ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

เหตุใด ? พระธาตุถึงต้องมีกาเฝ้าทั้งสี่ทิศ

พระครูสี่กา พระครูผู้พิทักษ์พระบรมธาตุ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

พระบรมธาตุ คือหนึ่งในเจติยะที่เคารพสูงสุดของชาวพุทธ นับตั้งแต่โบราณกาลมา สิ่งสักการะสำคัญทางพุทธศาสนา มักจะถูกปกป้องโดยคณะสงฆ์และพระมหากษัตริย์ หรือ ผู้ปกครองสูงสุดในดินแดนแห่งนั้นเสมอ เพื่อดำรงพระธรรมคำสอนให้สืบต่อไปในเบื้องหน้า ซึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ได้มีระบบสงฆ์ที่รักษาพระบรมธาตุ ที่เป็นระบบของชนพื้นเมืองจริง ๆ เรียกกันว่า “ ระบบพระครูกา ”

ระบบพระครูกา คือการแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณรอบด้าน เพื่อรักษาพระบรมธาตุ และปกครองพระสงฆ์ในแต่ละทิศ คำว่าพระครูกานั้น มีที่มาโดยหลักสองกระแส คือ

๑. กระแสแรก พระครูกา มาจากคำว่า “ ลังกา ”

มีการสันนิษฐานว่า พระครูกา มาจากคำว่า “ พระครูลังกา ” เป็นคณะพระ ภิกษุมาจากเมืองลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน เหตุเพราะในอดีต ดิน แดนศรีลังกา เคยเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรือง มีสำนักเรียนสงฆ์ที่มีชื่อเสียง คือ สำนักมหาวิหาร และ สำนักอภัยคีรี ซึ่งสำนักทั้งสองได้ประชันอิทธิพลกันบ่อยครั้ง จนกระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สำนักมหาวิหารได้อาศัยพระธรรมวินัยในการแพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียอาคเณย์ และได้ประสบผลสำเร็จในการเผยแผ่ เหล่าผู้ปกครองอาณาจักรต่างๆ ล้วนแต่ยอมรับแนวทาง และหลักการของสำนักมหาวิหาร จนทำให้เกิดพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในภาคใต้ และพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์นี่เอง ที่ได้ส่งผลต่อระบบสงฆ์ในภาคใต้มาหลายร้อยปี โดยเหล่าพระครูลังกานั้น ประกอบด้วย

• พระครูลังกาแก้ว ดูแลทางทิศตะวันออกขององค์พระบรมธาตุ

• พระครูลังการาม ดูแลทางทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุ

• พระครูลังกาชาด ดูแลทางทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุ

• พระครูลังกาเดิม ดูแลทางทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุ

สำหรับที่มาของพระครูลังกาทั้งสี่คณะ ก็ได้มีการตั้งสมมติฐาน ว่าอาจมาจากคณะ หรือ นิกายสงฆ์จากศรีลังกา โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระครูลังกาแก้ว มาจากคณะที่อุปสมบทโดยพระวนรัตน์ที่ลังกา คณะนี้จะเป็นฝ่ายอรัญวาสี จึงเรียกกันว่า คณะลังกาป่าแก้ว พระครูลังการาม มาจากพระสงฆ์ที่เป็นต้นเค้าของรามัญนิกาย คณะลังกาชาด มาจากพระสงฆ์ที่เป็นชาวสิงหลแท้ และ พระครูกาเดิม มาจากพระสงฆ์ที่เป็นชาวอินเดียตอนใต้ที่มีผิวคล้ำ ซึ่งทั้งกลุ่มพระสงฆ์ทั้งสี่ จะมีพระครูกาแก้วเป็นหัวหน้าคณะ

