจากอะไร ไม่ว่าเหตุจูงใจในการแปลงพระเจดีย์เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่จะเกิดจากอะไรก็แล้วแต่ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ได้ทำลายหลักฐานในการมีอยู่ของพระเจดีย์ในรูปแบบ “ ถูปาฆาระ ” ของเมืองนครศรีธรรมราชไปอย่างน่าเสียดาย หลงเหลือเพียงข้อความบันทึกไว้ในส่วนหนึ่งของตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่มากพอที่จะทำให้เห็นลักษณะโดยรูปธรรมของถูปาฆาระของเมืองนครได้

การเปลี่ยนแปลงทางคติ หรือ แนวคิด ทางความเชื่อในศาสนา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ และการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็ได้ผลักดันให้เกิดสิ่งที่เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าในยุคสมัย หรือ ทำให้เกิดความโกลาหลจนทำให้ความเจริญหยุด ชะงัก หรือ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกกลับตลอดกาล ซึ่งพระถูปาฆาระแห่งเมืองนคร ฯ เอง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงข้อนี้ไปได้ จึงถูกแปลงจากพระสถูปประธานตามคติลังกา มาเป็นพระพุทธปฎิมาที่สูงใหญ่ตามความนิยมในคติรัตนโกสินทร์แทน และการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในครั้งนี้ ก็ได้ส่งผลให้พระถูปาฆาระเจดีย์ในคาบสมุทรภาคใต้หายสาบสูญไปตลอดกาล

ขอขอบพระคุณ
– ภาพประกอบจากหนังสือ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรมศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้ อ.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– ภาพประกอบนั้นเป็นการสร้างเจดีย์ที่มีพระปฎิมารอบ ๆ ของ Dambulla Cave Temple ประเทศศรีลังกา
– ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ
– ข้อมูลด้านพุทธศักราช ในการเปลี่ยนแปลงพระวิหารหลวง จากวีดิทัศน์ “ พระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช มุ่งหน้าสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ” ของ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ

บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ในครั้งนี้ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเข้ามาเพื่อความสมบูรณ์มากขึ้น