ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

คำว่า “สวัสดี” ถูกใช้อย่างไม่เป็นทางการแพร่ไปในหมู่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๗๘ โดยใช้ในการทักทายครูก่อนแล้วจึงส่งต่อไปสู่นิสิต ดังปรากฏความมุ่งหวังของการใช้ในจดหมายลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว่า

“คำว่า ‘สวัสดี’ ที่ครูได้มอบไว้แต่ต้น โปรดจงโปรยคำอมฤตนี้ทุกครั้งเถิด จะใช้ ‘สวัสดี’ ห้วนๆ หรือ ‘สวัสดีขอรับ’ หรือ ‘สวัสดีขอรับคุณครู’ หรือจะเหยาะให้หวานว่า ‘สวัสดีขอรับคุณอาจารย์’ ครูเป็นปลื้มใจทั้งนั้น ถ้าสงเคราะห์ให้ได้รับความปิติยินดีแล้วเมื่อพบครูครั้งแรกไม่ว่าที่ไหนโปรดกล่าวคำนี้ ครูจะปลาบปลื้มเหลือเกิน ยิ่งเป็นที่อื่น เช่น ในกลางถนน บนรถราง ครูปลาบปลื้มเป็นทวีคูณ เพราะจะได้เป็นตัวอย่างแก่สาธารณชนชาวไทยทั่วไป เป็นความจริงนิสิตชายหญิงที่พบครูในที่ต่างๆ และกล่าวคำ ‘สวัสดี’ ทำให้ครูปลาบปลื้มจนต้องไปตรวจดูบัญชีชื่อว่าเป็นใครเสมอ

มีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง เธอพบครูและกล่าวว่า ‘สวัสดีค่ะ’ แต่ครูไม่ได้ยิน เธอกล่าวอีกครั้งหนึ่งครูก็ไม่ได้ยิน แต่มีคนอื่นเขาเตือน ครูต้องวิ่งไปขอโทษ กว่าจะทันก็หอบครูจึงขอโทษไว้ก่อน คำอมฤตอันปลาบปลื้มที่สุดของครูนี้ ถ้าครูได้ยินก็จะตอบด้วยความยินดีเสมอ ที่ครูนิ่งไม่ตอบรับเป็นด้วยไม่ได้ยิน เพราะหูตาของครูเข้าเกณฑ์ชราภาพแล้วโปรดให้อภัยครู”

จากนั้นมาอีก ๘ ปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ เป็นต้นมา นับระยะเวลาจนบัดนี้ได้ ๗๘ ปีบริบูรณ์

ในนครศรีธรรมราช พบคำนี้ในศิลาจารึกรูปใบเสมา อักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ในประชุมศิลาจารึกกำหนดเป็นจารึกหลักที่ ๒๓ วัดเสมาเมือง มี ๒ ด้าน ๓๓ บรรทัด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กำหนดให้ด้านที่ ๑ เป็นด้านที่มี ๒๙ บรรทัด ด้านที่ ๒ คือด้าน ๔ บรรทัด คำว่า “สวัสดี” ปรากกฏในรูปภาษาสันสกฤต ในด้านที่ ๒ ต้นบรรทัดที่ ๑ อ่านและแปลโดย ยอร์ช เซเดส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ได้ความว่า

“สฺวสฺติ โย เสา ราชาธิราชสฺสกลริปุคณธฺวานฺต สูรฺยฺโยป”
พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระราชาทั้งปวง ทรงเดชานุภาพคล้ายกับพระอาทิตย์

จะเห็นว่า ในช่วงที่มีการอ่านและแปลจารึก เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งรับราชการเป็นพนักงานในกรมราชบัณฑิต ผู้ต้องผ่านหูผ่านตางานเขียนงานค้นคว้าอยู่แล้วเป็นอย่างดี ได้แนะนำให้กรรมการชำระปทานุกรมและเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียง รวมถึงนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยใช้คำว่า “สวัสดี” นี้เป็นการทักทาย เพียงแต่การแปลในยุคนั้น ยังไม่ได้แยกศัพท์ออกแปลเฉพาะ “สฺวสฺติ”

พระยาอุปกิตศิลปสาร จึงได้แปลเฉพาะคำนี้ ไว้ในหนังสือสาราณียกร สามัคยาจารยสมาคม ว่า ““สวัสดี” นี้เป็นภาษาสันสกฤต ออกจาก “สุ + อสฺติ” “สุ” ว่า ดี, งาม, ง่าย และ อัสฺติ ว่า มี, รวมความว่า “มีความดี, ความงาม ,ความง่าย (สะดวก)” ตรงกับภาษาบาลีว่า “โสตถิ” หรือ “สุวตฺถิ” ซึ่งหมายความอย่างเดียวกัน สามศัพทย์นี้คือ “โสตถิ” “สุวัตถิ” และ “สวัสดี” ที่เรานิยมใช้มาก แปลเป็นไทยว่า “ความสะดวก” ซึ่งพิจารณาดูตามรูปศัพท์ก็ได้ความเท่ากัน แต่ถ้าจะพูดถึงรสของคำแล้ว คำ “สวัสดี” มีรสซาบซึ้งมากว่า “ความสะดวก” มากนัก”

ซึ่งในข้อเขียนเดียวกันนี้ ได้ยกคำจารึกวัดเสมาเมืองข้างต้นขึ้นประกอบ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ในย่อหน้ารองสุดท้ายว่า “เมื่อได้หลักฐานตามโบราณคติอย่างนี้ จึงใคร่แนะนำว่า ถ้าครูบาอาจารย์พวกเราอบรมศิษย์ให้ใช้คำ “สวัสดี” เป็นหลักปฏิสันถารของชาวไทยเราทั่วไปให้เป็นประเพณีจะดีมากทีเดียว” ฯ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเร็ว ๆ นี้