๒. กระแสที่สอง พระครูกา มาจากฝูงการักษาพระธาตุ

ตามตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้เล่าถึงพระทันตกุมารและพระนางเหมชาลา หลังจากที่ได้นำพระทันตธาตุฝังที่หาดทรายแก้วแล้ว ได้ผูกพยนต์กาไว้สี่ฝูง เฝ้ารักษาไว้สี่ทิศ ทิศตะวันออก เป็นกลุ่มกาสีขาว เรียกว่า ฝูงกาแก้ว ทิศใต้ เป็นกลุ่มกาสีเหลือง เรียกว่า ฝูงการาม ทิศตะวันตก เป็นกลุ่มกาสีแดง เรียกว่า ฝูงกาชาด และ ทิศเหนือ กลุ่มกาสีดำ เรียกว่า ฝูงกาเดิม กาทั้งสี่ฝูงมีหน้าที่ขับไล่ผู้ที่จะมาทำลายพระทันตธาตุ ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกทรงนำไพร่พลมากู้พระทันตธาตุ ทรงเผชิญกับฝูงกาอาคม ทำให้การกอบกู้พระทันตธาตุเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องไปตามเจ้ากากภาษาผู้เชี่ยวชาญด้านพยนต์ทำลูกศรอาคมมาทำลาย จึงจะสามารถกู้พระทันตธาตุขึ้นมาได้ จากเหตุการณ์ในตำนานดังที่กล่าวมานี้ ได้ทำให้มีการนำเอาฝูงกาทั้งสี่ ไปขนานนามกลุ่มพระสงฆ์ที่บริรักษ์พระบรมธาตุทั้ง ๔ ทิศ ความสำคัญของพระครูสี่กาต่อองค์พระบรมธาตุ นอกจากในฐานะพระสงฆ์ผู้พิทักษ์พระบรมธาตุแล้ว คณะพระครูสี่กายังมีฐานะเป็นพระสังฆปาโมกข์ผู้ปก ครองคณะสงฆ์ภายในหัวเมืองนั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะในเมืองนครศรีธรรมราชหรือ เมืองพัทลุง ก็มีปรากฏถึงความสำคัญของพระครูสี่กา ซึ่งพระครูกาแก้วของเมืองนครศรีธรรมราช และพระครูกาแก้วของเมืองพัทลุง มีอำนาจปกครองวัดนับร้อย ส่วนพระครูการาม พระครูกาชาด และ พระครูกาเดิม ก็มีวัดในการปกครองลดหลั่นกันไป

ด้วยความสำคัญของพระครูลังกาทั้งสี่คณะ จึงทำให้พระครูกาทั้งสี่ถูกนิมนต์ไปประกอบพิธีกรรมสำคัญของบ้านเมืองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพิธีไล่แม่มดของเมืองนครศรีธรรมราช พิธีดื่มน้ำพระพิพัฒนสัตยา พิธีมงคลเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุในหัวเมืองทางตอนใต้ ต้องมีการนิมนต์พระครูลังกาทั้งสี่คณะเป็นองค์ประธานหลักในพิธีกรรมด้วยเสมอ คติสงฆ์เรื่องพระครูสี่กา ได้แพร่หลายไปทั่วภาคใต้ ตั้งแต่หัวเมืองไชยา มีพระครูกาแก้วเป็นเจ้าคณะใหญ่ประจำเมือง เมืองนครศรีธรรมราช มีพระครูกาแก้ว เป็นประมุขของเหล่าพระครูทั้งสี่กา และในเมืองพัทลุงเอง ก็มีตำแหน่งของพระครูลังกาสี่คณะ เป็นรองเจ้าคณะของเมือง ซึ่งทั้งเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช และ เมืองพัทลุงนั้น แม้จะมีคติในเรื่องของพระครูลังกาสี่คณะตรงกัน แต่เมืองไชยากลับปรากฎเพียงแค่พระครูกาแก้ว แตกต่างจากนครศรีธรรมราช และ พัทลุง ที่มีพระครูลังกาครบทั้งสี่เหล่า

แม้ว่าตำแหน่งของพระครูลังกาทั้งสี่คณะ จะไม่ได้มีอำนาจเต็มเหมือนเช่นในอดีต แต่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดพัทลุง ยังคงสมณศักดิ์ของพระครูลังกาสี่คณะไว้ เพื่อดำเนินกิจการสงฆ์ของบ้านเมือง อีกทั้งการประกอบพิธีสำคัญระดับจังหวัดทั้งสอง ก็ยังคงมีการนิมนต์พระครูลังกาทั้งสี่คณะมาประกอบพิธีต่าง ๆ เพื่อความสุขสวัสดิเป็นมงคลของผู้คนในจังหวัดนั้นอยู่เสมอ